ชู Smart City พัฒนาเกษตร การท่องเที่ยวและแก้ปัญหาหมอกควันเชียงใหม่

09 ก.พ. 2560 | 08:42 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ชูแผน Smart City เน้นพัฒนาเกษตร การท่องเที่ยวและแก้ปัญหาหมอกควัน

นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ ผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เดิม ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาโครงการ Smart City ในจังหวัดภูเก็ต เพื่อรองรับนักลงทุนในกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ครอบคลุม 8 แผนงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และในโอกาสดังกล่าวยังได้เปิดศูนย์ Innovation Park ภายใต้โครงการ Phuket Smart City เพื่อให้เป็นสถานที่ส่งเสริมพัฒนานวัตกรรม ส่วนในปีนี้ได้มีการพัฒนาโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ มีการมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำการเกษตรและการท่องเที่ยว  เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของพื้นที่ เกิดการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ไปยังชนบทให้มากขึ้น

ในการดำเนินโครงการ Chiang Mai Smart City โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ขณะนี้อยู่ในช่วงการนำเสนอแผนยุทธศาสตร์โครงการฯ ต่อทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ส่วนการทำ Innovation Park นั้นเรามีแนวคิดที่เปิดให้ผู้สนใจเข้ามาเทรนนิ่ง จนถึงขั้นสามารถเป็นผู้ประกอบการได้ นอกจากนี้ในการหาแหล่งทุน เพื่อการพัฒนาเราจะมีการช่วยจับคู่ธุรกิจ รวมไปถึงพาผู้ประกอบการไปหา Venture capital (VC) พร้อมทั้งยังเป็นศูนย์ที่รวบรวม Big data ของจังหวัดเชียงใหม่ไว้ด้วย โดยศูนย์ดังกล่าวจะตั้งอยู่บนพื้นที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

อย่างไรก็ดี ในส่วนการดำเนินโครงการ Smart City ของจังหวัดเชียงใหม่ก็จะแตกต่างออกไปจากจังหวัดอื่น โดยเชียงใหม่มีวิสัยทัศน์ที่ว่าทำอย่างไรให้ Digital Economy มีประโยชน์ต่อภาคประชาชน นักท่องเที่ยวหรือคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนั้นการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของจังหวัดเชียงใหม่จะเน้น 5 ยุทธศาสตร์ ตามแนวคิดว่า ทำอย่างไรให้กินดีอยู่ดีมีสุข ซึ่งการกินดีที่ว่านั้น ต้องทำให้เป็น Smart Economy, Smart Tourism และ Smart Agriculture

ส่วนการอยู่ดี คือ Smart Living เมืองต้องน่าอยู่ปลอดภัย จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตประชาชน ต่อมาคือมีสุข Smart Environment นี่คือ สามยุทธศาสตร์หลัก และมีอีกสองยุทธศาสตร์เสริม คือ  Smart Governance การนำข้อมูลบิ๊กดาต้าจากภาครัฐ มาใช้บนแพลทฟอร์มต่าง ๆ เพื่อให้คนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลนั้น ๆ และเพิ่มศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ และสุดท้าย คือ Smart Education การพัฒนาทางด้านการศึกษา การได้รับความรู้ในรูปแบบใหม่ ๆ

นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า แม้จะมีการวางยุทธศาสตร์ไว้เช่นนี้ แต่เชียงใหม่ยังมีประเด็นในเรื่องของงบประมาณที่ต่างออกไปจากจังหวัดภูเก็ตซึ่งมีการสนับสนุนจากภาคเอกชนร่วม ดังนั้นการดำเนินโครงการของเชียงใหม่จึงเน้นเรื่องที่ส่งผลกระทบในพื้นที่เป็นลำดับแรกก่อน คือ การพัฒนา Smart Tourism, Smart Environment และ Smart Agriculture  โดยในส่วนของ Smart Tourism นั้น ได้มีการดำเนินโครงการพัฒนาแพลทฟอร์มที่มีชื่อว่า  Chiang Mai  I Love U เป็นแพลทฟอร์มที่จะช่วยนักท่องเที่ยวในการค้นหาเส้นทางท่องเที่ยงด้วยตนเอง โดยตัวแพลทฟอร์มนี้ ก็จะบอกเส้นทาง วิธีการเดินทาง รวมไปถึงการแนะนำร้านค้า โรงแรม สถานที่สำคัญที่น่าสนใจต่าง ๆ ผ่านการปักหมุดจากผู้ประกอบการในพื้นที่ ตรงนี้เองมีแนวคิดริเริ่มมาจากเวลาคนส่วนใหญ่ไปเที่ยวไหน สิ่งแรกที่ทำคือ การหาค้นมูลจาก pantip.com หรือเว็บท่องเที่ยวต่าง ๆ แต่แพลทฟอร์มนี้คือ การนำกระทู้หรือคำแนะนำเหล่านั้นมาใส่ไว้ที่นี่ และนอกจากนี้ในการเปิดตัวแพลทฟอร์มดังกล่าวได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี จึงมีการขยายโครงการออกไปเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่อีก 10 จังหวัด เช่น น่าน ลำปาง นครราชสีมา ขอนแก่น สกลนคร ภูเก็ต สระบุรี และแม่ฮ่องสอน พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น Thailand I love U หากการดำเนินโครงการแล้วเสร็จ เส้นทางเหล่านี้ก็จะมีการเชื่อมกันระหว่างจังหวัด

การพัฒนา Smart Agriculture เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้สำหรับทำนายการเพาะปลูกและการเกษตร หรือที่เรียกว่า Smart farming การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเกษตรจะเริ่มตั้งแต่การสำรวจพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยโดยจะรู้ได้ทันทีว่าพื้นที่ไหนเหมาะสมจะปลูกอะไร สภาพตรงนี้เป็นเช่นไร จากนั้นการทำเกษตรก็จะมีการคำนวณสภาพดิน น้ำ การให้อาหาร สภาพอากาศ การควบคุมโรค ดังที่ว่า Farm to fork คือจะกินอะไรเราก็จะรู้ได้ทันทีอาหารนั้นมีที่มาอย่างไร เนื้อสัตว์เหล่านั้นเลี้ยงด้วยอะไร มีสารพิษหรือไม่ อย่างไรก็ดีการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ในการเกษตรยังมีข้อดี ในเรื่องของการคำนวณผลผลิตที่จะออกมาได้ ทำให้ราคาผลผลิตไม่ต้องตกลงเหมือนที่ผ่านมา

ส่วนเรื่องต่อมา คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อแก้ปัญหาหมอกควัน โดยที่ผ่านมาปัญหาหมอกควันเกิดขึ้นจากการเกิดไฟไหม้ป่า และเราไม่รู้ว่ามีไฟไหม้เกิดขึ้นจนกว่าจะไหม้มาจนถึงบริเวณที่มองเห็นชัดเจน หรือไหม้เป็นจำนวนมาก ดังนั้นการนำเทคโนโลยีมาใช้จะช่วยให้เราเตรียมความพร้อมรับมือได้ทัน ทั้งนี้ที่ผ่านมาเชียงใหม่มีระบบเซนเซอร์ฝุ่นละอองเยอะมาก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ไม่รู้ว่าค่าเหล่านั้นเกินมาตรฐานคือเท่าไหร่ เพื่อจะได้รีบแก้ไข และหาสาเหตุได้ทันเพื่อจะได้ลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี Smart City จะสำเร็จไม่ได้หากขาดความร่วมมือจากภาคเอกชน ดังนั้น ทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับ Onn IT Valley จัดทำคอมมูนิตี้ขึ้น เพื่อสร้างสรรค์แนวทางการดำเนินธุรกิจร่วมกัน ด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ สร้างศักยภาพด้านการแข่งขันให้  SMEs Startup และเกษตรกรให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน และต้องการสถานที่แห่งนี้เป็นศูนย์รวมแลกเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยีด้านไอที  เพื่อให้เกิดการจ้างงานสร้างโอกาส สร้างสังคมตามแนวคิด “ร่วมแรงและแบ่งปัน” ไม่เพียงเท่านี้ยังได้รับความร่วมมือในเรื่องสถานที่จากห้างสรรพสินค้า พรอมเมนาดา รีสอร์ทมอลล์ ในการจัดตั้ง ศูนย์บริการ One Stop Service เพื่อให้เป็นสถานที่ ในการรองรับผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ และ SMEs ในพื้นที่ให้สามารถใช้บริการทางด้านดิจิทัลอย่างครบวงจร เช่น คลินิกซอฟต์แวร์ ที่มีผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูล ห้อง Show Case Software รวมไปถึงการให้บริการ Co-working Space รองรับได้ถึง 60 ที่นั่ง นอกจากนี้ยังมีระบบกล้อง Full dome 360 องศา สำหรับเป็นที่แสดง Animation 3D, Game, e-Learning, VR เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทางด้าน Digital Content ได้มีอุปกรณ์ที่ทันสมัยใช้

“แม้การดำเนินโครงการ Smart City ของจังหวัดเชียงใหม่ยังเป็นเพียงการเริ่มต้น แต่ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการพัฒนาไปสู่การเป็นเมืองที่ยั่งยืน แต่ถึงกระนั้นเชียงใหม่ก็ยังต้องเผชิญความท้าทายไม่ต่างจากจังหวัดภูเก็ต และอาจจะรวมไปถึงปัญหาเรื่องการดำเนินวิถีชีวิต และการมีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง แต่ถึงอย่างนั้นเชื่อว่าหากมีการจัดการที่ดีในการพัฒนาเชียงใหม่ให้เป็น Smart City แต่คงไว้ด้วยเอกลักษณ์เดิมจะทำให้คนในพื้นที่ยอมรับ และเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนสืบต่อไป” นายฉัตรชัย กล่าว