พาณิชย์ขึ้นทะเบียนปลากุเลาเค็มตากใบ/เนื้อโคขุนโพนยางคำเป็น GI แล้ว

30 ก.ย. 2559 | 05:40 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2559 กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication หรือ GI) 2 รายการ คือ เนื้อโคขุนโพนยางคำ จังหวัดสกลนคร และปลากุเลาเค็มตากใบ จังหวัดนราธิวาส ทำให้ปัจจุบันมีสินค้าไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น GI แล้ว 71 สินค้า จาก 51 จังหวัด และกรมทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ระหว่างพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียน GI จาก 16 จังหวัด ยังเหลืออีก 10 จังหวัดที่ยังไม่มีการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเร่งส่งเสริมสร้างความเข้าใจกับจังหวัดที่เหลือต่อไป

สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เป็นสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง โดยคุณภาพ หรือชื่อเสียงของสินค้าจะมีความเชื่อมโยงกับแหล่งภูมิศาสตร์ที่มีการผลิตสินค้านั้น ไม่ว่าจะเป็น ดิน น้ำ อากาศ และภูมิปัญญาของชุมชนในท้องถิ่น ส่งผลให้สินค้านั้นแตกต่างกับสินค้าประเภทเดียวกันที่ผลิตในแหล่งอื่น ซึ่งจุดเด่นนี้ และการได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ จะช่วยสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคว่าเป็นสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตแท้จริง เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า GI และส่งเสริมเศรษฐกิจของท้องถิ่นแหล่งกำเนิดสินค้า

นางอภิรดี เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ขานรับนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและปัญญา ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาของชุมชนและประเทศ พร้อมเร่งส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสินค้าที่มีศักยภาพเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI อย่างน้อย 1 สินค้าต่อ 1 จังหวัด ตั้งเป้าหมายให้ครบ 77 จังหวัด ภายในปี 2560 โดยในปี 2559-2560 มีแผนที่จะลงพื้นที่ใน 10 จังหวัดที่ยังไม่มีการขึ้นทะเบียน GIหรือยื่นคำขอเพื่อขึ้นทะเบียน GI ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กระบี่ กาญจนบุรี ระนอง สตูล สมุทรสาคร สระแก้ว สิงห์บุรี นครสวรรค์ และกำแพงเพชร สำหรับสินค้าที่มีการขึ้นทะเบียน GI แล้วก็มีแผนที่จะส่งเสริมให้มีการพัฒนาคุณภาพของสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่นให้ดีขึ้น ส่งเสริมการตลาดสินค้า GI ไทย และสร้างการรับรู้คุณภาพและชื่อเสียงของสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทยทั้งภายในและต่างประเทศเพื่อให้สินค้า GI ไทยสามารถจำหน่ายได้ในราคาสูงขึ้น เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนและท้องถิ่น และยังเป็นการบ่งชี้ให้เห็นความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่ส่งผลดีกับสินค้าของไทยอีกด้วย