ขอโทษ คือคุณธรรมของคนดี

21 ก.ค. 2564 | 21:30 น.

คอลัมน์ ทำมา ธรรมะ โดย ราช รามัญ

สิ่งที่ ผู้คนทั้งหลายชื่นชม คือ การทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ผิดพลาดต่อผู้อื่น แล้วรู้จักการกล่าวคำว่าขอโทษวิญญูชนทั้งหลายย่อมให้ความชื่นชมและยกย่อง

เพราะคำว่าขอโทษนี้นอกจากเป็นคำที่ผู้กระทำผิดนั้น รู้จักการยอมรับและสำนึกได้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นผิดพลาดแล้ว ยังนับเป็นคุณธรรมของคนดี ที่ว่าดี คือดีทางด้านจิตใจ เพราะการยอมรับว่าตนทำผิด เป็นเครื่องหมายของคนดีจริงๆ 

ในครั้งพุทธกาล พระสงฆ์ธรรมดาที่ยังไม่บรรลุธรรมอะไร แล้วกระทำผิดพระพุทธเจ้าก็ทรงตักเตือนบ้าง พระภิกษุนั้นท่านก็ยอมรับในความผิดนั้น พระพุทธเจ้าก็บัญญัติมาเป็นพระธรรมวินัยในคราวหลัง หรือที่เรียกว่ากฏข้อห้ามต่างๆที่พระมิควรปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติถือว่าผิด

เมื่อพระผู้ทำผิดนั้นได้ยอมรับแล้วก็มีการให้อภัยจากพระสงฆ์ผู้ที่มีอายุสูงกว่า เรียกว่า พิธีปลงอาบัติ ในปัจจุบัน

ผู้นำทุกระดับชั้น ที่เป็นคนดีจริงๆเมื่อทำผิดมักจะกล่าวคำว่า ขอโทษอย่างสุภาพ อาทิ รัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี ของประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือ ญี่ปุ่น

เมื่อทำอะไรที่ผิดพลาดจะรีบออกมาแสดงความรับผิดชอบ ขอโทษต่อประชาชนของเขาทันที 

โดยเฉพาะถ้าเราเป็นชาวพุทธ ยิ่งควรตระหนักรู้ด่วยจิตสำนึกด้วยซ้ำว่า สิ่งที่เราทำอยู่นี้ หากผิดพลาดควรรีบขอโทษ  เพราะการยอมรับผิดเป็นรากฐานแห่งคุณธรรมทั้งปวงของคนดี  

ถ้าเราพบเจอใครสักคนในสังคมที่บอกว่าตัวเองเป็นคนดี แต่ทำอะไรผิดพลาดแล้ว ไม่รู้จักยอมรับ ไม่รู้จักกล่าวคำว่า ขอโทษ  ขอให้ลองไตร่ตรองดูใหม่ว่า จริงหรือไม่ที่กล่าวว่าเขาคือคนดี 

เราควรสอนลูกหลานให้รู้จักกล่าวคำว่า ขอโทษ ซึ่งเป็นการยอมรับผิด และสอนให้ลูกหลานรู้จักคำว่สให้อภัยต่อผู้ที่ยอมรับผิดนั้นด้วย  ชีวิตสังคมก็จะมีแต่ความสุขสวัสดีร่มเย็นตลอดไป