ESG และธุรกิจเฮลท์แคร์…CARE อย่างยั่งยืน (จบ)

31 ธ.ค. 2565 | 22:27 น.

Healthcare Insight ธานี มณีนุตร์ [email protected]

ธุรกิจโรงพยาบาลกับสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ออก

 

การดูแลสุขภาพควบคู่กับการใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Environment) เป็นปัจจัยที่ต้องตระหนักเช่นกัน เนื่องจากสิ่งแวดล้อมจะดีหรือไม่ดี ล้วนมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตและสุขภาพของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในวงการการแพทย์เอง ก็ยังมีประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับการให้บริการทางการแพทย์ ที่ต้องคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัย ที่มาพร้อมกับการผลิตขยะเป็นจำนวนมากที่เกิดจากกระบวนการการรักษา

ESG และธุรกิจเฮลท์แคร์…CARE อย่างยั่งยืน (จบ)               

โดยจะเห็นได้ว่า ในปีหนึ่งๆ โรงพยาบาลต่างๆ ไม่เพียงแต่ในประเทศไทย แต่เป็นโรงพยาบาลทั่วโลก ผลิตขยะเป็นจำนวนมาก และมีขยะกลุ่มหนึ่ง ถูกจัดให้เป็นขยะติดเชื้อและต้องเข้าสู่กระบวนการการทำลาย ตามมาตรฐานทางการแพทย์ของประเทศนั้นๆ เช่น ในประเทศไทย ขยะติดเชื้อจะต้องถูกนำเข้าสู่กระบวนการการเผาทำลาย โดยโรงพยาบาลที่เป็นผู้ให้บริการการดูแลรักษา มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการทำลายขยะติดเชื้อดังกล่าว

              

สำหรับโรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ซึ่งปัจจุบันมีโรงพยาบาลทั้งหมด 12 แห่ง เปิดดำเนินการแล้ว 11 แห่ง ใน 10 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ เป็นผู้นำร่องโครงการแยกขยะไม่ให้ติดเชื้อ โดยการเก็บฝาวัคซีนและปลอกเข็มพลาสติก ซึ่งร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับบุคลากรทางการแพทย์ผู้ให้บริการวัคซีน โควิด-19 ในช่วงที่ประชาชนต้องเข้ารับวัคซีนเป็นจำนวนมาก

 

โดยบุคลากรทางการแพทย์ ช่วยกันนำส่วนที่เหลือจากกระบวนการการฉีดวัคซีนที่ไม่ได้สัมผัสกับผู้ป่วย ได้แก่ ฝาวัคซีนและปลอกเข็มพลาสติก ซึ่งมีปริมาณหลายกิโลกรัมในแต่ละวัน ซึ่งขยะเหล่านี้ ด้วยตัวมันเองไม่เป็นขยะพลาสติกติดเชื้อ และเมื่อเราจัดการแยกขยะออกมาก่อนได้ ก็สามารถช่วยลดปริมาณขยะติดเชื้อลงได้อีก

              

ทำให้ช่วยลดต้นทุนการจัดเก็บและเผาทำลายขยะติดเชื้อ และในขณะเดียวกัน เรายังได้พลาสติกจำนวนหนึ่งเพื่อเอาไปเข้าสู่กระบวนการ Recycle and upcycling เปลี่ยนพลาสติกเหล่านั้นมาเป็นโต๊ะ เก้าอี้ พรมเช็ดเท้า ผ้าม่านผู้ป่วย เป็นต้น และความคิดริเริ่มดังกล่าว ไม่ใช่เป็นเพียงโมเดล แต่เป็นโครงการนำร่องของโรงพยาบาลของเราที่ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ เรายังประสานความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการเดินหน้าเพื่อบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพผ่านโครงการ Care the whale ขยะล่องหน ตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน

 

ธุรกิจโรงพยาบาล เป็นธุรกิจการให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง นั่นหมายความว่า เป็นธุรกิจที่ใช้พลังงานเยอะมาก ดังนั้น อีกเป้าหมายหนึ่งของโรงพยาบาลของเรา ก็คือ การใช้พลังงานสะอาด โดยการติดตั้งโซล่ารูฟท็อป รวมทั้ง เร็วๆ นี้ จะมีการติดตั้งสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV Charging Station

 

เพื่อให้บริการกับผู้ที่เข้ามารับบริการภายในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโมเดลการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจโรงพยาบาล ควบคู่กับการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และยังเป็นการลดภาระด้านค่าไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในภาพรวม

              

ตัวอย่างเหล่านี้ เป็นเพียงกิจกรรมส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ในทุกธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจโรงพยาบาลนั้น ได้ผสมผสานมิติของการพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้าไปกับการดำเนินธุรกิจ โดยสามารถแบ่งเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมาย เพื่อให้แน่ใจว่า ภายในปี 2573 โลกของเราจะดีและน่าอยู่ขึ้น เป้าหมายเหล่านี้ไม่ได้เป็นหน้าที่ของธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง แต่พวกเราทุกคนก็สามารถมีส่วนร่วมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกๆ มิติได้เช่นกัน

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,846 วันที่ 22 - 24 ธันวาคม พ.ศ. 2565