“ฉัตรชัย” หารือผอ.ใหญ่เอฟเอโอ แจงความก้าวหน้าการแก้ปัญหาไอยูยูของไทย

05 ก.ค. 2560 | 08:29 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับนายโฮเซ กราเซียอาโน ดาซิลวา ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ เอฟ เอ โอ ว่า สาระสำคัญในการหารือในครั้งนี้ คือ ชี้แจงความก้าวหน้าการแก้ปัญหา IUU ของประเทศไทยที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา IUU และถือเป็นวาระแห่งชาติ โดยได้เข้าเป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศ 2 ความตกลง ในช่วงปี 2559-2560 คือ ภาคีความตกลงมาตรการรัฐเจ้าของท่า (Port State Measures Agreement : PSMA) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 โดยได้บรรจุสาระสำคัญของ PSMA ไว้เป็นส่วนหนึ่งของแผนบริหารจัดการประมงทะเลของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2562 และภาคีความตกลงสหประชาชาติว่าด้วยการอนุรักษ์และจัดการประชากรสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ระหว่างเขตทางทะเลและประชากรสัตว์น้ำที่ย้ายถิ่นอยู่เสมอ ( UNFSA) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังให้สนับสนุนการจัดตั้งวันสากลแห่งการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมด้วย โดยได้ถือโอกาสขอบคุณทางเอฟ เอ โอโอ ที่สนับสนุนความช่วยเหลือประเทศไทย เกี่ยวกับการดำเนินโครงการเพื่อต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม มาอย่างต่อเนื่องหลายโครงการด้วย

“เอฟ เอ โอ ได้รับทราบถึงความแน่วแน่ของประเทศไทยที่ได้ดำเนินการในเรื่องต่างๆ ในด้านการทำประมง ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการตามแนวปฏิบัติโดยสมัครใจว่าด้วยมาตรการของรัฐเจ้าของธง เช่น ปรับปรุงการจดทะเบียนเรือและใบอนุญาต การควบคุมเรือประมงไทยไม่ให้ทำผิดกฎหมาย ทั้งในน่านน้ำไทยและน่าน้ำสากล และอยู่ระหว่างการจัดทำข้อตกลง (MOU) กับรัฐเจ้าของธงอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและป้องกันการทำประมงที่ผิดกฎหมาย รวมถึงดำเนินการตามแนวปฏิบัติโดยสมัครใจเพื่อสนับสนุนการทำประมงขนาดเล็กอย่างยั่งยืนเพื่อความมั่นคงอาหารและการขจัดความยากจน” พลเอกฉัตรชัย กล่าว

นอกจากนี้ ยังได้แจ้งถึงความคืบหน้าของการเข้าร่วมโครงการขจัดปัญหาความอดอยากหิวโหยของประเทศไทย ซึ่ง ครม.ได้มีมติเห็นชอบให้เข้าร่วมโครงการแล้วตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย. 2559 โดยเป้าหมายโครงการฯ ของเอฟ เอ โอ ได้กำหนดให้ภายในปี 2568 (ค.ศ. 2025) ทั่วโลกบรรลุเป้าหมาย 5 ประการ คือ 1) การเข้าถึงอาหารได้ 100% 2) การหยุดภาวะแคระแกร็นในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี 3) ระบบอาหารทั้งหมดมีความยั่งยืน 4) การเพิ่มขึ้นของรายได้และผลิตผลของเกษตรกรรายย่อย 100% และ 5) การลดจำนวนการสูญเสียอาหารและการทิ้งขว้างอาหารให้เหลือศูนย์ อย่างไรก็ตาม ในการเข้าร่วมประชุมเอฟ เอ โอ ครั้งนี้ ยังมีโอกาสได้หารือระดับทวิภาคร่วมกับประเทศกลุ่มอาเซียน เช่น ประเทศลาว และฟิลิปปินส์ เพื่อชวนรัฐมนตรีจากกลุ่มประเทศอาเซียน เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 39 ระหว่างวันที่ 28-29 กันยายน 2560 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งประเทศไทยโดยกระทรวงเกษตรฯ เป็นเจ้าภาพแล้ว ยังได้หารือถึงความร่วมกันสนับสนุนการจัดตั้งทีมปฏิบัติการเฉพาะกิจที่คณะทำงานประมงอาเซียน เพื่อจะได้มีกลไกในการพัฒนานโยบายประมงร่วมอาเซียน ที่ชัดเจนและโปร่งใส ภายใต้การกำกับการดำเนินงานของคณะทำงานประมงอาเซียน ซึ่งจะมีการหารือในรายละเอียดร่วมกันในการประชุมรัฐมนตรีเกษตรอาเซียนด้วย และประเด็นสุดท้าย คือ การขยายความร่วมมือด้านวิชาการการเกษตร การแก้ไขปัญหาและลดอุปสรรคด้านการนำเข้า – ส่งออกสินค้าเกษตรระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการค้าและการลงทุนสินค้าเกษตรระหว่างกันมากยิ่งขึ้นด้วย