ข้อตระหนัก 10 ประการ บนเส้นทางแห่งความยั่งยืน

27 พ.ค. 2566 | 01:30 น.

คอลัมน์ Cat out of the box ข้อตระหนัก 10 ประการ บนเส้นทางแห่งความยั่งยืน โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

journey The Sustainability : ข้อตระหนัก 10 ประการบนเส้นทางแห่งความยั่งยืน คุณผู้อ่านติดตามถามไถ่ ว่าในอดีต cat out of the box เคยมีเขียนสรุปจำพวก how to เช่นว่า วิธีไล่เขาออกอย่างถูกต้อง, กล่าวคำลาให้มันน่าประทับใจ ฯลฯ พอมีสรุปข้อคิดข้อเขียนอะไรๆเกี่ยวแก่ความยั่งยืน / ความพอเพียงมาเล่าสู่กันฟังบ้างไหม? ก็ขอประทานกราบเรียนไว้ด้วยใจมิตรว่าตลอดเวลาที่ท่องไปในปรากฏการณ์ทางสังคมเศรษฐกิจมาตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 เข้าไปรับรู้เรื่องราวหลายหลากวงการต่างๆนานามา ก็พอจะนำมาสรุปเรียบเรียงแก่ท่านได้ทำนองว่า เปนข้อตระหนักจะดีกว่า ว่าการจะยั่งยืนที่ว่านั้นมันเปนขั้นตอนสามประการ คือ ช่วงใช้ (ทรัพยากร),ส่งต่อ (ทรัพยากรและอนาคต) และรับช่วง (ไอ้สิ่งที่คนรุ่นก่อนส่งต่อมาให้) มีอะไรควรตระหนักบ้างสำหรับการเดินทางบนถนนสายนี้ ก็รวบรวมมาได้ 10 ประการ กล่าวคือว่า 
 
1. ควรต้องเรียนรู้ข้อผิดพลาดในอดีตก่อน เราทั้งหลายในถนนสาย how to มักตามหาต้นแบบสำเร็จรูป_แนวปฏิบัติที่ดีที่สุด แล้วลอกเลียน, ขออภัย, ทำตาม แทนที่เราจะศึกษาจากข้อผิดพลาดในอดีตของเราเอง, ระบุตัวแปรแห่งความล้มเหลวนั้น แล้วลงมือแก้ไขโอกาสทำสำเร็จมีสูงกว่ามาก การเดินถนนสายความยั่งยืนเปนอย่างนั้น ควรหาเรียนรู้ข้อผิดพลาดในอดีตกันก่อน

2. ควรต้องเปิดใจยอมรับข้อผิดพลาดที่ว่านั้น การทำผิด มันมีโทษ คนจึงไม่ค่อยจะยอมรับว่าทำผิด_กลัวโทษทัณฑ์ หลายครั้งปัญหาเกี่ยวแก่ความยั่งยืนแก้ไม่ได้ ด้วยปมเหตุนิดเดียวคือการไม่ยอมรับว่าสิ่งที่ได้ทำลงไปแล้วในอดีตนั้น_ผิดพลาด คนเราพลาดกันได้ to err is human, to forgive, divine. - ภาษิตฝรั่งว่า บ่งนิยามความหมายเกิดเปนคนทำผิดพลาดกันได้เสมอ การอภัยจะเกิดขึ้นง่าย หากว่า สำนึกผิด ว่าผิดไปแล้ว โดยเฉพาะการผิดที่ว่านั้นมีความพลาดเปนต้นเหตุ การยอมรับว่า _ผิดพลาดไปแล้ว นำมาซึ่งความคิด ‘ร่วมกัน’ ในการแก้ไขปัญหาให้ยั่งยืนต่อไป
 
3. งานบีบบังคับ ไม่เคยสำเร็จผลในระยะยาว ทรรศนะในการมองสถานการณ์อย่างที่มันเปน (what it is) มีความสำคัญ ตลอดหลายพันปีมนุษยชาติไม่มีความเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจแต่อย่างใด โลภ_มีเหมือนเดิม, หลง_มีเหมือนเดิม ยังไม่รวม ตระหนี่_เห็นแก่ตัว เข้าไปอีกพระท่านว่า อ้อ มัน ตถตา_มันเปนเช่นนั้นเอง แล้วก็กลับเข้ากุฏิสวดมนต์ต่อไป 
 
ดังนั้นการเที่ยววางมาตรการบีบบังคับ_ออกคำสั่ง เพื่อหวังใจให้ปัญหาได้รับการแก้ไข โดยไม่ใส่ใจกับพื้นฐานดังว่า ก็จะเหมือนเอามือเหล็กบีบผลกล้วยท้ายแล้วมวลกล้วยเละจะเล็ดออกตามร่องมือ เพราะงานบังคับออกคำสั่งมันฉาบฉวยการออกแบบระบบแรงจูงใจ (incentive system)ได้ผลมากกว่า โดยเฉพาะว่า ต้องทำอย่างปราณีต ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นทั้งคนช่วงใช้ คนส่งต่อ คนจะรับช่วง

4. ความยากจนไม่ใช่อุปสรรคของการพัฒนาอย่างยั่งยืน, ความโลภต่างหากล่ะ ความโลภ ทำให้หลง_หลงลืม จะฉุกคิด ตัวโลภนี้พาคนให้ตั้งหน้ากอบโกยเอาผลประโยชน์ระยะสั้น เข้าพกเข้าห่อของตัว เข้าพกของหน่วย เข้าห่อของชาติ สาวได้สาวเอาเสียก่อน เรื่องอื่นไว้คิดทีหลัง โลภมากๆเข้าแล้วก็โยนความผิดให้ความยากจน ว่ามันเปนต้นเหตุความอัปมงคลในสังคมเศรษฐกิจ 55 รวยมาก_มีแต้มต่อมาก,โลภมาก ก็เปนยังงี้
 
อันว่าความขัดสนเงินตราในคนๆหนึ่ง ไม่ลบศักดิ์ศรีความเปนมนุษย์ในตัวเขาฉันใด คนยากจนเงินตราที่ไม่โลภยังมีอยู่ฉันนั้น คนเมื่อโลภน้อยก็เบียดเบียนผู้อื่นน้อย อยู่เปนสุข ไม่เปนอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาอย่างยั่งยืนแต่อย่างใด
 
5. บริโภคโดยยั่งยืน แท้แล้วนำไปสู่ การผลิตที่ยั่งยืน ในระบบทุนนิยม การผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเปนหัวใจสำคัญที่ทำให้วงจรทางเศรษฐกิจขับเคลื่อนไป โดยทั่วไปแล้วความต้องการของผู้บริโภคมีไม่จำกัด ทำให้ผู้ผลิตต้องดิ้นรนนำเสนอเพื่อตอบสนองผู้บริโภค ผลิตมากจนล้นเกิน ผลิตไม่ทันความต้องการ ผลิตจนผลาญทรัพยากร ผลิตจนตกค้าง แล้วทุกคนก็เดินหน้าแก้ปัญหาการผลิต ลืมแก้ปัญหาการบริโภค จำกัดและจัดการกับความต้องการ กิน เสพ ใช้สอยล้นเกินของฝ่ายบริโภค 
 
6. มายาคติของเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าความเห็นผิดเปนบาป การนำความเห็นผิดไปใช้ไปขยายผล_ยิ่งบาปหนัก ระบบราชการหลายคราวนำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ผิดๆ จึงขอแสดงความจริงของ (หลักปรัชญาของ) เศรษฐกิจพอเพียง ว่า ศก. พอเพียงไม่ใช่ปิดประเทศ ทำอยู่ทำกินเลิกการค้าขาย, ศก. พอเพียงไม่ใช่จะไล่คนออกจากเมืองไปทำนาทำไร่, เพราะ ศก. พอเพียงไม่ได้ห้ามฉลาด ไม่ได้ห้ามใช้เทคโนโลยี ตรงข้ามกลับส่งเสริมให้แสวงหาความรู้ ทำนวตกรรม คิดค้น เชื่อมโยง สร้างสรรค์และต่อยอด เพื่อความผาสุกของชีวิต ทั้งชีวิตบุคลล และชีวิตองค์การ
 
ดังนี้ เศรษฐกิจพอเพียงจึงไม่ใช่เรื่องสุดโต่ง อย่างว่าทุกบ้านต้องผลิตอาหารเอง ทอผ้าใส่เอง “อย่างนั้นมันเกินไป*”

และ “พอเพียงนี้อาจจะมีมากมีของหรูหราก็ได้แต่ต้องไม่เบียดเบียนคนอื่น**”
 
ทว่าด้วยระบบเศรษฐกิจกระแสทุนที่ครอบคลุมอยู่ทั่วโลก  และ การขาดความพยายามที่จะทำความเข้าใจให้ลีกซึ้งในหลักการของเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้การดำเนินการส่งเสริมหรือนำไปใช้ หยุดที่รูปแบบ ปลูกผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ในทางเกษตรกรรมเท่านั้น มิได้ถูกนำไปใช้อย่างรอบด้านและเชื่อมโยงเปนวงจร ในงานฝ่ายยั่งยืน ภายใต้แนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ภาคธุรกิจจะไม่เร่งสร้างการเติบโตของกำไรสูงสุดโดยไม่สนใจผลกระทบที่อาจก่อให้เกิดวิกฤตตามมา เพราะจะคำนึงถึงความมั่นคงของบุคคลากร ชุมชน สังคม (stakeholder) ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม อันจะทำให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างสมดุลในระยะยาว


 
ในเศรษฐกิจมหภาค แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงกระตุ้นเตือนให้ใช้ทรัพยากรอย่างบันยะบันยัง ให้ตระหนักถึงความไม่จำเปนของการมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มาจากการอัดฉีดของทุนระหว่างประเทศขนาดมหึมา ตอกย้ำให้การวางนโยบายสาธารณะเห็นความจำเปนของระบบตาข่ายรองรับทางสังคม (social safety net) แบบมีส่วนร่วมและลดการพึ่งพาฝ่ายเดียว นำไปสู่การลดหนี้สินภาคครัวเรือน และหากลงมือทำจริงจัง กลับจะได้เงินออมเพิ่มพูนขึ้น อันเปนการสร้างความเข้มแข็งทางการเงินจากภายใน เพื่อใช้ในการบรรเทาปัญหา ช่องว่างของการออมและการลงทุน (saving investment gap) ที่เคยเปนชนวนเหตุความพินาศล่มสลายทางเศรษฐกิจในทศวรรษ 2540 อันจะส่งผลโดยอัตโนมัติถึงการชดเชยดุลการค้าที่ขาดดุลกลับมาได้ดุล และเมื่อถึงจุดหนึ่งทำให้มาตรการตอบโต้หรือกีดกันทางค้าอันนานาชาติไม่ยอมรับหมดผลกระทบจนไร้สำคัญไปโดยปริยาย 
 
* พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร์ มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช 4 ธันวาคม 40
 
** พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร์ มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช 5 ธันวาคม 41
 
7. ทุนทางสังคมมีผลมากสำหรับงานยั่งยืน นักลงทุนเขามี portfolio ทำเปนช่องตารางไว้บริหารความเสี่ยงการลงทุน ทุกกิจการวันนี้สั่งสมแต่ทุนที่เปนตัวเงินถ่ายเดียวไม่พอ ควรได้หันมาสะสมทุนทางสังคมกันบ้าง เพื่อประโยชน์แห่งความไว้เนื้อเชื่อใจ เพื่อนำไปสู่โอกาสแห่งความช่วยเหลือร่วมมือ เพื่อนำไปสู่ความพร้อมร่วมรับมือกับปัญหาที่เปลี่ยนหน้ามาใหม่ๆจนเดาใจเดาทางไม่ถูก
 
8. ทุนมนุษย์เท่านั้นจะรับมือความพินาศ Disruption ทรรศนะของโลกต่อ’คน’เคลื่อนที่เปลี่ยนผ่านทุกทศวรรษ ปี2530 คน= แรงงาน 2540 แรงงาน ถูกขนานนามใหม่ว่า บุคคลากร ต้องมีสวัสดิการดูแล 2550 บุคคลากร กลายเปนทรัพยากรมนุษย์ ต้องลงทุนพัฒนา 2560 ทรัพยากรมนุษย์ ไม่พอ ต้องพัฒนาให้ถึง ทุนมนุษย์ ในนิยามความหมายไป “ลง” ทุนมนุษย์ที่ไหนมีแต่ดอกผลงอกเงย ภาวะ disruption ที่เกิดขึ้นแล้วสองทศวรรษก่อน ในนาม creative destruction มีเพียงทุนมนุษย์เท่านั้นที่ creative สร้างสรรค์ หยิบจับใช้สอยพัฒนาเทคโนโลยี นวตกรรม พอจะรับมือปรากฏการณ์ไล่ล่า disruption ชนิดนี้ 
 
องค์กรใดยังมีทัศนคติลักษณะแรงงานอยู่_ไม่ยั่งยืนเสียแล้ว องค์กรใดยังมีการจัดการลักษณะบุคคลากรอยู่ไม่ยั่งยืนเสียแล้ว องค์กรใดผู้คนยังมีลักษณะทรัพยากรมนุษย์อยู่_ไม่ยั่งยืนเสียแล้ว เพราะไม่ทันกับการเปลี่ยนไปของอนาคต
 
9. ไม่มีใครได้อะไรไปทั้งหมดในงานฝ่ายความยั่งยืน No winner takes all
 
ประเด็นสำคัญในงานยั่งยืนคือ ความสมดุล (Balance) กับลำดับขั้น (Steps) ทุกคนทุกฝ่ายมีทรัพยากรจำกัด ไม่มีใครเสกอะไรได้ทันควันโดยไม่เสียอะไร ขาดทุนตัวเงิน กำไรตัวคนก้าวไปช้า แลกเอาว่ามั่นคง ท่านจะได้ยินปรัชญาทำนองนี้เสมอๆ ไม่มีใครได้อะไรไปทั้งหมด
 
10. ความจริง_เจ็บปวด Truth hurts งานยั่งยืนมีภาระสำคัญส่วนสุดท้ายคือการ’ส่งมอบ’ แก่อนุชนรุ่นหลัง 
 
บอกความจริงแก่ปวงเขาและเธอเถิด ว่าไม่มีองค์กร องค์การใดอยู่ฝืนยืนยงท่ามกลางพลวัตกระแสพายุคลื่นลมโหมหระหน่ำ การจะหวังพึ่งพิงองค์การให้ช่วยพยุงความอ่อนแออันเกิดแต่ความหวังจะสุขสบาย หากจะมีได้ก็เพียงแต่สัมปรายภพ
 
วันสัมภาษณ์งาน อย่าถามเขาถึงทัศนคติอะไรๆ อย่างที่เคย บอกเขาว่าถึงความจริงนี้: บอกเขาว่าเราหวั่นไหว บอกเขาว่าเราอาจไปไม่รอด บอกข่าวร้ายขององค์กร_จะคัดคนที่ ‘ไม่พร้อม’ ออกไปได้มาก จากกระบวนการสร้างความยั่งยืน
 
อ้าว_ก็ตัวเองยังดูแลไม่ได้ แล้วหวังอะไรกับที่จะให้มารับช่วงดูแลองค์กร?

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 หน้า 18 ฉบับที่ 3,891 วันที่ 28 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2566