ปตท.สูญ 3 พันล. ‘ไพรินทร์’ ขายที่ปาล์มอินโดต่ำ

16 ก.ค. 2560 | 06:09 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ค. 2560 | 13:09 น.
ปตท.สูญ 3 พันล. ‘ไพรินทร์’ขายที่ปาล์มอินโดต่ำ

-15-7-60- หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3279 ระหว่างวันที่16-19 ก.ค.2560  สื่อในเครือสปริง กรุ๊ปรายงานว่า แฉปมร้อนซื้อขายที่ดินปาล์มนํ้ามันอินโดฯ ทำ ปตท.เสียหาย 3 พันล้าน “ไพรินทร์” ฉาวเอื้อพรรคพวก “เบอร์ฮัน นุดดิน” ผู้บริหารพีที กัลปาตารู อินเวสตามา ในราคาตํ่ากว่าท้องตลาด ทั้งๆ ที่มีคู่แข่งเสนอราคาให้สูงกว่า

ปตท.สูญ 3 พันล. ‘ไพรินทร์’ ขายที่ปาล์มอินโดต่ำ


ยังไม่มีความคืบหน้าจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีสอบสวนข้อเท็จจริงการซื้อขายที่ดินเพื่อปลูกปาล์มนํ้ามันที่อินโดนีเซียของบริษัท ปตท.กรีน เอ็นเนอร์ยี่ฯ (PTTGE) ที่เข้าไปดำเนิน 5 โครงการ ตั้งแต่ปี2550 ว่ามีผู้ใดกระทำความผิด และสร้างความเสียหายให้กับปตท.จากการขายที่ดินในราคาตํ่ากว่าท้องตลาด

คดีดังกล่าวเกิดขึ้นในสมัยนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) การเข้าไปทำธุรกิจเกิดความล้มเหลว จนนำไปสู่การประกาศขายที่ดินที่ได้ลงทุนไป โดยเฉพาะการขายที่ดินในโครงการ พีที เคพีไอ ที่มีหลักฐานชัดว่า ส่อไปทางทุจริต พัวพันมาจนมีการฟ้องร้องในชั้นศาลมากกว่า 2 คดี

“ฐานเศรษฐกิจ” พบข้อมูลการขายโครงการดังกล่าว ไม่ปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการบริหาร ปตท.ที่กำหนดไว้เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2556 ไม่ให้ขายในราคาที่ขาดทุน ตามขั้นตอนและกระบวนปฏิบัติกลับพบว่า ดำเนินการไม่ถูกต้อง เนื่องจากไม่มีการประเมินราคามูลค่าของโครงการว่า มีมูลค่าที่แท้จริงเป็นจำนวนเงินเท่าไร และไม่มีการเปรียบเทียบกับราคาท้องตลาดที่ทำการซื้อขายในขณะนั้นเป็นจำนวนเงินเท่าไร กลับใช้วิธีให้ผู้สนใจเสนอราคาที่ประสงค์จะเข้าซื้อเข้ามาให้บริษัท PTTGE พิจารณา และปกปิดชื่อของผู้เสนอราคา เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบให้ทราบถึงตัวตนที่แท้จริงของผู้เสนอซื้อ มีเพียงนาย
ไพรินทร์ กับพวกเท่านั้นที่ทราบถึงตัวตนที่แท้จริงของผู้เสนอซื้อ

นางรสยา เธียรวรรณ ในฐานะฝ่ายจัดการ PTTGE ได้ไปเจรจากับนายเบอร์ฮัน นุดดิน กรรมการบริษัท พีที กัลปาตารู อินเวสตามาฯ (PT KalpataruInvestama) หรือ PT.KPI ซึ่งเป็นเจ้าของเดิมให้ซื้อหุ้นกลับคืน โดยไม่ผ่านกระบวนการประมูล ทั้งที่ กรรมการของบริษัทพีที สารานา ทรานส์นาเกอร์ จำกัด (PT.SaranaTransnaker) ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ ชั้นนำ และมีชื่อเสียงมากในธุรกิจปาล์มนํ้ามันของอินโดนีเซีย มีอดีตประธานหอการค้าแห่งอินโดนีเซีย เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่

ปตท.สูญ 3 พันล. ‘ไพรินทร์’ ขายที่ปาล์มอินโดต่ำ


ได้มีหนังสือถึงนายสมเกียรติ  เมสันธสุวรรณ และนางรสยา เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556 เพื่อขอซื้อโครงการพีที เคพีไอ ในราคา 1,800-2,500 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อเฮกตาร์ สำหรับที่ดินที่ยังไม่มีการพัฒนา (Green field) หากคิดราคาทั้งโครงการจะอยู่ระหว่าง 140,184,000 -194,700,000 ดอลลาร์สหรัฐฯฯ เมื่อคิดเฉพาะสัดส่วน 75% ที่ PTTGE ถือหุ้น แล้วจะเป็นเงิน 105,138,000 - 146,025,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ประกอบกับหากที่ดินได้มีการพัฒนาและเริ่มปลูกปาล์มแล้วจะมีราคาเพิ่มสูงมากกว่า 1,800- 2,500 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อเฮกตาร์ อีกเป็นจำนวนหลายเท่า เนื่องจากที่ดินในโครงการ พีที เคพีไอได้มีการพัฒนาและเพาะปลูกต้นปาล์มแล้วเป็นจำนวน 17,500 เฮกตาร์จากพื้นที่ทั้งหมด 78,877 เฮกตาร์ ดังนั้นมูลค่าหุ้นโครงการพีที เคพีไอ  ที่ PTTGE ถือครอง 75%  จึงมีราคาไม่น้อยกว่า 150 -180 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

แต่ปรากฏว่านายไพรินทร์ กับพวก ได้ร่วมกันปกปิดข้อเท็จจริงและเพิกเฉยไม่นำเข้ารายงานให้แก่คณะกรรมการ ปตท. และ PTTGE ทราบ และไม่เคยติดต่อกลับผู้เสนอซื้อดังกล่าวเลย ผู้เสนอรายดังกล่าวยังได้มีหนังสือติดตามสอบถามผลการพิจารณาคำขอเสนอซื้ออีกหลายครั้ง

“การกระทำของนายไพรินทร์ กับพวกได้แสดงให้เห็นประจักษ์ว่ามีเจตนาขายโครงการพีที เคพีไอ ให้แก่บริษัท PT.KPI หรือนายเบอร์ฮัน นุดดิน ผู้บริหารซึ่งเป็นพรรคพวกของตนและขายในราคาที่ตํ่ากว่าราคาท้องตลาดอย่างมาก ทำให้ปตท.และ PTTGE เสียหายจากการกระทำความผิดเป็นจำนวนเงิน 63,304,790-93,340,790 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทย 2,200-3,300 ล้านบาท”

ย้อนรอยความเสียหาย 

หากไล่เลียงขั้นตอนการขายที่ดินในโครงการดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 29-30 เมษายน 2557 บริษัท PT.KPI ได้เสนอขอซื้อหุ้นในโครงการ พีที เคพีไอ ของ PTTGE ทั้งหมดในราคา 152  ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และต่อมา ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 บอร์ด ปตท.มีมติให้โครงการ พีที เคพีไอ ขายไม่ตํ่ากว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในวันที่ 22 กันยายน 2557 PT.KPI ได้ยื่นข้อเสนอขอซื้อหุ้นในโครงการ ชำระเป็นเงินสดเพียงงวดเดียว โดยขอส่วนลด25%  ของราคา 152 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คงเหลือ 114 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และพร้อมทำสัญญาและชำระค่าหุ้นภายในเดือนตุลาคม 2557

หลังจากนั้นวันที่ 2 ตุลาคม 2557 PTTGE และ PT.KPI ได้เจรจาร่วมกันและตกลงราคาซื้อขายหุ้น  174 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบ่งเป็นมูลค่าหุ้น 152 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  และค่าพัฒนาอีกเป็น  22 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  และบอร์ด PTTGE  ได้มีมติอนุมัติให้ขายหุ้นโครงการให้แก่ PT.KPI ผ่านบริษัท จอยท์โฮป อินเวส เมนท์ จำกัด (Joint Hope Invesment Limited) ในราคา 174 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่าตามราคาท้องตลาดที่ควรจะเป็น ณ เวลานั้น

อย่างไรก็ตาม PT.KPI ของนายเบอร์ฮันนุดดินไม่สามารถกู้ยืมเงินจากธนาคารได้ และได้ยื่นขอเสนอซื้อมาใหม่ที่ราคา 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้การขายโครงการยังไม่ได้ข้อยุติ แต่ต่อมาได้มีการเปิดให้ประมูลโครงการ พีที เคพีไอ มีผู้เข้าประมูลเพียง 2 ราย ปรากฏว่า PT.KPI กลับไม่ได้ยื่นขอเสนอซื้อแต่อย่างใด บริษัท บอร์เนียว แปซิฟิคฯ (Borneo Pacific) เป็นผู้เสนอขอซื้อในราคาสูงที่สุดเป็นจำนวนเงิน 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 บอร์ด PTTGE จึงได้ลงมติอนุมัติให้ปรับลดราคาขายหุ้นในโครงการลงอีก โดยการอนุมัติให้ขายโครงการในราคาไม่ตํ่ากว่า 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นราคาที่ตํ่ากว่าราคาซื้อขายตามท้องตลาด ตํ่ากว่าราคาประเมินอย่างมาก และตํ่ากว่าราคาที่ บริษัท บอร์เนียว แปซิฟิคฯ เสนอซื้อ อีกทั้งยังตํ่ากว่าราคาที่ PT.KPI ได้เคยเสนอขอซื้อครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน 2557 ในราคา 152 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  และขอซื้อครั้งที่ 2 เมื่อเดือนตุลาคม 2557 ในราคา 174 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จนในที่สุดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2558 นางรสยา ฐานะฝ่ายจัดการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ PTTGE ได้เสนอให้ PT.KPI ซื้อโครงการคืนด้วยราคาและเงื่อนไขที่ไม่ด้อยไปกว่าข้อเสนอของบริษัท บอร์เนียว แปซิฟิคฯที่ 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในวันที่ 25 กรกฎาคม 2558 นายเบอร์ฮันนุดดินได้ตอบรับข้อเสนอดังกล่าว และในเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2558 PTTGE โดยนางรสยาภายใต้การสั่งการ ของนายไพรินทร์ ได้ร่วมกันอนุมัติให้ขายหุ้นในโครงการทั้งหมดให้แก่ PT.KPI ไปในราคาเพียง 87 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น