ประชาชนกว่าร้อยละ 85 เชียร์ให้ผอ.รร.แสดงบัญทรัพย์สินป้องกัน“ปัญหาแป๊ะเจี๊ยะ”

02 ก.ค. 2560 | 01:30 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ปัญหาแป๊ะเจี๊ยะ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 29 – 30 มิถุนายน 2560 จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,258 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับสถานศึกษาบางแห่งเรียกเก็บเงินจากผู้ปกครองหรือผู้ปกครองยินยอมบริจาคเงินให้กับสถานศึกษาในกรณีพิเศษ หรือที่เรียกว่า “แป๊ะเจี๊ยะ”  เพื่อให้บุตรหลานของตนได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง

จากการสำรวจเมื่อถามถึงการเคยบริจาคเงินของประชาชนหรือคนใกลัตัวให้กับโรงเรียนเพื่อแลกกับการเข้าเรียนของบุตรหลาน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 75.04 ระบุว่า ไม่เคย รองลงมา ร้อยละ 24.01 ระบุว่า เคย และร้อยละ 0.95 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการออกกฎหมายให้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินผู้อำนวยการโรงเรียนทั้งประเทศ ทั้งก่อนรับตำแหน่งและหลังลงจากตำแหน่ง เพื่อป้องกันการทุจริต รับสินบน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 89.51 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ บางครั้งที่บริจาคเงินให้กับโรงเรียน แต่กลับไม่มีใบเสร็จ บอกเพียงว่าเป็นเงินบำรุงสถานศึกษา หากตรวจสอบได้ ผู้ปกครองจะได้คลายความกังวล และเกิดความเชื่อมั่นว่าเงินจะถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง ต้องการให้มีความชัดเจน เป็นการสร้างความบริสุทธิ์ใจ ลดการทุจริต การเอื้อประโยชน์  แก่พวกพ้อง ขณะที่ ร้อยละ 6.04 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นความพอใจของผู้ปกครองที่ต้องการบริจาค ไม่ควรละเมิดสิทธิ หรือมาเจาะจงเฉพาะที่ผู้อำนวยการฯ เพียงฝ่ายเดียว หากจะตรวจสอบ ควรตรวจสอบทั้งหมด หรือถึงแม้ตวรจสอบได้ ก็อาจมีทางหลีกเลี่ยงได้อยู่ดี เช่น โอนเข้าบัญชีผู้อื่นแทน ควรแก้ไขที่ระบบการสอบคัดเลือกเข้าเรียนจะดีกว่า และร้อยละ 4.45 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการจ่ายแป๊ะเจี๊ยะ เพื่อให้ลูกหลานได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.53 ระบุว่า ไม่ชอบ เพราะ ถือเป็นการสนับสนุนให้โรงเรียนทุจริต รองลงมา ร้อยละ 21.94 ระบุว่า เฉย ๆ ถือเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย ร้อยละ 10.73 ระบุว่า ไม่เป็นไร ถือว่าซื้อสังคมให้ลูกหลาน ร้อยละ 0.40 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ มีทั้งส่วนดีและส่วนไม่ดี หากนำไปพัฒนาโรงเรียนจริง ๆ ก็จะเป็นการดี ในขณะที่บางส่วนระบุว่า เป็นการกระทำที่ไม่สมควร แต่ก็ต้องยอมแลกเพื่อให้บุตรหลานของตนได้อยู่ในสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี หากมีการเรียกเก็บเงิน ก็ควรทำให้เป็นการบริจาคอย่างเป็นกิจลักษณะ และร้อยละ 0.40 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชน ว่าโรงเรียนรัฐบาลที่มีชื่อเสียง มีการเปิดรับเงินบริจาคเพื่อให้ลูกหลานได้เข้าเรียน หรือแป๊ะเจี๊ยะ หรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.53 ระบุว่า มี เพราะ เป็นธรรมเนียมและค่านิยมที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมาช้านาน แม้กระทั่งโรงเรียนในระดับอำเภอบางแห่ง ประกอบกับในสังคมปัจจุบันที่มีความกดดันและการแข่งขันกันสูง แต่บางครั้งความสามารถของเด็กมีข้อจำกัด ผู้ปกครองจึงต้องยอมจ่ายเพื่อให้บุตรหลานตนเองได้เข้าเรียนในสถานที่ดี ๆ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ประสบพบเจอมาด้วยตนเอง รองลงมา ร้อยละ 18.52 ระบุว่า ไม่มี เพราะ เชื่อว่าเป็นหน่วยงานของรัฐ น่าจะมีการตรวจสอบอย่างรัดกุม และรัฐบาลน่าจะมีงบประมาณสนับสนุนอย่างเพียงพอ ขณะที่บางส่วนระบุว่า หากมีการบริจาคก็จะได้ใบเสร็จทุกครั้ง และที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นหรือเคยได้ยินเรื่องเช่นนี้กับกรณีโรงเรียนรัฐบาล และร้อยละ 14.95 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีการศึกษา เช่นเดียวกับการเก็บภาษีน้ำมัน ภาษีเหล้า บุหรี่ เป็นต้น โดยรัฐบาลควรมอบให้กระทรวงการคลังเสนอมาตรการจัดเก็บภาษี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.13 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ปัจจุบันโรงเรียนบางแห่งมีงบประมาณค่อนข้างจำกัดอยู่แล้ว หากมีการจัดเก็บภาษี อาจเป็นภาระให้กับสถานศึกษาและผู้ปกครอง ทั้งนี้เรื่องของการศึกษาไม่ใช่เรื่องของการค้าหรือธุรกิจ เป็นการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน หากจำเป็นต้องเก็บ ควรเพิ่มการจัดเก็บภาษี เฉพาะโรงเรียนเอกชน ทั้งนี้ โรงเรียนแต่ละแห่ง มีความแตกต่างกัน การบริจาคเงินเป็นการสนับสนุนทางการศึกษา ควรให้สถานศึกษาบริหารจัดการกันเอง ขณะเดียวกันทางรัฐบาลเองก็ควรจัดสรรงบประมาณให้กับแต่ละโรงเรียนให้มากขึ้น ขณะที่ ร้อยละ 27.11 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะน่าจะช่วยลดการเรีกเก็บค่าแป๊ะเจี๊ยะและการทุจริตได้ในระดับหนึ่ง หากโรงเรียนมีรายได้ ก็ควรจัดเก็บภาษี เพราะถือเป็นิติบุคคล เป็นการตรวจสอบรายได้ เพิ่มช่องทางการจัดเก็บภาษี และนำรายได้เข้าสู่รัฐได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามต้องไม่ส่งผลกระทบกับผู้ปกครองด้วย และร้อยละ 11.76 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับทางออกของปัญหาแป๊ะเจี๊ยะ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 34.18 ระบุว่า ควรแก้ไขที่ตัวบุคคลทั้งผู้บริหาร ผู้ใหญ่ ครู และผู้ปกครอง รวมทั้งขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของทุกคน รองลงมา ร้อยละ 33.31 ระบุว่า ควรใช้มาตรการ กฎ ระเบียบที่เด็ดขาด มีบทลงโทษกับสถานศึกษาที่เรียกรับแป๊ะเจี๊ยะ ร้อยละ 28.38 ระบุว่า ควรประกาศคะแนนสอบตามลำดับ ร้อยละ 16.22     ระบุว่า ควรประกาศจำนวนรับสมัครที่ชัดเจน ร้อยละ 8.74 ระบุว่า ควรยกเลิกการจับสลากเข้าเรียน ม.1

ร้อยละ 2.31 ระบุว่า ควรเก็บภาษีการศึกษาเหมือนรีดภาษีบาป ร้อยละ 3.90 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ควรลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ควรเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กอย่างเท่าเทียมกัน ไม่สร้างค่านิยมเกี่ยวกับชื่อเสียงของโรงเรียนมากจนเกินไป นอกจากนี้ควรปฏิรูปทางการศึกษาทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพทางการศึกษา หลักสูตร มาตรฐานทางวิชาการ พร้อมตั้งคณะกรรมการเข้าตรวจสอบอย่างละเอียดว่ามีการจ่ายแป๊ะเจี๊ยะหรือไม่ ทั้งนี้หน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล หน่วยงานทางการศึกษา รวมถึงประชาชน ผู้ปกครองควรเข้ามามีส่วน ในการแก้ไขปัญหานี้ด้วย ทั้งนี้ หากแก้ไขไม่ได้ควรบริจาคเป็นสิ่งของ หรือจำกัดวงเงินในการบริจาค หรือเพิ่มโควต้าจำนวนการรับนักเรียนในแต่ละแห่งให้มากขึ้น ร้อยละ 0.40 ระบุว่า เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก และร้อยละ 8.59 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

NIDA Poll 0702 เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.82 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ตัวอย่างร้อยละ 25.44 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.68 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 32.99 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.07 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 52.94 เป็นเพศชาย และร้อยละ 47.06 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 5.17 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ตัวอย่าง ร้อยละ 17.49 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 24.64 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 34.10 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 16.45 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 2.15 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ร้อยละ 92.45 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.66 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.72 นับถือศาสนาคริสต์/ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 3.18   ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 22.26 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 70.11 สมรสแล้ว ร้อยละ 4.13 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 3.50      ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 24.09 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 29.89 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า     ร้อยละ 8.19 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 26.87 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.92 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 4.05 ไม่ระบุการศึกษา

ตัวอย่างร้อยละ 12.48 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 14.86 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 21.38 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 13.28 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 17.81 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 15.42 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 0.79 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.16 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวง     หากำไร และร้อยละ 3.82 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 11.45 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 21.86 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 24.96     มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 11.69 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 5.80 มีรายได้เฉลี่ย ต่อเดือน 30,001 –  40,000 บาท ร้อยละ 10.33 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 13.91 ไม่ระบุรายได้