ตื่นรับ‘สังคมสูงอายุ’ 2 ใน 3 โยกเงินเข้าประกัน โพลล์อลิอันซ์คาดโต9%

21 มิ.ย. 2560 | 04:00 น.
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจอลิอันซ์ เผยคนไทยตื่นตัวรับมือสังคมผู้สูงอายุ แห่โยกสินทรัพย์ลงทุนประกันชีวิต-บำนาญเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ ดันธุรกิจประกันขยายตัวไม่ต่ำกว่า 9%ต่อปี ลั่นดอกเบี้ยทั่วโลกขยับขึ้น ส่งผลดีต่อการบริหารพอร์ตลงทุน
กระทรวงการคลังคาดว่าประเทศไทยจะเช้าสู่สังคมสูงอายุเต็มรูปแบบ หรือผู้มีอายุ 60 ปีขึ้น จำนวน 20%ของจำนวนประชากรในปี 2568 จากปัจจุบันที่อยู่ที่ประมาณ 14% ของจำนวนประชากร ซึ่งจะมีผลต่อภาระทางการคลังที่ต้องจัดเงินสนับสนุนผ่านกองทุนต่างๆมากถึง 6.8 แสนล้านบาท ขณะที่ผลสำรวจของกลุ่มอลิอันซ์ พบสัญญานคนไทยให้ความสำคัญกับการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่วัยเกษียณมากขึ้น

[caption id="attachment_164310" align="aligncenter" width="315"] ไมเคิล ไฮส์ ไมเคิล ไฮส์[/caption]

“ประเทศไทยมีประชากร 2 ใน 3 ที่เริ่มมองหาการลงทุนระยะยาว เนื่องจากตระหนักถึงการเข้าสู่วัยเกษียณ จึงหันมาให้ความสำคัญในการออมเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งตัวเลขนี้ถือว่าค่อนข้างสูง แม้ว่าปัจจุบันไทยจะมีประชากรวัยทำงาน แต่ในปี 2593 ไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่า 50% หรืออยู่ที่ 52.5% จากปัจจุบันอยู่ที่ 15.2%”นายไมเคิล ไฮส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มอลิอันซ์ ประเทศเยอรมนี เป็นผู้ถือหุ้นหลัก บริษัทอลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด กล่าว

บริษัทอลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต รายงานการสำรวจและเก็บตัวเลขในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าสินทรัพย์ของประชากรในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้น 2 เท่า จากมูลค่า 20 ล้านล้านบาท เพิ่มเป็น 40 ล้านล้านบาท ถือว่ามีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น ซึ่งภายใต้สินทรัพย์ ประกอบด้วย เงินฝากธนาคาร หุ้น พันธบัตร และเบี้ประกัน-บำนาญ

ประเทศที่มีอัตราการเติบโตของสินทรัพย์มากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ประเทศจีน มีสินทรัพย์ที่เป็นเงินรวมในสัดส่วนที่ 19.7% คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 1.42 หมื่นยูโรต่อคน ซึ่งแซงญี่ปุ่นที่มีสินทรัพย์อยู่ที่ 13.8%

ขณะที่ประเทศไทย มีสัดส่วนประมาณ 0.4% โดยมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 4.13 แสนล้านยูโร หรือประมาณ 16.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นค่าเฉลี่ย 6,070 ยูโรต่อคน หรือประมาณ 2.36 แสนบาทต่อคน แม้ว่าจะน้อยเมื่อเทียบกับภูมิภาค แต่ยังสูงกว่าประเทศอินเดียและอินโดนีเซีย ที่มีสัดส่วนสินทรัพย์เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 1,240 ยูโร และ 1,115 ยูโร ตามลำดับ

สาเหตุที่สินทรัพย์มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทยมาจาก 3 ปัจจัยด้วยกัน คือ 1.รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น 2.คนหันมาออมเงินมากขึ้น และ 3.ราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น และหันมาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีระยะยาวมากขึ้น

[caption id="attachment_164312" align="aligncenter" width="503"] ตื่นรับ‘สังคมสูงอายุ’ 2ใน3โยกเงินเข้าประกัน โพลล์อลิอันซ์คาดโต9% ตื่นรับ‘สังคมสูงอายุ’ 2ใน3โยกเงินเข้าประกัน โพลล์อลิอันซ์คาดโต9%[/caption]

“จากสัญญาณที่คนไทยหันมาให้ความสำคัญในการออมและลงทุน เพื่อรองรับวัยเกษียณมากขึ้น จะส่งผลดีต่อธุรกิจประกันในอนาคตให้ขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ในช่วง 10 ปีข้างหน้า จะเห็นอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตเฉลี่ย 9.3% ต่อปี แม้ว่าในปีที่ผ่านมาจะมีอัตราการเติบโตเพียง 6% แม้จะขยายตัวไม่สูงเมื่อเทียบกับธุรกิจประกันชีวิต แต่ยังคงมีศักยภาพการเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 7.5% ต่อปีจนถึงปี 2570”

นายไฮส์ กล่าวว่า จากอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตในช่วง 10 ปีข้างหน้าส่งผลให้สัดส่วนการลงทุนใน สินทรัพย์ต่างๆ ของคนไทยมีโครงสร้างปรับเปลี่ยน โดยจะเห็นสัดส่วนพอร์ตการลงทุนในประกันชีวิตและบำนาญปรับเพิ่มขึ้นเป็น 25% จากปัจจุบันพอร์ตสินทรัพย์ส่วนใหญ่ประมาณ 42% จะเป็นเงินฝากธนาคาร และประกันชีวิตและบำนาญราว 22% หุ้นและพันธบัตรประมาณ 34% และอื่นๆ อีก 1-2

อย่างไรก็ตามแม้ว่าสัดส่วนการลงทุนในประกันชีวิต-บำนาญเพิ่มเพียง 2-3% แต่ถือว่าขยายตัวค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น และประเทศไทยถูกคาดหวังว่าจะยังคงเป็นหนึ่งในตลาดประกันภัยที่ขยายตัวมากที่สุดในเอเชีย โดยในปี 2559 มีอัตราเบี้ยประกันต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ 5% หรือมีเบี้ยประกันภัยรับรวมเฉลี่ย 264 ล้านยูโร สูงกว่าอินโดนีเซียที่มีเบี้ยรับรวมอยู่ที่ 58 ล้านยูโร

สำหรับปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อธุรกิจประกัน คือ อัตราดอกเบี้ย เพราะถ้าหากอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นเร็ว จนส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) ปรับสูงขึ้น อาจจะทำให้คนโยกการลงทุนจากประกันไปตลาดพันธบัตร แต่เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะว่านโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกถูกควบคุมอย่างเข้มงวด ทำให้การเปลี่ยนแปลงคงไม่รวดเร็วมากนัก

อย่างไรก็ดีการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ย่อมมีผลต่อระบบการเงินทั่วโลก ซึ่งหากดูจะเห็นว่าการปรับขึ้นเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจประกัน เนื่องจากจะสามารถบริหารจัดการการลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้คาดว่าเฟดจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก 1 ครั้งภายในเดือนกันยายนนี้ และปรับขึ้นอีก 2 ครั้งภายในปี 2561 โดยอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นไปแต่ะที่ระดับ 3% ซึ่งส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนประเทศไทย คาดว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในระดับใกล้เคียงกัน โดยจะเห็นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปี ขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 4% จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2.4% ภายในปี 2561 เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจประกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,271 วันที่ 18 - 21 มิถุนายน พ.ศ. 2560