อลิอันซ์ขันนอตเซลส์ปั๊มยอด

28 ก.ค. 2560 | 06:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

อลิอันซ์ อยุธยา กระทุ้งช่องทางตัวแทนให้แอกทีฟ 25% จาก 1.2 หมื่นคน หลังมียอดทำงานแค่ 2.5 พันคน ตั้งเป้าสิ้นปีเพิ่มเป็น 2.8-2.9 พันคน เดินหน้าสร้างคนใหม่เติมอีก 6.5 พันคน เร่งปั๊มเบี้ยปีแรก 2.4 พันล้านบาท จากเป้าเบี้ยทุกช่องทาง 6.5 พันล้านบาท มั่นใจช่วยให้ยอดเบี้ยรับโต 3.25 หมื่นล้านบาท

นายวิรงค์ พัฒนกำจร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารตัวแทน บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลยุทธ์สำคัญของช่องทางตัวแทนขายในปีนี้ บริษัทตั้งเป้าจะเพิ่มยอดแอกทีฟของตัวแทนขายให้ได้อย่างน้อยเฉลี่ยปีละ 25% ของตัวแทนขายที่มีทั้งหมดในปัจจุบันอยู่ที่ 1.2 หมื่นคน โดยปัจจุบันมีตัวแทนขายที่มียอดแอกทีฟประมาณ 2,500 คนต่อเดือน ซึ่งปีนี้ต้องการเพิ่มยอดแอกทีฟเป็น 2,800-2,900 คนต่อเดือน

[caption id="attachment_184699" align="aligncenter" width="503"] วิรงค์ พัฒนกำจร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารตัวแทน บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด วิรงค์ พัฒนกำจร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารตัวแทน บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด[/caption]

การเพิ่มสัดส่วนตัวแทนแอกทีฟให้ได้ตามเป้าหมายจะมาจาก 2 ส่วน คือ การสร้างคนใหม่ และการอบรมคนที่มีอยู่ให้มีผลงานมากขึ้น โดยปีนี้บริษัทตั้งเป้าจะสร้างตัวแทนใหม่ที่มียอดแอกทีฟให้ได้ประมาณ 500-700 คน และตั้งเป้าสร้างตัวแทนใหม่อีกจำนวน 6,500 คน ส่งผลให้ตัวแทนขายภายในสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็นประมาณ 1.5 หมื่นคน

ทั้งนี้ช่องทางตัวแทนขาย ถือเป็นช่องทางสำคัญที่จะทำให้บริษัทสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายทั้งปีที่วางไว้ ทั้งในแง่เบี้ยรับรวมอยู่ที่ 3.25 หมื่นล้านบาท และเบี้ยปีแรกอยู่ที่ 6,500 ล้านบาท โดยจะมีเบี้ยรับปีแรกที่มาจากช่องทางตัวแทนขายประมาณ 2,400 ล้านบาท และเบี้ยรับรวมปิดอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งในช่วงครึ่งแรกของปีถือว่าทำได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ คาดว่าทั้งปีน่าจะทำได้ตามเป้าหมาย ทั้งในส่วนของช่องทางตัวแทนขายและเบี้ยรับรวม-เบี้ยปีแรก

สำหรับสัดส่วนช่องทางการขายปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 3 ช่องทางหลัก คือช่องทางตัวแทนขายประมาณ 30% ช่องทางผ่านสาขาธนาคาร (แบงก์แอสชัวรันซ์) ซึ่งยังคงเป็นพันธมิตรกับธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นหลักอีกราว 30% และที่เหลืออีก 30% จะเป็นช่องทางไดเร็กต์เซลหรือโทรศัพท์

“ภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตตอนนี้ทุกที่จะหันมาให้ความสำคัญกับช่องทางตัวแทนขายมากขึ้น ซึ่งการสร้างตัวแทนที่เยอะขึ้นบริษัทจะต้องสร้างเครื่องมือมาช่วยให้ทำงานสะดวกขึ้นด้วย รวมถึงทำให้คนเก่าสามารถมีผลงานให้ได้ด้วย”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,282 วันที่ 27 - 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2560