สิ่งที่รัฐควร “บริหารกลยุทธ์” กระตุ้นการท่องเที่ยวไทย

05 ก.ย. 2565 | 07:16 น.

คอลัมน์แก้เกมเศรษฐกิจการเมือง โดย... ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ส่งผลกระทบต่อเกือบทุกประเทศในโลก และทุกมิติอย่างรุนแรง ปัญหาดังกล่าว ย่อมกระทบโดยตรงต่อภาค การท่องเที่ยว และภาครัฐจะต้องหาแนวทางในการจัดการ โดยเฉพาะแผนต่าง ๆ ที่ได้วางยุทธศาสตร์ไว้ 

 

อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ และศึกษาการพัฒนาแผนแม่บทการท่องเที่ยว ย่อมมีความสำคัญอย่างมากในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาท่องเที่ยวทางน้ำ สามารถยกระดับการพัฒนาการเศรษฐกิจ ทั้งระยะสั้น และระยะกลาง

 

ที่สำคัญ การท่องเที่ยวทางน้ำ ที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่น ความต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติ สถานการณ์การท่องเที่ยวโดยเรือสำราญ มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากปี ค.ศ. 1980 จนถึงปี ค.ศ. 2016 พบว่า มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 24.7 ล้านคน และคาดว่าจะมีแนวโน้มเติบโตต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย

รัฐบาลจำเป็นต้องกำหนดนโยบายในการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยสร้างสิ่งจูงใจและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกื้อกูลต่อบรรยากาศการท่องเที่ยว ซึ่งการผลักดันด้านอุปสงค์ของการท่องเที่ยวทางน้ำ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาทางเศรษฐกิจท่องเที่ยว และยังเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการยกระดับรายได้ประชาชาติ 

 

รวมถึงดัชนีรายได้ต่อหัว ซึ่งด้านอุปสงค์ยังพิจารณาถึงปริมาณนักท่องเที่ยวทางน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและการกระจายรายได้ไปในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างเหมาะสม 

 

การจัดทำแผนพัฒนาแม่บทท่องเที่ยวทางน้ำ ภายใต้การฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายในประเทศใหม่ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการปรับแผนการพัฒนาท่องเที่ยวทางน้ำ และแผนปฏิบัติการ ซึ่งจะต้องมีความสอดคล้องกับนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ และจะต้องสร้างกลไกและแนวคิดเชิงกลยุทธ์ เพื่อเพิ่มโอกาสและการขยายตัวของการท่องเที่ยว เนื่องจากสภาพปัญหาในปัจจุบัน หรือ จากวิกฤติ Covid-19 

 

การปรับแผนแม่บทจะต้องวางกรอบแนวทางการพัฒนาในระยะสั้น เพื่อกำหนดทิศทางการท่องเที่ยวของไทยโดยครบคลุมทุกมิติ โดยเฉพาะ การพัฒนาการท่องเที่ยวทางน้ำในภาพรวม

นอกจากนั้น การจัดทำโครงสร้างข้อมูลการท่องเที่ยวทางน้ำของไทยซึ่งจะต้องมีความสอดคล้องตามแนวทางการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และ แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 2 เป็นต้น

 

โดยการจัดทำแผนพัฒนาแม่บทท่องเที่ยวจะต้องคำนึงถึงยุทธศาสตร์ และค่าดัชนีของแผน ที่สำคัญ คือ

 

1. ยุทธศาสตร์ในแผนแม่บทการพัฒนาการท่องเที่ยวทางน้ำ ต้องสะท้อนถึงยุทธศาสตร์ในภาพรวม และยังรวมถึงกรอบระยะเวลาในการดำเนินการเชิงกลยุทธ์ให้เกิดความสำเร็จ โดยเฉพาะรัฐบาลต้องวางกรอบและขอบเขตของแผนให้ชัดเจน

 

โดยอาจมีการบูรณาการการบริหารจัดการระหว่างหน่วยงานภาคเอกชนและภาครัฐเพื่อให้มีความสำเร็จได้เร็วขึ้น เช่น ประเทศเกาหลีใต้ใช้เวลาเพียงแค่ 1 ปีในการพัฒนาแม่น้ำ 4 สาย ในกรุงโซล เนื่องจากรัฐมีกรอบระยะเวลาและการควบคุมที่ชัดเจน รวมถึงมีโครงสร้างของรัฐภายใต้แผนการบูรณาการเชิงการบริหารอย่างชัดเจน เป็นต้น 

 

2. จากการศึกษาของ The Travel & Tourism Competitiveness Report (2017) ยังบ่งชี้ว่า “สำหรับทุก 30 นักท่องเที่ยวใหม่เดินทางไปใช้บริการสถานทีท่องเที่ยวใด ๆ ก็ตาม 1 งานใหม่จะถูกสร้างขึ้น และในปัจจุบันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มีนายจ้างหญิงเพิ่มเกือบสองเท่าจากเดิมในภาคการท่องเที่ยว” ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะนำไปสู่การลดเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และการกระจายรายได้อย่างมีประสิทธิภาพในชุมชน 

 

รวมถึงยังเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางเพศในกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นได้อีกด้วย หากพิจารณาจากดัชนีการแข่งขัน T&T (2017) จะเห็นได้ว่ามี 4 เสาหลักมีความเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทางน้ำ ดังนี้

  • สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย (Enabling Environment) ได้แก่ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ความปลอดภัยและความมั่นคง สุขภาพและสุขอนามัย ทรัพยากรมนุษย์ และความพร้อมด้าน ICT (ICT ถือเป็นดัชนีตัวหนึ่งที่สำคัญที่ประเทศพัฒนาแล้วประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยสามารถใช้ระบบ ICT ดึงนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพเข้ามาในประเทศได้มากขึ้น)
  • เงื่อนไขของนโยบาย (T&T Policy and Enabling Conditions) ได้แก่ ความพร้อมของภาคการท่องเที่ยวและการเดินทาง การเปิดประเทศ ความสามารถในการแข่งขันในเรื่องราคา และสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน       
  • โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ (Infrastructure) เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญมากในการสร้างกิจกรรมทางน้ำและทางบกให้เกิดขึ้น
  • ทรัพยากรทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรม (Natural and Cultural Resources) ซึ่งประเทศไทยมีจุดเด่นด้านนี้ รัฐควรมีแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวทางน้ำในการปรับยุทธศาสตร์ให้มีความสอดคล้องกับตัวชี้วัดรวมทั้งการสร้างจุดเด่นทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างรายได้ในชุมชน แต่การพัฒนาดังกล่าวจะต้องไม่กระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน เป็นต้น 

 

ดังนั้น ถ้านำดัชนีดังกล่าวมาวิเคราะห์แล้วจะเห็นได้ว่า การเปรียบเทียบดัชนีการแข่งขันภายใต้ปัจจัยของสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยระหว่างประเทศไทยและโลก ซึ่งพบว่า ดัชนีการแข่งขันที่ประเทศไทยที่ยังมีระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของระดับโลกคือ “ความปลอดภัยและความมั่นคง” 

 

โดยดัชนีตัวนี้เป็นปัจจัยที่รัฐจะต้องพิจารณาประกอบการจัดทำแผนแม่บทการท่องเที่ยวทางน้ำที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

 

แต่รัฐเหมือนจะไม่ให้ความสำคัญกับการจัดงบประมาณดังกล่าวอยู่...