รัฐบูม‘ท่องเที่ยวเชิงอาหาร’ ททท.ผนึกมิชลินดันไทยฮับวิทยาการอาหารโลก

29 เม.ย. 2560 | 02:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ไทยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ททท.ผนึก มิชลินสตาร์ ยกระดับอาหารไทยสู่มาตรฐานสากล ทั้งจัดงาน “แบงค็อก สตรีท ฟู้ด เฟสติวัล” รมต.ท่องเที่ยวฯ ลุยเสนอตัวไทยเจ้าภาพ “UNWTO World Forum on Gastronomy Tourism” ดันไทยฮับวิทยาการอาหารของโลก

ขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีนโยบายและทิศทางที่ชัดเจน ถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร(Gastronomy Tourism) รวมถึงครม.ยังได้อนุมัติให้ไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน UNWTO World Forum on Gastronomy Tourism ครั้งที่ 4 ในปี 2561

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่าโครงการที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางด้านอาหารเป็นส่วนสำคัญของการสร้างประสบการณ์ด้านท่องเที่ยว และเรามองเห็นโอกาสในการดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มตลาดบนที่มีความสนใจด้านอาหารให้เดินทางมาประเทศ ดังนั้นเราจึงได้ร่วมมือกับทางมิชลิน จัดทำคู่มือแนะนำร้านอาหารและที่พัก “มิชลินไกด์” ฉบับกรุงเทพฯขึ้น

สำหรับงบประมาณสำหรับโครงการจัดทำคู่มือ “มิชลิน ไกด์”ฉบับกรุงเทพฯ ททท. จะนำงบประมาณไปใช้ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ทั้งในและต่างประเทศตลอดจนทำงานร่วมกับมิชลิน ในชว่ งระยะเวลา 5 ป ี รวมกว่า 144.5 ล้านบาท โดยปีแรกใช้งบประมาณ 31.7 ล้านบาทและอีก 4 ปีที่เหลือจะใช้งบประมาณ 28.2 ล้านบาทต่อปีทั้งนี้ในกลุ่มประเทศอาเซียน มีเพียงประเทศสิงคโปร์เท่านั้นที่ทำงานร่วมกับมิชลิน สตาร์ และไทยเป็นประเทศที่ 2 ที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ซึ่งในอนาคตหากเข้ามาทำตลาดร่วมกันอย่างจริงจัง ไทยจะสามารถส่งเสริมการตลาดทัวร์ท่องเที่ยวชิมอาหารแบบในหลายๆ ประเทศได้

ทั้งนี้คู่มือมิชลิน ไกด์ ฉบับกรุงเทพฯ ประจำปี 2561 จะเปิดตัวภายในเดือนธันวาคม 2560 มีเนื้อหา 2 ภาษา ไทยและอังกฤษซึ่งจะมีทั้งฉบับที่เป็นเล่มและแบบดิจิตอล จากนั้นมีกำหนดจัดพิมพ์ใหม่ทุกปีตลอดระยะเวลา 5 ปีเบื้องต้นจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับร้านอาหารในกรุงเทพฯเท่านั้น แต่มีแนวคิดที่จะขยายการตรวจประเมินร้านอาหารไปยังเมืองใหญ่อื่นๆของไทยในอีก 2-3 ปีนี้

“การนำมิชลิน สตาร์ เข้ามาช่วยทำตลาดเรื่องอาหารในไทย ถือเปน็ หนึ่งในนโยบายผลักดันเรื่องการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวของไทย เพราะปัจจุบันสัดส่วนการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว ก็เป็นจากอาหารถึง 60% และในการทำโครงการครั้งนี้ ก็ไม่ได้เน้นแค่เพียงร้านอาหารชื่อดังเท่านั้น แต่ยังมีร้านอาหารทั่วไป ที่มีมาตรฐานรสชาติดี เจ้าเก่าแก่ และการเข้ามาประเมินแต่ละร้านจะเป็นการเลือกจากมิชลินเอง ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการยกระดับมาตรฐานร้านอาหารของตนเองขึ้นมา หากอยากจะเข้ามิชลิน สตาร์”

มิชลิน สตาร์ จะมี 3 ระดับระดับดาวมิชลิน 1 ดวง (Very Good Cuisine) ดาวมิชลิน 2 ดาว(Excellent Cuisine Worth a Detour) และระดับที่สูงสุด คือดาวมิชลิน 3 ดวง ( Exceptional Cuisine Worth a Special Journey)

นอกจากนี้ททท.ยังเตรียมจะร่วมมือกับทางกรุงเทพมหานครจัดงาน “แบงค็อก สตรีท ฟู้ดเฟสติวัล” ในเดือนมิถุนายนนี้เพื่อเพิ่มความมั่นใจว่าภาครัฐส่งเสริมอาหารข้างทาง

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยว่าเพื่อเป็นการส่งเสริม การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้านอาหารไทย ไม่เพียงแต่ครม. จะสนับสนุนงบ สำหรับโครงการ The Michelin Guide Thailand ระยะเวลา5 ปีงบประมาณเท่านั้น ครม.มีมติอนุมัติให้ไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน “UNWTO World Forum on Gastronomy Tourism” ครั้งที่ 4 ในปี 2561 โดยเล็งเห็นว่ามีประโยชน์หลายด้านที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ นั่นคือ โอกาสในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

รวมถึงการใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพและมีประโยชน์ทางโภชนาการ เช่น สมุนไพรต่างๆตลอดจนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร รวมถึงสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการนำรายได้เข้าสู่ประเทศไทย ในรูปแบบธุรกิจอื่นๆเช่น อาหาร โรงแรม ต่อไปด้วย

“อาหารไทยเป็นเสน่ห์สำคัญที่ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้อยากมาเที่ยวไทยเครื่องเทศและการปรุงรสที่เข้มข้นทำให้เมนูอาหารไทยมีความกลมกล่อมหอมลงตัวอย่างพอดีทั้งต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวาน หรือผัดไทย ต่างก็ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการเป็น Gastronomy Hub หรือ ศูนย์กลางด้านวิทยาการอาหารของโลก” นางกอบกาญจน์กล่าวทิ้งท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,256 วันที่ 27 - 29 เมษายน พ.ศ. 2560