Work From Home Syndrome ภัยเงียบจากการทำงานจากบ้าน

14 ต.ค. 2565 | 07:25 น.

Healthcare Insight

การทำงานออฟฟิศที่ต้องเดินทางฝ่ารถติด ออกจากบ้านแต่เช้ากว่าจะกลับถึงบ้านก็ดึกดื่นพร้อมเข้านอนพอดี ชีวิตที่แทบไม่ได้ใช้เวลาอยู่บ้านอย่างจริงจัง แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เจ้าไวรัสโควิด-19 ได้มาปรับเปลี่ยนวิถีการทำงาน โดยเฉพาะช่วงล็อคดาวน์ที่เกือบทุกบริษัทมีนโยบายให้พนักงานทำงานจากบ้านหรือ work from home ซึ่งเป็นเทรนด์การทำงานทางเลือก ซึ่งทุกคนไม่ได้เตรียมตัวเพื่อทำงานที่บ้าน และบางคนไม่อยากทำงานที่บ้านด้วยซ้ำ

 

แต่ถูกบังคับโดยสถานการณ์ “โควิด 19” เพราะออกไปไหนต่อไหนไม่ได้ แต่ก็มีหลายๆ คนแอบนึกชอบอยู่ในใจว่าทำงานที่บ้านก็ดีเหมือนกัน เพราะไม่ต้องเสียเวลาไปกับการเดินทาง เอาเวลาส่วนต่างเหล่านั้นไปทุ่มให้กับการทำงานได้อย่างเต็มที่ แถมช่วงพักกลางวันก็มีเวลาอยู่กับครอบครัว และยังพอแบ่งเวลาไปออกกำลังกาย ปลูกต้นไม้ และทำนู่นทำนี่อีก

Work From Home Syndrome ภัยเงียบจากการทำงานจากบ้าน

แต่ work from home มันจะดีงามอย่างนั้นจริงๆ หรือ?

อยู่ออฟฟิศ เราก็มีความเสี่ยงกับภาวะ office syndrome แต่ทำงานจากบ้าน ก็ไม่น้อยหน้านะครับ เพราะเราก็จะเจอกับภัยสุขภาพจาก work from home syndrome เช่นกัน ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ว่า ระยะหลังโควิด-19 คลี่คลายลง ธุรกิจกายภาพบำบัดกลับได้รับความนิยมมากในหมู่มนุษย์เงินเดือนที่ไม่ใช่กลุ่มทำงานออฟฟิศ แต่กลับเป็นกลุ่มที่ทำงานจากบ้าน เพราะเราสามารถนั่งทำงานจากตรงไหนก็ได้ของบ้าน โดยเราอาจจะนั่งที่โต๊ะอาหาร โซฟารับแขกหรือสบายหน่อยก็เลื้อยตัวทำงานบนเตียงนอนทั้งวันไปเลย

 

ส่วนโต๊ะหรือเก้าอี้ที่มีอยู่ ก็ไม่เอื้ออำนวยหรือเหมาะสมกับการนั่งประชุม/ทำงานในท่าเดิมๆ นานๆ โดยเราไม่รู้ตัว พอเผลอตัวไปหน่อย ก็รู้สึกว่าตัวเองกำลังผจญความเจ็บป่วยจากกลุ่มอาการเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและกระดูกไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งประเภทมีอาการปวดเมื่อยที่พอจะป้องกันหรือบรรเทาอาการได้โดยการกายภาพบำบัด ไปจนถึงประเภทอาการรุนแรงที่พบบ่อยจากการนั่งผิดท่าเป็นเวลานานๆ นั่นคือภาวะหมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาท

 

ลองนึกภาพตามนะครับ แนวกระดูกสันหลังของคนเราจะประกอบไปด้วยตัวกระดูก และมีหมอนรองกระดูกคั่นอยู่ในแต่ละชั้น ทำหน้าที่ช่วยในการรับน้ำหนักของร่างกาย เหมือนเป็นตัวประคองระหว่างชั้นของกระดูกสันหลังเพื่อให้สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างยืดหยุ่นโครงสร้างส่วนใหญ่ของหมอนรองกระดูกประกอบด้วยน้ำ คอลลาเจน และส่วนประกอบอื่นๆ เช่น โปรตีน และเจ้าหมอนรองกระดูกนี้

 

มีความพิเศษเฉพาะคือเป็นส่วนประกอบของร่างกายที่ไม่มีเลือดเข้าไปหล่อเลี้ยงโดยตรงเพื่อแลกเปลี่ยนสารอาหาร ออกซิเจน และของเสีย แต่จะใช้แรงดันของกระดูกที่กดมาที่ตัวหมอนรองกระดูกขณะที่เราเคลื่อนไหวร่างกายในการแลกเปลี่ยนสารอาหารระหว่างกัน ส่งผลให้กระบวนการซ่อมแซมตัวเองของมันไม่ค่อยดีนัก จึงเป็นเหตุผลว่าเมื่อใดก็ตามที่ร่างกายของเรามีอาการหมอนรองกระดูกปลิ้น นั่นหมายความว่า มันอาจเป็นจุดเริ่มต้นความเสื่อมของกระดูกสันหลังแบบหนึ่งก็ได้

              

โรคหมอนรองกระดูกปลิ้นทับเส้นประสาท รักษาได้หลายวิธีตั้งแต่การรักษาโดยไม่ใช้ยา (กายภาพบำบัดและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม) การใช้ยา (กินยาหรือฉีดยา) จนถึงการผ่าตัดที่เป็นทางเลือกสุดท้าย แม้จะมีวิธีการรักษาฟื้นฟูอยู่มากมายจนหายแล้วก็อาจกลับมาเป็นซ้ำได้ หากยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง และอย่าลืมว่า ร่างกายของคนเรานั้นก็เสื่อมถอยไปตามเวลาและอายุ และสิ่งที่น่าห่วงไปกว่านั้น คือรูปแบบการใช้ชีวิตอย่างไม่ระมัดระวัง มีส่วนทำให้อวัยวะหรือชิ้นส่วนบางอย่างในร่างกายของเรานั้นทรุดโทรมหรือเสื่อมก่อนวัยอันควร

    

เมื่อวิกฤตโควิด 19 คลี่คลายจนผ่านพ้นการระบาดไปแล้ว ก็จงอย่าปล่อยให้ตัวเรากลายเป็นคนทำงานที่ไม่มีคุณภาพจากการนอนไม่หลับ ประสบภาวะน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคกระดูกและข้อเรื้อรังในภายหลัง หมั่นใส่ใจสุขภาพ ออกกำลังกายเป็นประจำ ดูแลอาหารการกินที่มีประโยชน์ ปรับพฤติกรรมการทำงานรวมถึงจัดหาอุปกรณ์การทำงานที่ถูกหลักการยศาสตร์ (ergonomics) หากต้องนั่งทำงานนานๆ หรือมีประชุมต่อเนื่อง ก็หมั่นเตือนตนเองให้ขยับลุก-นั่ง เปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ เพราะไม่มีใครช่วยเราได้นอกจากตัวเราเอง และการไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ ยังคงเป็นจริงเสมอ

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,822 วันที่ 29 กันยายน - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565