คุมเซมิคอนดักเตอร์ได้ ... ครองโลก (5)

22 ก.ย. 2565 | 07:05 น.

คุมเซมิคอนดักเตอร์ได้ ... ครองโลก (5) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,820

คุยกันมาหลายตอนในหลายแง่หลายมุม จนผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านตระหนักดีถึงความสำคัญของเซมิคอนดักเตอร์ที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจระดับมหภาคและจุลภาค เทคโนโลยี ความมั่นคง และอื่นๆ แล้ว วันนี้ผมจะชวนคุยถึงเรื่องปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในจีน ...

 

ในภาพรวม วิกฤติโควิด-19 ทำให้การลงทุนและการจับจ่ายใช้สอยชะลอตัวลง ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมอ่อนเปลี้ย ตลาดแรงงานในจีนจึงไม่ร้อนแรงดั่งเคย บัณฑิตจบใหม่จำนวนหลายล้านคนในแต่ละปี ต้องประสบปัญหาการหางานที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งงานในชุมชนเมือง 

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขนาดจิ๋ว ซึ่งยังคงเป็นที่ต้องการสูงของหลายธุรกิจเกี่ยวเนื่อง อาทิ การออกแบบชิป รถยนต์พลังงานใหม่ และบริการอินเตอร์เน็ต เป็นต้น ถือเป็นข้อยกเว้น 

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจดังกล่าวขยายการลงทุนอย่างก้าวกระโดด ทำให้อุปสงค์ของบุคลากรในด้านนี้เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยประเมินว่าผู้ผลิตชิปในจีนเปิดตำแหน่งงานใหม่เพิ่มขึ้นถึง 20% ต่อปี

ในทางกลับกัน โดยที่ทรัพยากรมนุษย์ในด้านนี้ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญยิ่ง และจำเป็นต้องใช้เวลานานในการพัฒนา ผู้เชี่ยวชาญยังให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา หลายธุรกิจในจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว อาทิ อสังหาริมทรัพย์ อินเตอร์เน็ต และโลจิสติกส์ ทำให้ต้องแย่งบัณฑิตจบใหม่กันอย่างกว้างขวาง

 

หากเทียบเนื้องานและผลตอบแทนดังกล่าวกับของเซมิคอนดักเตอร์ก็พบว่า ค่าจ้างเฉลี่ยในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ยังได้รับต่ำกว่า แต่มีเนื้องานที่หนักและยาวนานกว่าของอสังหาริมทรัพย์และอินเตอร์เน็ต ทำให้บัณฑิตที่จบในสาขาคอมพิวเตอร์ศาสตร์ และสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง เลือกไปทำงานกับบริษัทอินเตอร์เน็ตมากกว่า ขณะที่เพียง 15% ของบัณฑิตที่จบในด้านวงจรรวมและไมโครอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้นที่ไปทำงานในอุตสาหกรรมชิป

 

โชคดีที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เผชิญวิกฤติ และอินเตอร์เน็ตโดนมาตรการจัดระเบียบในระยะหลัง ทำให้บัณฑิตหันกลับไปหางานทำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์กันมากขึ้น แต่การเร่งส่งเสริมของภาครัฐและการขยายการลงทุนของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมนี้อย่างกว้างขวาง ทำให้หลายฝ่ายมองว่า ความต้องการบุคลากรในด้านนี้จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในด้านนี้จะรุนแรงขึ้น 


 รายงานผลการศึกษาของสมาคมผู้ผลิตชิปของจีนประเมินว่า ในระหว่างปี 2022-2023 จีนจะขาดบุคลากรในด้านนี้ถึง 200,000 คน

                                  คุมเซมิคอนดักเตอร์ได้ ... ครองโลก (5)
ยิ่งพอมองลึกลงไปก็พบว่า นอกเหนือจากการขาดแคลนในเชิงปริมาณ การตอบสนองต่อความต้องการบุคลากรในด้านคุณภาพ ก็เป็นปัญหาในอีกด้านหนึ่ง กล่าวคือ แม้ว่าจีนมุ่งเป้าที่จะผลิตชิปเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดภายในประเทศ แต่แรงกดดันในเชิงคุณภาพก็ดูจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 


ที่ผ่านมา กลุ่มผู้นำในเวทีโลกมุ่งเน้นการผลิตชิป เพื่อป้อนตลาดระดับบนที่มีคุณภาพสูง ขณะที่ในภาพรวม จีนยังจับตลาดระดับล่าง และมีความสามารถที่ขาดหายเป็นช่วงๆ ดังนั้น การขยับไปจับตลาดระดับบนจึงต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสูงเป็นจำนวนมาก

 

ผู้เชี่ยวชาญในวงการคาดการณ์กันว่า ปัญหาเชิงปริมาณและคุณภาพดังกล่าวจะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง การขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์อาจกลายเป็น “ระเบิดเวลา” ลูกใหญ่ของอุตสาหกรรมนี้ของจีนที่รออยู่


เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ภาครัฐและเอกชนจีนต่างให้ความสำคัญกับการเร่งผลิตบุคลากรด้านเซมิคอนดักเตอร์ในทุกรูปแบบ อาทิ การผลิตจากภายใน และการดึงดูดคนที่มีความรู้ความสามารถจากภายนอกประเทศนี่จึงกลายเป็นแนวทางการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมนี้ของจีนในปัจจุบัน


ในส่วนแรก อาจถือเป็นความได้เปรียบที่จีนโดดเด่น โดยในแต่ละปี จีนสามารถผลิตบัณฑิตด้านวิศวกรรมศาสตร์ในภาพรวมได้ถึงกว่า 600,000 คน เกือบ 10 เท่าตัวของสหรัฐฯ

 

อย่างไรก็ดี ในสาขาเฉพาะทาง จีนก็ยังไม่สามารถผลิตบัณฑิตได้ทันต่อความต้องการในปัจจุบัน โดยผู้บริหารของผู้ผลิตชิปรายใหญ่ระบุว่า จีนผลิตบุคลากรได้ปีละ 30,000 คน แต่อุตสาหกรรมนี้มีความต้องการถึงปีละ 50,000 คน (ติดตามตอนจบในฉบับต่อไป)

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาด และอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน


หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,820 วันที่ 22 - 24 กันยายน พ.ศ. 2565