ปรากฏการณ์ ส้มทั้งแผ่นดิน ทุก GEN ต้องการ“เปลี่ยน”

16 พ.ค. 2566 | 10:45 น.

คอลัมน์ฐานโซไซตี ปรากฏการณ์ ส้มทั้งแผ่นดิน ทุก GEN ต้องการ“เปลี่ยน” โดย...กาแฟขม

***หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3888 ระหว่างวันที่ 18-20 พ.ค.2566 โดย...กาแฟขม

*** ปรากฏการณ์ “ส้มทั้งแผ่นดิน” เมื่อค่ำวันที่ 14 พ.ค. 2566 เป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่การเมืองไทย ในหลายประเด็น ปรากฏการณ์ของประชาชนคนไทยที่ต้องการ “เปลี่ยน” พร้อมใจกันออกมาเทคะแนนให้ “พรรคก้าวไกล” กว่า 14 ล้านเสียง พร้อมกับเลือก ส.ส.เขต ให้ถึงจำนวน 113 เขต รวมเข้ากับส.ส.บัญชีรายชื่อ 39 คน เป็นจำนวนส.ส.สูงลิ่วถึง 152 คน ทะลายทุกโพลล์ ทุกสำนัก เฉพาะพื้นที่ กทม. 33 เขต คนกรุงพร้อมใจเทคะแนนให้ 32 เขต และเขตที่แพ้เพื่อไทย เขตลาดกระบัง เฉือนกันแค่ 4 คะแนนเท่านั้น 

ในหลายพื้นที่ หลายจังหวัดที่เรียกว่า พื้นที่เมืองหลวงของพรรค อย่างเชียงใหม่ อุดรธานี เมืองหลวงพรรคเพื่อไทย กลับพ่าย ก้าวไกล อย่างราบคาบ กระทั่งมาพื้นที่ภาคตะวันออก สมุทรปราการยกจังหวัด นนทบุรียกจังหวัด ชลบุรีพื้นที่แย่งชิงระหว่าง บ้านใหญ่ กับ บ้านใหญ่ ปรากฏว่า ก้าวไกลไปคว้ามาได้ถึง 7 ที่นั่ง พื้นที่ภาคใต้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์มาเป็นอันดับ 1 ในหลายจังหวัด ว่ากันว่าเสียงส่วนใหญ่ที่เทให้ ก้าวไกล ล้วนเป็นคะแนนบริสุทธิ์

*** การเลือกตั้งรอบนี้เป็นปรากฏการณ์ หรือ นิยามใหม่ลักษณะการเมืองใหม่ปราบการเมืองเก่าราบคาบ การเมืองใหม่ คนรุ่นใหม่ ส.ส.หน้าใหม่ แนวคิดใหม่ๆ กลายเป็นความต้องการของคนที่อยาก “เปลี่ยน” แทบทุก GEN ที่เทคะแนนล้นหลามให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 

*** หลังจากนี้ไปเข้าสู่โหมดของการจัดตั้งรัฐบาล ที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ประกาศเดินหน้าตั้งรัฐบาล โดยยึดจากจำนวนเสียงของฝ่ายค้านเดิมก่อน บวกกับพรรคไทยสร้างไทย 309 เสียง ทุกฝ่ายก็ควรให้โอกาสพรรคก้าวไกลได้จัดตั้งรัฐบาลก่อน ตามเจตจำนงส่วนใหญ่ของประชาชน และในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ต้องไปรวมเสียงรัฐสภา รวมเป็นจำนวน 700 เสียง เกินกึ่งหนึ่งคือ 376 เสียง ในการก้าวสู่นายกรัฐมนตรีของพิธา อันนี้เป็นล็อกที่ไปรวมส.ว.โหวตตามรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ แต่ส.ว.แม้จะถูกแต่งตั้งจาก คสช. ไม่ได้มาจากประชาชน ก็ควรต้องฟังเสียงประชาชน โดยเจตนาการตั้งส.ว.ถือเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย เมื่อเป็นผู้แทนปวงชนก็ต้องใช้วิจารณญาณฟังเสียงของปวงชนด้วย

*** การเมืองใหม่ชนะการเมืองเก่า ทำให้นักการเมืองเก่า พรรคการเมืองเฉพาะกิจ พรรคการเมืองหลายพรรคเข้าข่ายสูญพันธุ์ นักการเมืองที่เรียกว่า บ้านใหญ่ทั้งหลาย อาจต้องหลบเลียแผลกันนาน กว่าจะฟื้นตัวลุกขึ้นยืนสู้ใหม่ หรือ บางราย อาจถูกเตะตกกระดานถาวรกันไปเลย พรรคการเมืองหลายพรรค ต้องทบทวนตัวเองใหม่ ถ่ายเลือดใหม่ ส่งไม้ต่อให้คนรุ่นใหม่ขึ้นมานำพรรค ถอนตัวเองออกมายืนแถว 2 แถว 3 หรือ โบกมือลาไปเลยปล่อยให้เป็นภารกิจคนรุ่นใหม่ในการขับเคลื่อนประเทศ และเป็นการสิ้นสุดยุค 3 ป. ที่ปกครองประเทศมาอย่างยาวนาน

*** การตั้งเงื่อนไขไว้สูงมากของ พรรคก้าวไกล ก่อนการเลือกตั้ง ตามรูปแบบ วิธีการช่วงชิงคะแนนเสียงของพรรค ก็อาจทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลใหม่ อาจจะไม่ราบรื่นและจำต้องใช้เวลา การผ่องถ่ายอำนาจก็อาจสะดุด 

ฉะนั้นระดับนำ ระดับแกนขับเคลื่อนของพรรค ก็ต้องไม่ผยองกับคะแนนเสียงท่วมท้นจนมากเกินไป การขยับฐาน การพลิกพีระมิดตามโลโก้พรรค เป็นภารกิจที่ยากลำบาก ไม่อาจใช้เวลาเพียงชั่วข้ามคืน จัดไพออริตี้เรื่องเร่งด่วนให้ชัด เรื่องที่ประชาชนรอไม่ได้มาก่อน 

แต่ถ้าทำแบบยอมหักไม่ยอมงอเสียทุกเรื่อง สถานการณ์และภาวะแวดล้อม จะถูกบีบให้สถานการณ์เปลี่ยนพลิก ระดับแกนนำของพรรคคงศึกษาประวัติศาสตร์มาเป็นอย่างดี ช่วงเดือน ต.ค. 2516 นักศึกษามีชัยชนะเหนือผู้ถืออำนาจ แต่ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการใช้อำนาจหรือบริหารอำนาจได้ แม้บริบทต่างกัน แต่ต้องพึงระลึกไว้เสมอ...