เร่งหาทางแก้โฆษณาอาหารและยาผิดกฎหมายในสื่อออนไลน์

17 พ.ย. 2559 | 10:48 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

วันนี้ (17 พฤศจิกายน 2559) นายแพทย์ประวิทย์  ลี่สถาพรวงศา และนางสาวสุภิญญา  กลางณรงค์  คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  เป็นประธานการประชุม NBTC Public Forum เรื่อง “การกำกับโฆษณาอาหารและยาผิดกฎหมาย จากวิทยุโทรทัศน์สู่โลกออนไลน์”

นายแพทย์ประวิทย์  ลี่สถาพรวงศา กล่าวว่า เวทีวันนี้จัดขึ้นเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลเรื่องโฆษณาอาหารและยา นักวิชาการ องค์กรวิชาชีพ และผู้ประกอบการ ต่อสถานการณ์การโฆษณาอาหารและยาผิดกฎหมายที่เผยแพร่ทางสื่อออนไลน์  ที่ผ่านมาสำนักงาน กสทช. มีแนวทางในการกำกับดูแลอย่างชัดเจนในสื่อวิทยุและโทรทัศน์แล้ว ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเล็กน้อย โดยประสานความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  เครือข่ายผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด แต่ปัญหาการโฆษณาอาหารและยาที่ผิดกฎหมายกลับไปพบมากขึ้นเรื่อยๆ ในสื่อออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นกูเกิ้ล เฟซบุ๊ค อินสตาแกรม ยูทูป รวมถึงไอพีทีวี ซึ่งการแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่มีหน่วยงานใดที่จะสามารถติดตามกำกับได้สำเร็จ แต่ทุกภาคส่วนต้องสร้างความร่วมมือกัน ไม่ว่าจะในขณะที่เรากำลังก้าวสู่ยุค 4.0 ในโลกดิจิตอลมีทั้งอินเตอร์เน็ตสีขาวและสีดำ ถ้าหน่วยงานกำกับดูแลอ้างว่าไม่มีกฎหมายใดจัดการได้จะไม่สามารถทำอะไรได้เลย แต่ถ้าทุกฝ่ายจริงจังที่จะทำกฎหมายจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่นำมาใช้ในการแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งแต่ละประเทศมีวิธีการในการคุ้มครองผู้บริโภคทางอินเตอร์เน็ตที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นเรื่องนี้เราต้องหาทางออกที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยให้ได้

“ที่ผ่านมามีเด็กวัยรุ่นที่เสียชีวิตจากการกินยาลดความอ้วนที่ซื้อจากอินเตอร์เน็ต มีผู้เสียหายที่หน้าพังยับเยินจากครีมหน้าขาวใสที่หาซื้อจากเฟซบุ๊ค   และอื่นๆ อีกมาก การกำกับเนื้อหาในอินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งที่ท้าทายองค์กรกำกับทั่วโลก แต่ถ้าทุกฝ่ายจริงใจเพื่อคุ้มครองลูกหลานของเราไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการหลงเชื่อจากการถูกหลอกลวงจากการขายสินค้าเป็นเท็จเหล่านี้  ดิฉันเชื่อว่าจะแก้ปัญหานี้ได้แน่นอน”  นางสาวสุภิญญากล่าว

ด้านเภสัชกรประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการ อย. เปิดเผยว่า ต้องยอมรับว่าการโฆษณาอาหารและยาทางออนไลน์กำกับดูแลได้ยากมาก ถึงแม้ว่ากฎหมายกำหนดว่าก่อนที่จะโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งอาหาร ยา และเครื่องมือแพทย์จะต้องขออนุญาตจาก อย.ก่อนทุกครั้ง  ไม่ว่าจะเผยแพร่ในสื่อช่องทางไหนก็ตาม  แต่ปัจจุบันมีโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผ่านสื่อออนไลน์เหล่านี้ไม่เคยขออนุญาตจาก อย.  ส่วนใหญ่จะผิดกฎหมาย  พบยาและอาหารหลายประเภทที่โฆษณาเกินจริงหลอกลวงผู้บริโภค    ที่ผ่านมาต้องประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค  กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ  ตำรวจ  รวมทั้งผู้ประกอบการที่ให้บริการด้วย  ซึ่งหากทุกหน่วยงานเห็นความสำคัญของปัญหานี้ร่วมกันและแก้ปัญหา  ทำงานอย่างใกล้ชิด เหมือนที่ อย. กำกับโฆษณาอาหารและยาในสื่อวิทยุและโทรทัศน์กับ กสทช. มาตลอด  ปัญหานี้จะลดลงได้จริง

นางสาวสถาพร  อารักษ์วทนะ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  กล่าวว่าตนได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ด้านสื่อและโทรคมนาคม (คอบช.) ให้ศึกษาวิจัยการจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายของหน่วยงานกำกับดูแล ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ  พบผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากเครื่องสำอาง เช่น ครีมเพิร์ลลี่ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรตราภูมิไทย ซึ่งได้ร้องเรียนไปยังหน่วยต่างๆ รวมทั้งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วย  และยังอยู่ระหว่างการดำเนินคดีกับผู้ประกอบการที่หลอกลวง  จากปัญหาดังกล่าวพบว่าหน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะ อย.ต้องเร่งจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับการอนุญาตโฆษณาต่างๆ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก  ต้องมีการปรับปรุงกฎหมายให้มีบทลงโทษที่สูงขึ้น และประกาศใช้โดยเร็ว  รวมทั้งต้องใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และเด็ดขาดเพื่อไม่ให้มีการกระทำผิดซ้ำ  หน่วยงานกำกับดูแลต้องสั่งระงับการขายสินค้า ระงับการโฆษณาที่เข้าข่ายผิดกฎหมายทุกช่องทางทันทีเมื่อมีผู้บริโภคได้รับผลกระทบทางสุขภาพ  หน่วยงานกำกับดูแลต้องกำกับดูแลการโฆษณาทางโซเชียลมีเดียอย่างจริงจัง