หลุดจากเก้าอี้นายกฯ ด้วยตกเป็นบุคคลล้มละลาย!

09 ต.ค. 2565 | 02:00 น.

หลุดจากเก้าอี้นายกฯ ด้วยตกเป็นบุคคลล้มละลาย! : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,825 หน้า 5 วันที่ 9 - 12 ตุลาคม 2565

 

การตกเป็น “บุคคลล้มละลาย” ก็คือ บุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจนไม่สามารถชำระหนี้ได้!

 

และเมื่อผู้ใดตกเป็นบุคคลล้มละลายตามคำสั่งศาลแล้ว ย่อมมีผลทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เช่น ไม่สามารถทำนิติกรรมใดๆ ได้ทั้งสิ้น รวมไปถึงธุรกรรมทางการเงิน เช่น การเปิดบัญชีธนาคารการโอนเงิน/การถอนเงิน โดยจะมีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ควบคุมดูแลกิจการและทรัพย์สินทั้งหมดของบุคคลดังกล่าวแทน นอกจากนี้ ยังไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ ไม่สามารถรับราชการหรือถ้ารับราชการอยู่แล้วก็อาจจะต้องออกจากราชการ รวมไปถึงไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ เฉกเช่นนายกเทศมนตรีหนุ่มรายที่กำลังจะกล่าวถึงต่อไปนี้ครับ ...

 

เรื่องราวของนายกเทศมนตรีหนุ่ม ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีในคดีนี้มีอยู่ว่า ... เดิมผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีและพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากครบวาระ จากนั้นได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีอีกครั้งตามประกาศกรรมการสรรหาแต่งตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น/ผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฯ ที่กำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่นชุดสุดท้ายที่พ้นจากการดำรงตำแหน่งเนื่องจากครบวาระก่อนวันที่กำหนด และประสงค์จะกลับเข้าดำรงตำแหน่งมารายงานตัวต่อประธานกรรมการสรรหา และให้กลับเข้าดำรงตำแหน่งได้นับแต่วันที่มีประกาศแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารท้องถิ่น

 

 

ต่อมา ผู้ฟ้องคดีตกเป็นบุคคลล้มละลายตามคำสั่งศาลล้มละลายกลาง และผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีคำวินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามของการสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี จึงต้องพ้นจากตำแหน่งโดยผลของกฎหมาย และมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งดังกล่าว

 

 

หลุดจากเก้าอี้นายกฯ ด้วยตกเป็นบุคคลล้มละลาย!

 

 

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำวินิจฉัยของผู้ว่าฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะแม้ศาลล้มละลายกลางจะได้พิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีเป็นบุคคลล้มละลาย แต่ผู้ว่าฯ ก็ยังมิได้วินิจฉัยให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่ง จนกระทั่งต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงหลุดพ้นจากการล้มละลายและกลับคืนสู่สถานะเดิม แต่ผู้ว่าฯ กลับมีคำวินิจฉัยให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งภายหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของผู้ฟ้องคดีแล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้ตนพ้นจากตำแหน่งพร้อมทั้งคืนตำแหน่งและคืนสิทธิประโยชน์ที่ตนควรได้รับด้วย

 

คดีมีประเด็นพิจารณาว่า ... คำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด (ผู้ถูกฟ้องคดี) ที่ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีด้วยเหตุตกเป็นบุคคลล้มละลาย และศาลล้มละลายกลางได้ยกเลิกการเป็นบุคคลล้มละลายของผู้ฟ้องคดีแล้ว ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

 

 

คดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 ได้บัญญัติให้การเป็นบุคคลล้มละลายถือเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารท้องถิ่น โดยศาลได้พิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้วเห็นว่า บุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกเทศมนตรีหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 1/2557 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 85/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว นั้น ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือ ผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 อันเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเข้าดำรงตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น เมื่อศาลล้มละลายกลางได้มีคำพิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีเป็นบุคคลล้มละลาย จึงเป็นกรณีที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับความเป็นนายกเทศมนตรีของผู้ฟ้องคดีสิ้นสุดลง ซึ่งเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะสอบสวนและมีคำวินิจฉัยโดยเร็ว ตามมาตรา 48 ปัญจทศ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496

 

เมื่อต่อมา ผู้ว่าฯ ได้มีหนังสือแจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ผู้ฟ้องคดีทราบและเปิดโอกาสให้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐาน ซึ่งผู้ฟ้องคดีมิได้โต้แย้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลล้มละลายกลางที่ให้ผู้ฟ้องคดีเป็นบุคคลล้มละลายดังกล่าว จึงถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีมีลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี จึงย่อมพ้นจากตำแหน่งโดยผลของกฎหมาย ดังนั้น คำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรี จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

 

สำหรับที่ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ว่า ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติซึ่งคำสั่งดังกล่าวกำหนดให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเท่านั้น เป็นผู้มีอำนาจสั่งให้ผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่งได้นั้น ศาลเห็นว่า บทบัญญัติที่กล่าวอ้างใช้ในกรณีที่หากตรวจสอบพบว่า ผู้บริหารท้องถิ่นทุจริตต่อหน้าที่หรือหากให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจะเกิดความเสียหายต่อทางราชการหรือท้องถิ่นนั้นอย่างร้ายแรง ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้มีอำนาจสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง ส่วนการพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในกรณีอื่นซึ่งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับดังกล่าวไม่ได้กำหนดผู้มีอำนาจออกคำสั่งไว้ ย่อมต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งในกรณีของผู้ฟ้องคดีคือพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 อันเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะออกคำสั่งได้ อุทธรณ์ในประเด็นนี้ จึงฟังไม่ขึ้น

 

ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ว่า ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของผู้ฟ้องคดีแล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงไม่เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีอีกต่อไปนั้น ศาลเห็นว่า การยกเลิกการล้มละลาย ตามมาตรา135 (2) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มีผลเพียงให้ผู้ฟ้องคดีกลับมามีอำนาจจัดการทรัพย์สินได้ แต่หาได้มีผลทำให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามของบุคคลผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีและพ้นจากตำแหน่งโดยผลของกฎหมายไปแล้ว กลับมาเป็นผู้ไม่มีลักษณะต้องห้ามในการเป็นนายกเทศมนตรีแต่อย่างใด อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีในประเด็นดังกล่าว จึงไม่อาจรับฟังได้เช่นกัน

 

ดังนั้น คำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีด้วยเหตุเป็นบุคคลล้มละลาย จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว พิพากษายกฟ้อง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อร. 21/2565)

 

คดีนี้ ... ถือเป็นข้อเตือนใจที่ต้องพึงระมัดระวังในการดำเนินชีวิตของทุกคนและทุกอาชีพ เพื่อมิให้ต้องตกเป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งจะมีผลทางกฎหมายที่ตามมาหลายประการ รวมไปถึงการต้องออกจากราชการหรือต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่อันเนื่องจากเป็นหนึ่งในลักษณะต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ เช่น ตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งในกรณีที่ศาลล้มละลายได้สั่งให้บุคคลใดตกเป็นบุคคลล้มละลายแล้ว และตำแหน่งที่บุคคลนั้นดำรงอยู่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นลักษณะต้องห้ามและต้องพ้นจากตำแหน่งโดยผลของกฎหมายนั้น แม้ ว่าต่อมาศาลล้มละลายจะได้มีคำสั่งยกเลิกการต กเป็นบุคคลล้มละลาย ย่อมมีผลเพียงให้ผู้นั้นกลับมามีอำนาจจัดการทรัพย์สินของตนได้ แต่ไม่มีผลเปลี่ยน แปลงการพ้นจากตำแหน่งโดยผลของกฎหมายซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ศาลล้มละลายพิพากษาให้ล้มละลายแล้วแต่อย่างใด

 

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสืบค้นเรื่องอื่นๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)