BCG: ดีหรือไม่ อยู่มุมที่มอง

19 พ.ย. 2565 | 00:49 น.

ช่วงนี้อาจได้ยินคำว่า BCG ที่ย่อมาจาก Bio-Circular-Green ซึ่งเป็นแนวคิดที่รัฐบาลชุดนี้ใช้เป็นชื่อเรียกยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศในบริบทการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชผลทางการเกษตรให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ภายใต้เทคโนโลยีที่มีอยู่

โดยกิจกรรมทั้งหมดตลอดห่วงโซ่มูลค่านั้นต้องเป็นไปตามแนวคิดของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งแนวคิดทั้งหมดนี้ก็ไม่ใช่อื่นไกล ก็คือ ปฏิญญาของสหประชาชาติในทศวรรษที่ผ่านมา

 

ในการพัฒนาแบบยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDG) 2030 
แต่หากมองลงไปลึกอีกนิดในเป้าหมาย 17 ข้อของ SDG เราจะพบว่าสหประชาชาตินั้นต้องการให้โลกเจริญเติบโตไปข้างหน้าโดยใช้วิทยาการ นวัตกรรม

 

โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการเจริญเติบโต แต่ต้องกระจายความมั่งคั่งของการเติบโตนั้นให้กับผู้คนมากที่สุด ผ่านการสร้างโอกาสและศักยภาพให้ผู้คนที่อาจด้อยโอกาส ที่เรารู้จักกันชื่อ Inclusive Growth 

 

ที่ผ่านมา การกำหนดเป้าหมายของการเติบโตทางเศรษฐกิจจากการใช้นวัตกรรมนั้นดูเหมือนไม่ยาก เพราะทุกวันนี้นวัตกรรมใหม่ ๆ ถูกสร้างขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีใหม่ ๆ เติบโตแบบก้าวกระโดด มีการจัดการใหม่ ๆ และกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

 

ทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าเพื่อสร้างความสุขสบายให้ผู้คนในโลกนี้อย่างรวดเร็ว แต่ทั้งหมดนี้เราต้องยอมรับความจริงว่า การเดินหน้าอย่างรวดเร็วนี้เป็นผลมาจากแรงกดดันของการแข่งขันทางธุรกิจและแรงจูงใจของผลประโยชน์ตามระบบทุนนิยม

ดังนั้น กิจการหรือการทำงานเพื่อการกุศล ทำฟรีเพื่อคนอื่น จิตอาสา หรืออื่น ๆ ในรูปแบบเดียวกันนั้นอาจยังพอมีให้เห็นมากมาย แต่ก็ไปไม่ไกลหรือยากลำบากในการระดมทุน เพราะไม่เช่นนั้นคงไม่มีคนพยายามคิด “ธุรกิจเพื่อสังคม”  ขึ้นมา

 

ซึ่งมีรูปแบบที่ผสมระหว่างธุรกิจที่ต้องมีผลตอบแทนกับคนลงทุน ลงแรง ในขณะเดียวกันก็เอาผลตอบแทนบางส่วนไปเป็นทุนเพื่อประโยชน์ให้สังคมในเวลาเดียว

 

ผมว่ากระบวนการทุนนิยมดูสอดคล้องกับสันดานลึก ๆ ของมนุษย์ที่มองความสุขของตนเองเป็นสิ่งสูงสุด เราจะเห็นประเทศจีนที่ต้องยอมให้มีระบบเศรษฐกิจทุนนิยมในบางพื้นที่ของตนเอง แต่ต้องมีเงื่อนไข กติกาต่าง ๆ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อมิติอื่น ๆ เช่น สังคม ความมั่นคง ฯลฯ

 

เพราะบ้านเขาใหญ่ คนเยอะ ความแตกต่างของคนทั้งศักยภาพและโอกาสยังไม่เท่ากัน พอคนเยอะอาจสร้างปัญหาทางสังคมรุนแรง ดังนั้น เขาต้องประสานกันและให้ก้าวหน้าไปในจังหวะก้าวย่างที่เหมาะสม 

 

ยุทธ์ศาสตร์ของจีนแสดงให้เห็นอีกมุมของระบบทุนนิยม มุมที่ คาร์ล มาคส์ บอกว่าคือ “ปีศาจ” ที่จะสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้นจากคนที่เป็นเจ้าของทุน เจ้าของนวัตกรรม หรือผู้มีอำนาจควบคุมกลไกทางสังคมและเศรษฐกิจที่จะใช้ความได้เปรียบของตนเองกอบโกยผลประโยชน์เข้าตัวเอง 

 

ทำให้คนด้อยโอกาสยิ่งจมปลักอยู่กับความอดอยากและอยู่ฐานล่างสุดของสังคม ทั้งนี้ เพราะระบบทุนนิยมเป็นระบบเสรี ที่ประเทศไหนยิ่งปล่อยเสรีทางธุรกิจ ประเทศนั้นมีโอกาสของความเหลื่อมล้ำทางรายได้มาก 

 

ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจที่ประเทศทุนเสรีอย่างสหรัฐอเมริกานั้นมีดัชนี GINI Coefficient ที่ใช้วัดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของผู้คนซึ่งแย่กว่าประเทศไทยมาก แต่มีคนรวยระดับโลกมากกว่าประเทศไหนในโลกนี้ ขณะที่คนไร้บ้านก็มีจำนวนหลายล้าน แถมยังเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกเช่นกัน ความก้าวหน้าที่รวดเร็วก็มีต้นทุน

ซึ่งข้อมูลในปี 2020 ที่ธนาคารโลกรายงานนั้น บอกว่ารายได้เฉลี่ยของคน 1% ที่อยู่ยอดปิระมิดรายได้ของสหรัฐฯ (1.1 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี) สูงกว่าคนที่อยู่ 10% ล่างสุดของปิระมิด (17,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี)  

 

ต่างกันเกือบ ๆ  100 เท่า ซึ่งเราก็ยอมรับว่าความเสรีทางเศรษฐกิจผลักดันให้ความอยากกระหายของทุนนิยมที่อยู่ในใจของผู้คนทำให้สหรัฐอเมริกาวิ่งทะยานก้าวหน้าในทุกด้านทั้งวิชาการ เศรษฐกิจ นวัตกรรม และอื่น ๆ ยกเว้น ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และสังคม 

 

กลับมาที่ BCG แนวคิดที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มจากฐานชีวภาพ ธรรมชาติ หรือพืชผลทางการเกษตรให้มีค่าสูงสุดเท่าที่นวัตกรรม เทคโนโลยี ความรู้ การตลาด จะสามารถทำได้ ซึ่งแน่นอนแต่ละคน แต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน 

 

หากดูเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ จะพบว่าในสภาพปัจจุบันจากศักยภาพของผลิตผลด้านชีวภาพเบื้องต้นของไทยแล้วเราสารถสร้างมูลค่าเพิ่มในขั้นปลายได้กว่า 300 เท่า จากพืชเกษตรที่ขายไปเช่นทุกวัน หากใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีและอื่น ๆ สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ปลายทางของห่วงโซ่ในรูปต่าง ๆ ตั้งแต่สารเคมี เวชภัณฑ์ หรือผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อน 

 

ในมูลค่าทางการตลาดที่สูงสุดเท่าที่ความรู้ปัจจุบันจะไปถึง โดยทุกกิจกรรม ทุกสิ่ง ทุกอย่างต้องเดินแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน คือเก็บตก สร้างประโยชน์จากทุกชิ้นส่วน เรียกว่าจาก Waste เป็น Wealth ให้หมด และต้องไม่สร้างต้นทุนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

 

หากมองมุมที่รัฐบาลวาดไว้กับ BCG ผมว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่ดีเยี่ยมและในยุคนี้ก็ต้องเป็นเช่นนั้น เพื่อใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด เพื่อผลักดันระบบเศรษฐกิจเดินหน้าเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ แต่สิ่งหนึ่งที่ท้าทายของนโยบายนี้ คือคำถามที่ว่า “การแบ่งปันของผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ใครควรได้เท่าไร แบ่งกันอย่างไร” โดยไม่เป็นการบั่นทอนแรงจูงใจในการสร้างสรรค์ ลงทุน ออกแรงอย่างเต็มสูบตามแบบทุนนิยม

 

จากคำถามข้างต้นนั้น หากเราใช้แนวคิดระบบทุนนิยมที่ทั้งโลกใช้ทุกวันนี้ก็คือ ผลประโยชน์ที่แต่ละคนจะได้รับก็ต้องเป็นไปตามมูลค่าเพิ่มที่คน ๆ นั้นสร้างขึ้นมา ซึ่งก็ดูเป็นแนวคิดที่ถูกต้องและยุติธรรมดี คนทำ คนลงทุน คนเสี่ยง คนสร้างสรรค์มูลค่า คือคนที่ได้รับประโยชน์ในกิจกรรมนั้น 

 

ในขณะที่อีกกลุ่มอาจมองต่างออกไป โดยมองว่ากลไกของทุนนิยมไม่ยุติธรรมตั้งแต่เริ่ม เพราะแต่ละคนมีศักยภาพ ความพร้อมทั้งความรู้ ทุน และโอกาสไม่เท่ากัน ดังนั้น ต้องมีแต้มต่อในการแบ่งผลประโยชน์ เพราะตนเองก็มีส่วนในการสร้างโอกาสให้เกิดขึ้นกับคนที่เก่งกว่า ทุนมากกว่าให้สร้างมูลค่าเพิ่มนั้นได้ 

 

กลุ่มคนเหล่านี้มองเหมือนแนวคิดสังคมนิยมที่ทุกอย่างต้องแบ่งปันแม้ตนเองไม่ได้มีบทบาทใด ๆ เท่าไรถึงจะเหมาะสม เป็นเรื่องที่ยากครับ หากมองในระบบคอมมูนเหมือนสมัยคอมมิวนิสต์ที่ต้องแบ่งปันเท่ากัน ก็ดูจะดีต่อความเหลื่อมล้ำ แต่เราต้องไม่ลืมนะครับว่าในระบอบการแบ่งปันที่เท่าเทียมกันนั้น ทุกคนต้องรับความเสี่ยง ออกแรง เท่า ๆ กัน แต่ที่สำคัญ เวลาที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ”ใช้ไม่ได้” กับสันดานมนุษย์ 

 

ผมไม่รู้ว่าแบบไหนผิด แบบไหนถูก หรือแบบไหนดีที่สุด รวมทั้งการแบ่งปันผลประโยชน์แบบไหน ผมอาจถูกสร้างมาในระบบสังคมนิยมที่คิดแบบไม่มีจริต และสร้างวาทะกรรมสวย ๆ แต่ผมคิดว่าการแบ่งปันควรเกิดจากแรงที่ลงไปในกิจกรรมนั้น ตลอดห่วงโซ่มูลค่า

 

เราสามารถแยกมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นในแต่ละกิจกรรมได้ว่ามีเท่าไร และมูลค่าเพิ่มนั้น ก็ต้องถูกแบ่งให้คนสร้างทั้งหมด และหากจะแบ่งให้กับกิจกรรมอื่น ๆ ในห่วงโซ่นั้นก็เป็นไปตามกลยุทธ์และวัตถุประสงค์ทางธุรกิจเป็นสำคัญ เช่น แบ่งปันให้กิจกรรมก่อนหน้านั้นเพื่อรักษาเสถียรหรือคุณภาพของสิ่งที่ตนเองจะได้มาเพื่อทำกิจกรรมของตนเอง ตัวอย่าง อาทิ ผู้รับซื้อเมล็ดกาแฟจากผู้ปลูกกาแฟในราคาสูง หากคัดเลือกวัตถุดิบคุณภาพดี เพื่อตนเองจะได้มาสร้างเป็นกาแฟประเภทพิเศษ (Specialty Coffee) ดังนั้น คนปลูกต้องเก็บ และคัดเมล็ดอย่างดี ซึ่งทั้งหมดนี้
จะเห็นได้ว่าทุกคนต้องทำอะไรสักอย่าง และต้องเป็นกิจกรรมที่มีคุณค่าในการสร้างมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่มูลค่านั้น ๆ

 

ถ้าทำไม่ได้หรือไม่รู้ต้องทำอย่างไร หาใครช่วยหรือให้รัฐเข้ามาทำให้เราทำได้ ยังน่าจะดีกว่าออกมาน้อยใจในโชคชะตา เรียกร้องความเห็นใจ และด่าระบบทุนว่า “สามานย์”  ทั้ง ๆ ที่ทุกวันนี้โลกเราก็ถูกหมุนด้วยระบบนี้มาหลายศตวรรษแล้ว

 

และจะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกนาน เพราะส่วนใหญ่ ถูกกับจริตลึกๆ ของมนุษย์