ปัญหาการเงินของเมียนมา

14 ส.ค. 2565 | 22:30 น.

คอลัมน์เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

หลังจากที่มีการออกประกาศระงับการชำระหนี้ของประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา ไม่เพียงจะสร้างความตื่นตระหนกให้แก่ผู้ประกอบการทั่วไป ที่เข้าไปลงทุนในประเทศเมียนมาเท่านั้น ยังมีผู้ประกอบการที่เข้าไปทำการค้าในประเทศเมียนมา กลุ่มบริษัทที่ส่งสินค้าเข้าไปขายในประเทศเมียนมา และกลุ่มผู้ประกอบการที่ทำการค้าชายแดนด้วย เพราะทุกคนต่างตีความคำประกาศฉบับนี้ ไปในทิศทางที่ตนเองเข้าใจกัน
 

ซึ่งแน่นอนว่า ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างคาดหวังในสิ่งที่ตนเองต้องการทั้งนั้น ผมจึงอยากจะขออนุญาตให้คำอธิบายโดยใช้คำง่ายๆ ให้เข้าใจไปในทิศทางที่ใกล้เคียงกัน หรือไม่ผิดเพี้ยนแตกต่างกันไม่มากจนเกินไปครับ
 

ตามที่ผมได้เคยเขียนเรื่องนี้ไปแล้ว ในช่วงที่ทางการเมียนมาเริ่มประกาศออกมาใหม่ๆ อีกทั้งยังได้เขียนอธิบายไปว่า เราไม่ควรจะรีบร้อนตีโจทย์ไปก่อน หรือตีตนไปก่อนไข้ ควรจะต้องรอดูสถานการณ์ไปก่อนสักสอง-สามสัปดาห์ พอทุกอย่างกระจ่างออกมาแล้ว ค่อยคิดว่าเราจะทำอย่างไรต่อไป และหลังจากที่ผมได้อ่านคำประกาศฉบับนี้อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว จึงนำมาตีความถึงเจตนารมณ์ของการบัญญัติกฎหมายฉบับนี้
 

หากเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศเมียนมามานาน ก็จะเห็นหรือพอที่จะเข้าได้ว่า เหตุผลของกฎหมายฉบับนี้ ทางการเมียนมาเขาต้องการที่จะระงับยับยั้งไม่ให้เศรษฐกิจของประเทศเมียนมาไหลลงมากไปกว่านี้ นั่นคือไม่อยากให้เงินสำรองเงินตราระหว่างประเทศ ลดน้อยถอยลงไปมากกว่านี้ เพราะกฎหมายฉบับนี้นอกจากจะใช้ออกมาเป็นเครื่องมือในการหยุดเลือดที่กำลังไหลอยู่ เราถึงรู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ครับ

 

อย่างที่ผมเคยตั้งสมมุติฐานไว้ก่อนหน้านี้ไปแล้วว่า หากเราเป็นประเทศเมียนมา ถ้าเราจะต้อง เป็นหนี้เป็นสินมากมายขนาดนี้ แล้วเงินในกระเป๋าเรามีอยู่แค่นี้ ไม่เพียงพอต่อการที่จะชำระหนี้ แต่เราไม่อยากชักดาบเบี้ยวหนี้ เราก็คงต้องทำตามแบบฉบับ “ไม่มี ไม่หนี้ ไม่จ่าย” แต่จะใช้วิธีการประนอมหนี้ เจรจากับเจ้าหนี้ให้เขายินยอมระงับการชำระหนี้ให้เราได้มีโอกาสหายใจหายคอได้ก่อน
 

แต่วันนี้เจ้าหนี้ของประเทศเมียนมานั้น ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศชาติตะวันตก และประเทศที่พัฒนาแล้วเกือบทั้งสิ้น นอกจากนี้ประเทศเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ ก็จะเป็นประเทศที่ร่วมบอยคอตประเทศเมียนมาด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นก็ไม่รู้จะไปตามตัวเจ้าหนี้ ให้มารับรู้รับทราบว่าฉันจะประนอมหนี้แล้วนะ ก็ทำไม่ได้ครับ
 

ส่วนที่มีคำถามต่อไปอีกว่า เมื่อรู้ถึงสาเหตุของการระงับหนี้แล้ว แน่นอนว่าแล้วเมื่อไหร่จะสามารถชำระหนี้ได้ละ? ก็หมายความว่า แล้วเมื่อไหร่ประเทศเมียนมาจะมีการยกเลิกประกาศฉบับนี้นั่นแหละ? หรืออีกนัยยะหนึ่งคือ เมื่อไหร่ประเทศเมียนมาจะมีความสามารถในการชำระหนี้ละ? นี่คือคำถามที่น่าสนใจ เพราะวันนี้ผมมักจะมีทั้งผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการเมียนมา เข้ามาขอคำปรึกษา ว่าทำอย่างไรที่จะนำเงินออกมาจากประเทศเมียนมาได้ ทั้งในรูปเงินเหรียญสหรัฐ ทั้งเงินสกุลอื่นๆ  
 

ผมก็ได้แต่ตอบว่า ผมก็จนปัญญาครับ เพราะถ้าแนะนำให้นำออกมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะผิดกฎหมายเมียนมา แต่ถ้าจะนำออกมาโดยลักษณะใต้ดิน ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะผิดกฎหมายไทย รับรองว่าถ้าทำเช่นนั้น หน่วยงานภาครัฐของไทยเราจะต้องจ้องตาเป็นมันเลยครับ 
 

ผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่งนะครับว่า ไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายระดับไหนก็ตาม เราเป็นนักธุรกิจ มักจะมีการเสาะแสวงหาทางออกได้ทุกครั้งไปครับ ดังนั้นทางออกก็มีอยู่บ้าง แต่ต้องมีความระมัดระวังเรื่องของกฎหมายให้มากๆ อย่าได้ชะล่าใจหรือบุ่มบ่ามโดยเด็ดขาดนะครับ เพราะถ้าถูกจับรับรองว่าจะเป็นทุกข์อย่างแน่นอนครับ
 

อีกคำถามหนึ่งที่ค้างไว้ คือTime line ในการชำระหนี้ ว่าจะคืนเงินได้เมื่อไหร่? โดยส่วนตัวผมคิดว่า คงต้องดูสองปัจจัยหลัก คือปัญหาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ กับสถานการณ์โรคระบาดโควิดเป็นหลัก เพราะวันนี้หากประเทศเมียนมายังคงมีความไม่สงบหลงเหลืออยู่ การถูกแซงชั่นจากประเทศชาติตะวันตกก็จะไม่จบลงง่ายๆ จะส่งผลต่อสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ก็จะไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะแน่นอนครับว่า ตามหลักเศรษฐศาสตร์ ปัจจัยที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ มีอยู่ทั้งหมด 4 ปัยจัยหลักด้วยกันคือ
 

การจับจ่ายใช้สอยของประชาชน (Consumption) การลงทุนภายในประเทศ (Investment) งบประมาณจากภาครัฐ (Government budgets) และมูลค่าการส่งออกลบด้วยมูลค่าการนำเข้า (Export -Import) หรือ Y= C+I+G+(X-M) นั่นแหละครับ ดังนั้นหากประเทศชาติยังไม่มีความสงบ ย่อมส่งผลให้ทุกปัจจัยไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้
 

อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมาก ก็คือโรคระบาดโควิด-19 ที่กำลังเป็นปัญหาหนักหน่วงของทุกๆประเทศ ในประเทศเมียนมารุนแรงกว่าประเทศอื่นๆ เกือบทุกประเทศ ดังนั้นถ้าทั้งสองปัจจัยนี้สามารถจบลงได้ การค้า-การลงทุนย่อมเกิด เศรษฐกิจจึงจะเดินหน้าได้ครับ
 

ส่วนวันนี้ประเทศเมียนมามีทรัพยากรธรรมชาติเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรใต้ดินหรือทรัพยากรบนดิน แน่นอนว่าทรัพยากรใต้ดินนั้น เขามีมากมายมหาศาล เป็นที่หมายปองของประเทศมหาอำนาจทั้งหลาย เพราะประเทศเมียนมาเป็นประเทศที่มีรอยเลื่อนของเปลือกโลกตัดผ่ากลางประเทศถึงสองเส้น ทำให้เกิด แร่ธาตุ อัญมณี ถ่านหิน น้ำมันและ พลังงานต่างๆ เขามีอย่างเหลือเฟือ ดังนั้นหากมีการเปิดประเทศ หรือมีการยกเลิกการแทรกแซง ประเทศเมียนมาสามารถเปิดประเทศได้ ก็จะสามารถสร้างความมั่งคั่งจากทรัพยากรที่มีอยู่ได้ ประเทศจึงจะเดินหน้าได้อย่างแน่นอนครับ