ความสุขของการได้อยู่ร่วมกันของผู้สูงวัย

02 ธ.ค. 2565 | 20:00 น.

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปดูงานที่ไต้หวัน เกี่ยวกับบ้านพักคนวัยเกษียณ ซึ่งต้องยอมรับว่ากลุ่มทุนใหญ่ที่ไต้หวันเขาให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุมาก จะเห็นได้ว่ากิจการประเภทนี้ในไต้หวัน ที่มีอันดับต้นๆ ของเขา ผู้อยู่เบื้องหลังที่เขาเปิดเผยตัวจริงออกมา ล้วนแต่เป็นกลุ่มนายทุนใหญ่ของไต้หวันเกือบทั้งสิ้นครับ นั่นแสดงว่าเขามองเห็นถึงความสำคัญของผู้สูงอายุจริงๆ 
     

ช่วงที่ผมไปดูงานที่นั่น เป็นช่วงที่เริ่มเข้าฤดูหนาวของเขาแล้ว เทศกาลคริสต์มาสก็เริ่มใกล้เข้ามา ร้านรวงถนนหนทางก็เริ่มประดับประดาด้วยแสงสีต่างๆ มากมาย แน่นอนว่ากิจการของบ้านพักผู้สูงอายุ ก็ได้เริ่มเข้าสู่ฤดูไฮซีซั่นพอดี 


เนื่องจากชาวไต้หวันที่พำนักอยู่ประเทศอเมริกา แคนนาดา และประเทศอื่นๆ ทุกปีในฤดูกาลนี้ มักจะต้องเดินทางกลับมาที่ไต้หวัน เพื่อหลบอากาศหนาวของประเทศแถบเมืองหนาวกัน ซึ่งมักจะมาพำนักกันเป็นระยะเวลานานถึงสอง-สามเดือนเลยทีเดียวครับ

ปีนี้เป็นปีแรกที่เริ่มเปิดประเทศของเขา หลังจากที่ปิดประเทศเนื่องจากโรคร้ายโควิด-19 มาสอง-สามปี อีกทั้งปีนี้เป็นปีที่มีการเลือกตั้ง 9 ประเภทของไต้หวัน ที่มีทั้งเลือกตั้งระดับท้องถิ่น และที่สำคัญที่สุดคือการลงประชามติ ที่จะยอมให้เยาวชนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป สามารถลงกาบัตรเลือกตั้งได้หรือไม่ ดังนั้นจึงคึกคักเป็นพิเศษกว่าทุกปี ทำให้บ้านพักผู้สูงอายุ จึงคึกคักเป็นพิเศษไปด้วยนั่นเอง
      

บางท่านอาจจะมีคำถามว่า “แล้วมันเกี่ยวอะไรกับบ้านพักคนชราละ” ผมต้องบอกว่าเกี่ยวตรงๆ เลยครับ เพราะคนที่ไปอาศัยอยู่ต่างประเทศนานๆ มาแล้ว มักจะไม่มีบ้านของตนเองอยู่ที่ไต้หวันแล้วครับ เพราะส่วนใหญ่จะขายบ้านของตนเองที่ไต้หวันทิ้ง เพื่อย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศ 

 

แต่อย่างไรก็ตาม ตนเองก็ยังคงมีญาติและเพื่อนฝูงหลงเหลืออยู่ที่ไต้หวัน เนื่องจากบ้านหรือที่อยู่อาศัยในไต้หวัน ส่วนใหญ่จะเป็นบ้านที่เป็นห้องชุดหรือคอนโดมิเนียม ดังนั้นบ้านญาติก็จะมีห้องว่างไม่เพียงพอต่อการที่จะรองรับญาติๆ ที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่นให้มาพักร่วมกันได้ 

ในขณะที่ห้องพักที่โรงแรม ราคาก็ไม่ได้เหมือนประเทศไทย ที่มีราคาโรงแรมถูกที่สุดในโลก คืนละไม่ถึงพันบาทยังมีเลย แต่ที่นั่นอย่างถูกๆ ก็สองพัน-สี่พันบาท ในขณะที่เขาเหล่านั้นส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีวัยสูงอายุเสียส่วนมาก 


ทางเลือกในการเข้ามาพำนักที่บ้านพักผู้สูงอายุ จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะค่าใช้จ่ายต่อเดือน เอาเฉพาะห้องพักเพียวๆ ก็แค่ประมาณเดือนละ 6-7 หมื่นบาทเท่านั้น ห้องก็แสนสะดวกสบาย แถมมีการดูแลดุจดังผู้สูงอายุเหล่านั้นเป็นญาติผู้ใหญ่ของตนเอง จึงทำให้มีลูกค้าเหล่านี้ เลือกใช้สถานที่ดังกล่าว เป็นที่พำนักทุกปีที่เดินทางกลับมาไต้หวันนั่นเองครับ
      

การไปดูงานครั้งนี้ของผม ทำให้ได้เห็นการพัฒนาการของธุรกิจนี้เพิ่มมากขึ้น จากเดิมทีเมื่อห้าปีก่อน กิจการบ้านพักผู้สูงอายุที่ไต้หวัน เมื่อเทียบกับของญี่ปุ่นเขา จะตามหลังอยู่หลายปีเลยทีเดียว แต่มาวันนี้เริ่มมีกลุ่มนายทุนใหญ่กระโดดเข้ามาในธุรกิจนี้มากขึ้น ทำให้การแข่งขันจึงเพิ่มมากขึ้น 


ในขณะที่แรงงานหรือผู้บริบาลในไต้หวันเอง ก็เริ่มมีปัญหาขาดแคลนมาก เหตุเพราะที่ผ่านมาสองปีกว่า ไต้หวันต้องปิดประเทศเพื่อหนีโควิด-19 เหมือนประเทศอื่นๆ ทำให้เดิมทีแรงงานก็ไม่ค่อยจะเพียงพออยู่แล้ว ยิ่งขาดแคลนหนัก แรงงานต่างชาติทั่วไป ที่มักจะเป็นชาวแรงงานเวียดนาม ไทย ฟิลิปปิน และอินโดเนเชีย จากเดิมจะจ้างกันในอัตราเดือนละ 35,000 NT$ แต่วันนี้ต้องมี 45,000 NT$ จึงจะสามารถจูงใจแรงงานให้มาทำงานได้ 


ในขณะที่แรงงานประเภทผู้บริบาล แรงงานทั่วไปที่ไม่มีใจรักจริงๆ มักจะไม่ค่อยอยากทำ เพราะเป็นงานที่หนักมาก ค่าแรงก็งั้นๆ ไม่ได้พิเศษมากกว่าอาชีพอื่น ส่วนใหญ่แรงงานต่างชาติที่มีใจรักในอาชีพนี้ จึงสมัครใจไปเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุที่บ้านเสียมากกว่า 


เราอาจจะถามว่า “แล้วมันต่างจากการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านพักผู้สูงวัยตรงไหน” ต้องบอกว่าต่างครับ เพราะดูแลที่บ้าน อย่างมากก็ดูแลแค่สองคนคือคุณตา-คุณยาย หรือถ้าบ้านนั้นเหลือคนแก่แค่คนเดียว ก็ดูแลแค่คนเดียว ในขณะที่ในบ้านพักผู้สูงวัย อาจจะต้องดูแลมากถึง ห้าคนต่อหนึ่งคนเลยครับ 
         

ส่วนสถานบ้านพักผู้สูงวัยที่ไต้หวัน ปัจจุบันนี้ทางการของเขาได้ให้ความสำคัญมาก มีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้ามาสู่ธุรกิจนี้ ด้วยการยกเว้นภาษี ทั้งเงินสนับสนุนผู้ประกอบการ และส่งนักสังคมสงเคราะห์ เข้ามาช่วยผู้ประกอบการดำเนินกิจกรรมด้านสุขภาพ และกิจกรรมด้านสันทนาการอีกด้วย 


ในวันนั้นเขาได้นำเราไปดูกิจกรรมที่เขากำลังสอนให้ผู้สูงอายุ ทำกายภาพบำบัดแบบง่ายๆ ด้วยการยกแขนยกมือ เขย่าบ่าไหล่ ก็เหมือนกายภาพทั่วๆไป ผมจึงพูดกับผู้ที่พาไปเยี่ยมชมว่า ผู้สูงอายุเขาให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมดีมากเลยนะครับ 


เขาบอกด้วยความภาคภูมิใจว่า ผู้สูงอายุที่เห็น ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการที่เกษียณอายุแล้ว บ้างท่านเป็นถึงคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย แรกๆ นักกิจกรรมที่เป็นนักสังคมสงเคราะห์ ก็เป็นห่วงว่าเขาจะไม่ยอมทำตาม แต่ที่ไหนได้ผู้สูงวัยทุกคน ต่างก็มีความสุขในการได้ทำกิจกรรมร่วมกัน 
    

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงวัยมีความสุข ผมเชื่อว่ามาจากกิจกรรมของกลุ่ม และการได้อยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะที่มีแนวคิดหรือสถานะที่ไม่แตกต่งกันมาก เป็นส่วนทำให้ทุกคนรู้สึกอบอุ่นใจ ในการได้อยู่รวมกลุ่มกัน เสมือนการออกค่ายของนักเรียนนักศึกษานั่นแหละครับ และการได้กลับมาสู่มาตุภูมิ อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีที่ไหนจะอบอุ่นเหมือนบ้านเราเองแล้วละครับ