*** มหันตภัยเศรษฐกิจตกตํ่าทั่วโลกกำลังเกิดขึ้น หรือมีโอกาสเกิดขึ้นสูง จากการตั้งกำแพงภาษีทางการค้ากับชาติคู่ค้าจำนวนมาก ของประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกา เป็นทรัมป์ ที่ทำลายหลักการทางการค้าที่สหรัฐเป็นผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการริเริ่ม เป็นหลักการทางการค้าที่เสมอภาค เท่าเทียมเสมือนชาติคู่ค้า เป็นชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (MFN: Most-Favored-Nations) ลงอย่างสิ้นเชิง แม้จะยืดเวลาออกไป 90 วันให้กับคู่ค้าเล็กๆ หรือชาติอื่น แค่เป็นการชักฟืนออกจากเตาไฟชั่วคราวเท่านั้น ทำให้สถานการณ์การผลิต การค้า เกิดความไม่แน่นอน เกิดความเสี่ยงสูง และความเสี่ยงที่ว่านำไปสู่ภาคอื่นๆ กระทบกับเศรษฐกิจกลายเป็นทรุดลงทั่วโลก ที่ซึ่งไม่มีใครประเมินสถานการณ์ และแนวคิดของทรัมป์จะหยุดตรงไหน เป็นผู้กำหนดเกมให้ผู้อื่นเดินตาม ฉะนั้นต้องประเมินสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในการวางแผนรับมือ
*** ทรัมป์ประกาศ ดับเบิ้ลภาษีกับจีน ขณะที่จีนมีหรือจะยอม “คุณซัดผม ผมก็ซัดคืน” ตอบโต้กันดุเดือด ช่องทางเจรจาดูเหมือนจะลดน้อยถอยลง เป็นสงครามการค้าเต็มรูปแบบไปแล้ว ก่อนหน้าวันที่ 9 เม.ย. ตลาดหุ้นตกตํ่าทั่วโลก ตลาดบอนด์สหรัฐถูกเทขายอย่างหนัก ดอลลาร์อ่อนตัวลง จีนทำให้ค่าเงินอ่อนเช่นเดียวกัน กลายเป็นสถานการณ์ที่ลุกลามอย่างรวดเร็ว แต่ดูเหมือนจีนจะประเมินสถานการณ์ และเตรียมรับมือไว้ล่วงหน้า การตอบโต้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน จึงเกิดขึ้นทันที ผู้เชี่ยวชาญจีนมองว่า จีนไม่ได้ขาสั่น กับมาตรการทรัมป์ โดยได้เตรียมทางออกและเตรียมการมาบ้าง ต้องไม่ลืมว่าด้วยสถานการณ์โควิดก่อนหน้านี้ จีนได้ทดลองตลาดในประเทศช่วงที่ปิดประเทศก็พออยู่ได้ และจะเร่งตลาดในประเทศให้โตเร็วขึ้น พร้อมกับจับมือพันธมิตรยุโรป รัสเซีย โดดเดี่ยวอเมริกา จะถูกงัดออกมาใช้เพื่อแก้เกมทรัมป์
*** แน่นอนกลยุทธ์ที่ใช้ของจีน แตกต่างจากประเทศอื่นๆอย่างแถลงการณ์ล่าสุดของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ที่ยอมจำนนต่อสหรัฐโดยสิ้นเชิง ด้วยการแบะท่าไม่ตอบโต้ใดใด เพียงแสดงความกังวลมาตรการฝ่ายเดียวของสหรัฐเท่านั้น และพร้อมทำงานในการเจรจาความร่วมมือต่างๆ กับสหรัฐอย่างใกล้ชิด กลายเป็นเด็กนักเรียนที่ถูกเรียกเข้าแถว และยืนเป็นระเบียบเรียบร้อยโดยไม่แตกแถวในทันที
ดังถ้อยแถลงที่ว่า อาเซียนเชื่อว่าการยกระดับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-สหรัฐฯ ที่เข้มแข็ง และมองไปข้างหน้าจะเอื้อต่อความมั่งคั่งของประชาชนในภูมิภาคและเศรษฐกิจโลกในภาพรวม กรอบความร่วมมือนี้จะช่วยส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ เสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค และขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่น ปลอดภัย มีเสถียรภาพ และเป็นประโยชน์ร่วมกั
*** หันมาดูประเทศไทย ดูการทำงานของภาครัฐ ทั้งการวางแผนการเจรจา การรับมือกับทรัมป์ มองไม่ออกว่าจะจบอย่างไรให้สวยดูดี พอไปได้ โดยเฉพาะการทำงานของฝ่ายการเมือง น่ากังวลระคนแปลกใจ เมื่อ รมต.ต่างประเทศ ควรจะเป็นแกนหลัก หรืออย่างน้อยต้องมีการชี้เป้า เข้าถึง คนที่จะพูดคุยด้วยในฝั่งสหรัฐให้ได้ แต่กลับทำตัวประหนึ่งไม่รู้ ไม่เห็น ให้เป็นเรื่องของฝ่ายเศรษฐกิจ
ขณะที่ รมต.พาณิชย์ ที่โดยบทบาทต้องดูแลการค้าทั้งในและต่างประเทศ ต้องเป็นหัวหอกสำคัญ กลับไม่ได้แสดงบทบาทที่เด่นชัดนัก ในยามมหันตภัยการค้าโลกเช่นนี้ มีแถลงคำโตอยู่ว่าการส่งออกขยายตัว จะรู้รึไม่ที่โตขึ้นมาในเดือน 2 เดือนแรก เพราะเขารู้ล่วงหน้าว่า ทรัมป์จะขึ้นภาษีมหโหฬาร เลยมีการสั่งซื้อและส่งสินค้าล่วงหน้า ลองดูไตรมาส 2 ปีนี้เถอะ เมื่อมีความไม่แน่นอน จะเกิดความชะงักงันการส่งออกตามมา ตัวเลขรูดตํ่าเตี้ยแน่นอน
*** รัฐมนตรีพาณิชย์ พิชัย นริพทะพันธุ์ บริหารกระทรวงพาณิชย์ ต้องเข้าถึงผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) ต้องเข้าถึงที่ปรึกษาการค้าประธานาธิบดีสหรัฐ ต้องเข้าถึงรัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐ ในระดับยกหูคุยกันรู้เรื่อง ถ้าเข้าไม่ถึง ก็ต้องมีทีมล็อบบี้ที่เข้าให้ถึง คุยให้ได้ ไม่ใช่ว่าชั่วโมงนี้แล้วยังไม่ทราบว่า จะไปเจรจากับใคร การเจรจาก็เช่นกัน ต้องมีของในกระเป๋า รู้เขา รู้เรา เอาอะไรไปแลก เอาอะไรไปยื่น ไม่ใช่ไปแบบสยบยอม หรือ แล้วแต่ท่านว่า
*** อันที่จริงว่าก็ว่า ไม่ต้องมายํ้ากันตรงนี้ แต่การกระจายตลาดต้องทำทันที และสานงานต่อที่เขาวางเป็นยุทธศาสตร์กันไว้ตั้งนานแล้ว รัฐมนตรีพาณิชย์ เป็นพ่อค้าที่ต้องหลับตาเห็น ไปตลาดไหน อย่างไร ของอะไรขายได้ อย่ามุ่งแต่ตลาดที่สบายๆ อากาศเย็นๆ สนุกเที่ยวเพลินอย่างเดียว ตลาดที่ร้อนหน่อย แต่ขายได้ อาจไร้ระบบหน่อย ก็ต้องไปเดินบ้าง อย่างตลาดภูมิภาคแอฟริกาเขาก็มีกำลังซื้อ และมีความต้องการสินค้าไทยอยู่หลายตลาด
เพียงแต่การสร้างตลาดไม่เดินวันเดียว ผู้แทนการค้า ผู้แทนระดับสูงต้องเดินอย่างสมํ่าเสมอ สร้างความสัมพันธ์เกาะเกี่ยวกับเขา ถ้าไปไม่ได้ก็มอบหมายรัฐมนตรีช่วยไปบ้าง มอบหมายทูตพาณิชย์ ไปหน่อย ต้องมีรายงานเข้ามาทุกวัน วันนี้ขายอะไรได้ วันนี้ไปพบใคร ไม่ใช่นั่งกันอยู่ในออฟฟิศ แล้วรอให้เขาเดินมาเคาะประตูอย่างเดียว สมัยนี้ไม่น่าจะมีแล้วมั้ง
หน้า 4 หนังสือพิมพ์ ปีที่ 45 ฉบับที่ 4,088 วันที่ 17 - 19 เมษายน พ.ศ. 2568