การยางฯเปิดตัว‘บียู’ สร้างรายได้พึ่งตนเอง

24 มิ.ย. 2560 | 08:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สถานการณ์ราคายางพาราที่ลดลง ส่งผลกระทบต่อชาวสวนยางทั้งประเทศกว่า 6 ล้านครัวเรือนในเวลานี้ รัฐบาลกำลังเร่งแก้ไขปัญหาเร่งด่วน อย่างไรก็ดีหนึ่งในข้อเสนอของหลายกลุ่มเรียกร้องตรงกันให้การยางแห่งประเทศไทย(กยท.)จัดตั้งบริษัทค้ายางพาราขึ้นเอง โดยมุ่งหวังในอนาคตจะเป็นผู้ชี้นำราคายาง ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนใด ทิศทางการดำเนินงาน และเป้าหมายเป็นอย่างไร “ฐานเศรษฐกิจ” ฉบับนี้สัมภาษณ์พิเศษ “ณกรณ์ ตรรกวิรพัท” รองผู้ว่าการ กยท. ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง ดังรายละเอียด

++เปิดตัวบียู
“ณกรณ์” กล่าวว่า การจัดตั้งหน่วยธุรกิจ (Business Unit :BU) หรือ บียู เกิดขึ้นในการประชุมของคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยครั้งที่ 13/2559 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 โดยมี พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานกรรมการ (บอร์ด) เป็นประธานในที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้จัดตั้ง เนื่องจากมีความเห็นว่า กยท.เป็นหน่วยงานที่ต้องพึ่งตนเองมากขึ้น จึงควรจัดตั้งหน่วยธุรกิจและทำแผนธุรกิจเพื่อบริหารจัดการองค์กรให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“สถานะปัจจุบันของบียู โครงสร้างยังเป็นระดับกอง เนื่องจากหากเป็นระดับฝ่ายจะต้องไปขออนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ก่อน เพราะฉะนั้นเพื่อให้เกิดความคล่องตัว ขอเป็นระดับกองไปก่อนดีกว่า ซึ่งในกรอบการธุรกิจเกี่ยวกับยางพาราตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 มาตรา 9(2) วางไว้ประมาณ 9-10 อย่าง อาทิ การจำหน่ายปัจจัยการผลิต ซื้อขายยางพาราโลจิสติกส์ คลังสินค้า และเรื่องประกันภัย/ประกันชีวิต เป็นต้น”

++เป้าโฮลดิ้งคัมปะนี
“ณกรณ์” กล่าวอีกว่า บียู ปัจจุบันมีแค่เฉพาะส่วนกลาง แต่ที่วางแผนและตั้งใจไว้ บียู จะวางสถานะเป็นโฮลดิ้ง คัมปะนี แล้วให้ทุกหน่วยงานในทุกเขตของกยท. มีหน้าที่หารายได้ โดยส่งโครงการต่างๆ ที่คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับกยท. เข้ามาที่ส่วนกลาง เพื่อให้ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้แทนผู้ประกอบกิจการยางซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการค้า ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนของ กยท. ช่วยวิเคราะห์งบประมาณและความเป็นไปได้ว่าทำแล้วคุ้มหรือไม่

[caption id="attachment_165886" align="aligncenter" width="503"] ณกรณ์ ตรรกวิรพัท ณกรณ์ ตรรกวิรพัท[/caption]

“สำหรับโครงการที่จะให้บียูทำ จะต้องเป็นไปตามกรอบภารกิจที่เกี่ยวข้องกับ กยท. ไม่ใช่ว่าจะทำอะไรก็ทำได้เลย ไม่เช่นนั้นอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย เพราะมี พ.ร.บ.การแข่งขันการค้าฯ กำกับอยู่ด้วย เกรงจะถูกกล่าวหาไปแข่งขันกับเอกชน ดังนั้นการดำเนินธุรกิจ ในโครงการต่างๆ จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าทำได้หรือไม่ได้ ณ วันนี้ผู้จัดการบียู จึงให้ฝ่ายคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ควบตำแหน่งนี้ไว้ก่อน และขึ้นตรงกับ ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ กยท. แต่หากในอนาคตหน่วยดังกล่าวนี้จะต้องไปตั้งบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยางพารา ตาม พ.ร.บ.การยางฯ มาตรา 10 (6) หรือเช่นเดียวกับรัฐวิสาหกิจทั่วไปที่จะจัดทำข้อเสนอจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด”

++สถานการณ์บีบงบจำกัด
รองผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า ใน 2 ปีงบประมาณที่ผ่านมา กยท.ได้งบสนับสนุนจากรัฐบาลค่อนข้างน้อยปีละ 200 ล้านบาท สาเหตุที่ได้น้อยเพราะรัฐบาลอยากให้หารายได้เลี้ยงตัวเอง และที่สำคัญหลายฝ่ายเข้าใจว่า กยท. มีเงินทุนสำรอง อาจจะเข้าใจแบบคลาดเคลื่อนใน 2 เรื่องคือ เนื่องจากเป็น พ.ร.บ.ใหม่ แต่เดิม พ.ร.บ.กองทุนในรัฐวิสาหกิจทั่วไปที่งบส่วนใหญ่สามารถถัวเฉลี่ยกันได้ในแต่ละหมวด แต่ พ.ร.บ.การยางฯ งบประมาณจะถูกจัดสรรไว้เป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละหมวด เช่น ค่าใช้จ่ายในการบริหาร กำหนดไว้ไม่เกิน 10% ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริม สนับสนุนและช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อการปลูกทดแทนจ่ายไม่เกิน 40% เป็นต้น

“ค่อนข้างชัดเจน กล่าวคืองบไม่สามารถใช้ข้ามกันได้ พอใช้ข้ามไม่ได้ ก็จะเกิดปัญหาในส่วนของงบบริหาร ซึ่งปัจจุบัน กยท.มีบุคลากรกว่า 2,200 คน แต่โครงสร้างความจริงต้องมีกว่า 3,000 คน แต่นโยบายรัฐบาลต้องการให้ลดขนาดองค์กร คือเล็กแต่ทำงานให้มีประสิทธิภาพที่สุด ดังนั้นกรรมการจึงไม่ได้กำหนดว่า บียู จะต้องเลี้ยงตัวเองให้ได้ภายในกี่ปี”

11625234 - rubber tree

++เริ่มทำธุรกิจหลากหลาย
สำหรับบียู มีเงินลงทุนหมุนเวียน 1,500 ล้านบาท มีผลดำเนินงานได้แก่ การระบายยางในสต๊อก 2 โครงการ 3.1 แสนตัน ปัจจุบันเหลือประมาณ1 แสนตัน และซื้อขายยางปกติ อาทิ ล่าสุดไปเซ็นเอ็มโอยูซื้อขายยาง กับ เหินฟง ผู้ผลิตล้อยางรถยนต์ยักษ์ใหญ่ลำดับ 2 ของประเทศจีน ส่งยางให้เดือนละ 5,000 ตัน

นอกจากนี้บียู ยังมีการซื้อขายปุ๋ยคุณภาพให้กับเกษตรกร นํ้ากรดซัลฟูริก และยางล้อภายใต้แบรนด์ ไทย-ไทเอ่อร์(TH-TYRE) ใน 7 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ อุดรธานี พิษณุโลก สงขลา ศรีสะเกษ ระยอง นครศรีธรรมราช และชุมพร นอกจากนี้ยังร่วมทำสินค้าต้นแบบกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติหรือเนคเทค เพื่อที่จะผลิตเครื่องมือแพทย์ อาทิ เฝือก หุ่นคน เป็นต้น
“สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นก้าวใหม่ของ กยท. เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ มีความเสี่ยงน้อย ซึ่งหวังว่าบียูจะช่วยดันราคายางในประเทศและในตลาดโลก และช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้เกษตรกร”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,272 วันที่ 22 - 24 มิถุนายน พ.ศ. 2560