เตือนช่วงหน้าฝนหลีกเลี่ยงลุยน้ำนานป้องกันโรคเมลิออยโดสิส

09 มิ.ย. 2560 | 05:30 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

กรมควบคุมโรค  เผยโรคเมลิออยโดสิส ไม่ใช่โรคใหม่ เป็นโรคที่มีมานานแล้ว มักพบในช่วงหน้าฝน และโรคนี้พบในผู้ใหญ่มากกกว่าเด็ก โดยปีนี้พบผู้ป่วยกว่า 1.2 พันราย เสียชีวิตแล้ว 11 ราย ซึ่งผู้ป่วยครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 49.8) อยู่ในอาชีพเกษตร พร้อมเตือนสำหรับเกษตรกรหรือประชาชนกลุ่มเสี่ยง หากต้องลุยน้ำหรือย่ำโคลนให้ใส่รองเท้าบู๊ทยาวเพื่อป้องกันเชื้อเข้าสู่ร่างกาย

วันนี้ (9 มิถุนายน 2560) นายแพทย์เจษฎา  โชคดำรงสุข  อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นฤดูฝน หลายพื้นมีฝนตกอย่างต่อเนื่องและบางแห่งอาจเกิดน้ำท่วมได้ ซึ่งในช่วงนี้โรคที่ประชาชนควรระมัดระวังอีกโรค คือ “โรคเมลิออยโดสิส” เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งอยู่ในดินและแหล่งน้ำนิ่ง ติดต่อทางบาดแผล ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไป รวมถึงการหายใจเอาละอองอากาศที่มีเชื้อเข้าไป ที่สำคัญมักจะพบผู้ป่วยโรคนี้มากในช่วงหน้าฝน และพบในผู้ใหญ่มากกกว่าเด็ก ซึ่งในประเทศไทยจะพบผู้ป่วย 2000 - 3000 รายต่อปี

25-5-60-ผว.อัศวิน จุดน้ำเร่งระบาย  (22) สถานการณ์โรคเมลิออยโดสิส ตั้งแต่ 1 ม.ค. – 4 มิ.ย. 2560 มีรายงานผู้ป่วย 1,216 ราย เสียชีวิต 11 ราย ผู้ป่วยร้อยละ 49.8 อยู่ในอาชีพเกษตร  กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากสุด ได้แก่ อายุ 45-54 ปี รองลงมาอายุ 55-64 ปี และอายุ 65 ปีขึ้นไป  ซึ่งคาดว่าในปีนี้จะพบผู้ป่วยโรคเมลิออยโดสิสเพิ่มขึ้นตลอดทั้งปี  ส่วนในปี 2559 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยตลอดทั้งปี 3,108 ราย และเสียชีวิต 9 ราย โดยผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ (อายุ 35 ปีขึ้นไป) พบถึง 2,543 ราย คิดเป็นร้อยละ 82 ของผู้ป่วยทั้งหมด

นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า โรคเมลิออยโดสิส ไม่ใช่โรคใหม่ เป็นโรคที่มีมานานแล้ว ซึ่งผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการแตกต่างกันขึ้นอยู่กับการได้รับเชื้อ บางรายอาจมีอาการรุนแรงจนติดเชื้อในกระแสเลือดและอาจเสียชีวิตได้ โดยอาการที่พบ คือมีไข้เป็นเวลานาน มีเนื้อตาย แผล ฝี หนองที่ปอด ตับ ม้าม หรือมีการติดเชื้อในกระแสเลือด    ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจเรื้อรัง  วัณโรค  เบาหวาน  โรคไต โรคเลือด มะเร็ง และภาวะบกพร่องทางภูมิคุ้มกัน เป็นต้น  ส่วนการป้องกันโรค มีดังนี้ หลีกเลี่ยงการลุยน้ำเป็นเวลานานโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีน้ำท่วม ไม่สัมผัสกับดินและน้ำในพื้นที่ที่เกิดโรคประจำ หากมีแผลและสัมผัสดินหรือน้ำในบริเวณนั้น ต้องรีบทำความสะอาดทันที โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง หรือใส่รองเท้าบู๊ทเมื่อจำเป็นต้องเดินลุยหรือย่ำน้ำเป็นเวลานาน ดื่มน้ำต้มสุก และหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์สุกๆ ดิบๆ ที่สำคัญหากมีอาการไข้เกิน 5 วันหรือเกิดแผลอักเสบเรื้อรัง ควรจะรีบไปพบแพทย์ทันที  หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422