สคช.หนุนม.กรุงเทพสร้างมาตรฐานวิชาชีพศิลปะการแสดง

07 มิ.ย. 2560 | 12:50 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สคช. สนับสนุนคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพศิลปะการแสดงและการบันเทิง สาขาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เพื่อยกระดับวงการบันเทิง สู่มาตรฐานสากล

นายวีระชัย ศรีขจร ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กลุ่มสมาคมวิชาชีพภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล” และ “กลุ่มสมาคมผู้ประกอบ วิชาชีพการถ่ายภาพยนตร์” เปิดตัว “โครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและ คุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพศิลปะการแสดงและการบันเทิง สาขาอุตสาหกรรมภาพยนตร์” โดยมี อาจารย์เศรษฐา วีระธรรมานนท์ เป็นผู้จัดการโครงการ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มสาขาอาชีพดังกล่าวจัดทำมาตรฐานอาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ มีความเป็นสากลให้เป็นที่ยอมรับทั้งภายในประเทศและระดับสากล

ภายในงานจัดให้มีการเสวนาหัวข้อ “ความสำคัญของการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพศิลปะการแสดงและการบันเทิง สาขาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เพื่อก้าวเข้าสู่ Thailand 4.0” ได้รับเกียรติจาก นายภควัต สุพรรณขันธ์ นายกกลุ่มสมาคมวิชาชีพภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล, นายพิชา ศรีศันสนีย์ นายกกลุ่มสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพการถ่ายภาพยนตร์ ผู้เข้าร่วมเสวนาจากกลุ่มสมาคมวิชาชีพภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล, กลุ่มสมาคมวิชาชีพผู้ประกอบการการถ่ายทำภาพยนตร์, ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ซึ่งประกอบด้วย ผู้ประกอบการ บุคลากรในกลุ่มอาชีพ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ

อาจารย์เศรษฐา วีระธรรมานนท์ ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า สำหรับ “โครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพศิลปะการแสดงและการบันเทิง สาขาอุตสาหกรรมภาพยนตร์” เป็นการกำหนดสมรรถนะของบุคคลตามระดับคุณวุฒิวิชาชีพนี้ใช้ในการรับรองการประกอบอาชีพ ตามความสามารถที่ผ่านการทดสอบ เพื่อให้ผู้ว่าจ้างเกิดความมั่นใจในการจ้างงานตามระดับความสามารถที่กำหนด โดยผู้ประกอบการ และองค์กรวิชาชีพ ในส่วนของสถานประกอบการที่จะรับบุคลากรเข้าทำงานก็จะได้รับความเป็นธรรมในการคัดเลือกบุคคลเข้า ทำงาน เพราะผู้ประกอบอาชีพที่ผ่านการรับรองจากองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในการจ้างงาน โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาในการฝึกสอนใหม่ ซึ่งมักเป็นปัญหาของสถานประกอบการที่ได้ฝึกสอนบุคลากรจนมีความสามารถดีแล้ว ก็มักจะออกไปทำงานที่ใหม่ที่ให้อัตราจ้างสูงกว่าทั้งนี้ โดยได้เริ่มดำเนินโครงการฯมาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 รวมระยะเวลาในการดำเนินโครงการทั้งสิ้น 18 เดือน โดยการจัดทำมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพศิลปะการแสดงและการบันเทิง สาขาอุตสาหกรรมภาพยนตร์จะจัดทำทั้งหมด 10 อาชีพ ซึ่งจะแบ่งครอบคลุม 5 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ กล้อง ไฟ กริ๊ป ริก เสียง

การจัดทำมาตรฐานอาชีพในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มสมาคมวิชาชีพการถ่ายภาพยนตร์ กลุ่มสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล ผู้ประกอบการ บุคลากรในกลุ่มอาชีพ และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อสร้างความสามารถและยกระดับการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมพัฒนาหลักสูตรสาขาวิชาภาพยนตร์ ในการผลิตบุคลากรด้านภาพยนตร์ที่มีคุณภาพ ทักษะ และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อป้อนสู่ตลาดในอุตสาหกรรมภาพยนตร์

“นอกจากจะทำให้ผู้ที่ผ่านการประเมิน เป็นที่ยอมรับทั้งภายในประเทศและระดับสากลแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการพัฒนาศักยภาพกําลังคนที่ทำงานอยู่ในสาขาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ อีกทั้งช่วยส่งเสริมศักยภาพในการพัฒนาความสามารถ การทํางานด้านต่าง ๆ ในหน้าที่ของตน ตามมาตรฐานอาชีพและวิชาชีพที่กําหนดไว้ และเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ระบบคุณวุฒิวิชาชีพของประเทศไทยเป็นที่รับรู้ และยอมรับในระดับนานาชาติต่อไป”นายวีระชัยกล่าว