กคช.เตรียมนำเทคโนโลยี BIM มาใช้ในการก่อสร้างรับโมเดล Thailand 4.0

11 พ.ย. 2559 | 08:32 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

การเคหะแห่งชาติ (กคช.) วางแผนและเตรียมนำเทคโนโลยีแบบจำลองสารสนเทศอาคาร หรือ Building Information Modeling (BIM) มาใช้ในการออกแบบ เขียนแบบ และควบคุมงานก่อสร้างอาคาร เพื่อให้ได้ผลงานที่รวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ สามารถควบคุมต้นทุน และลดระยะเวลาการก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับโมเดล Thailand 4.0 ที่เน้นในเรื่อง Creativity และ Innovation โดยจะประเดิมนำร่องโครงการแบบบ้านผู้สูงอายุ และโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง อาคารแปลง G

[caption id="attachment_113191" align="aligncenter" width="402"] ภาพตึกอาคาร 16 ชั้น กับการใช้โปรแกรม BIM ภาพตึกอาคาร 16 ชั้น กับการใช้โปรแกรม BIM[/caption]

นายนพดล  ว่องเวียงจันทร์ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ(กคช.)  กล่าวถึงโมเดล Thailand 4.0 ว่า จากการที่ ประเทศไทยมีการพัฒนาเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่โมเดล Thailand 1.0 เน้นภาคการเกษตร Thailand 2.0  เน้นอุตสาหกรรมเบา Thailand 3.0 เน้นอุตสาหกรรมหนักและการส่งออก และกำลังเข้าสู่โมเดล Thailand 4.0 เน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ ซึ่งเป็นแนวคิดที่จะนำโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “Value - Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” นับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี โดยเน้นในเรื่องการพัฒนาไปสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

การเคหะแห่งชาติ โดยความร่วมมือกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จึงได้จัดทำโครงการศึกษาวิจัยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสาธารณูปโภคภายในอาคารโดยใช้ต้นแบบดิจิตอล 3 มิติ กรณีศึกษา : อาคารสำนักงานใหญ่ 16 ชั้น การเคหะแห่งชาติเพื่อหาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการสาธารณูปโภคโดยใช้แบบจำลอง รวมถึงจัดทำโครงการศึกษาวิจัยแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการออกแบบและก่อสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย เพื่อศึกษาข้อมูลและจัดระบบข้อมูลองค์ประกอบอาคารต่างๆ ที่มีอยู่และที่จะนำมาใช้ในกระบวนการออกแบบและการก่อสร้างของการเคหะแห่งชาติ โดยผู้วิจัยได้นำแบบจำลองสารสนเทศอาคารหรือ Building Information Modeling (BIM) มาใช้ในงานวิจัยทั้งสองโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาสำหรับการออกแบบอาคารด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อควบคุมกระบวนการต่างๆ ให้สอดคล้อง ทั้งในเรื่องของแนวคิดการออกแบบ ระยะเวลาในการก่อสร้าง การควบคุมคุณภาพการก่อสร้าง รวมถึงการประสานงานกับส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ใช้สามารถใส่ข้อมูลและรายละเอียดต่าง ๆ ลงไปในทุกๆ ส่วนขององค์ประกอบอาคาร ทำให้การออกแบบอาคารมีข้อมูลในด้านต่าง ๆ ครบถ้วนและถูกต้อง  เพราะได้รับการตรวจสอบและแก้ไขไปพร้อมกันในช่วงดำเนินการของการใช้โปรแกรม ทั้งงานด้านสถาปัตยกรรม วิศวกรรม งานระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ปริมาณวัสดุ จึงมีความครบถ้วนทั้งในรูปแบบ 2 มิติ และ 3 มิติ  ซึ่งต่างไปจากการเขียนแบบ 2 มิติ และ 3 มิติแบบเดิม ซึ่งเป็นเพียงภาพแต่ไม่มี Information ในนั้น แต่ BIM เป็นการทำงานควบคู่กันไปทั้งกระบวนการ สามารถลดเวลาในส่วนของการเขียนแบบไปได้อย่างน้อย 30% ทำให้โครงการก่อสร้างเสร็จเร็วกว่าเดิม เพราะแบบก่อสร้างและงานระบบได้ถูกตรวจสอบและแก้ไขในช่วงของการใช้ BIM  แล้วจึงช่วยลดความผิดพลาดในการทำงาน ช่วยประหยัดเวลา สามารถควบคุมต้นทุน เพราะได้ปริมาณวัสดุที่แน่นอนจากการใช้ BIM ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

ผลที่ได้รับจากการศึกษาวิจัย การเคหะแห่งชาติจะนำระบบ BIM ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการออกแบบและก่อสร้างอาคารมาประยุกต์ใช้ในการจัดทำแบบบ้านผู้สูงอายุ คาดว่าจะสามารถแจกจ่ายแบบบ้านให้กับประชาชนที่สนใจโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายภายในเดือนธันวาคม 2559 รวมถึงจะนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดทำแบบโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง อาคารแปลง G ที่จะดำเนินการก่อสร้างในเดือนธันวาคมนี้เช่นเดียวกัน