ข้อกังขาพิสูจน์ข้าว 10 ปี

23 พ.ค. 2567 | 00:30 น.

ข้อกังขาพิสูจน์ข้าว 10 ปี : คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...กาแฟขม หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,994 ระหว่างวันที่ 23-25 พ.ค. 2567 

  *** ออกมาแล้วผลตรวจข้าวค้างโกดัง 10 ปี นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ วัฒนศักดิ์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน นั่งคู่กันแถลงข่าว ตรวจด้วยด้วยระบบคุณภาพมาตรฐาน ISO/IEC 17025 จากตัวอย่าง ข้าว 3 ถุง จากการทดสอบด้านคุณภาพและความปลอดภัย ด้านกายภาพและสิ่งแปลกปลอม อาทิ ลักษณะ สี กลิ่นของเมล็ดข้าว แมลง ซากแมลง ชิ้นส่วนของแมลง กรวด และ หิน 

ด้านความปลอดภัย อาทิ สารพิษจากเชื้อรา สารรม สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โลหะหนักปนเปื้อน ด้านคุณค่าทางโภชนาการ อาทิ สารอาหาร และแร่ธาตุ โดยเทียบกับข้าวที่ทางกรมวิทยาศาสตร์ฯ ซื้อมาจากท้องตลาด ด้านกายภาพและสิ่งแปลกปลอม ข้าวตัวอย่างจากกระทรวงพาณิชย์นั้น พบวัตถุหรือสิ่งแปลกปลอม เศษปีกแมลงและมอดอยู่เป็นจำนวนมาก

*** ข้อกำหนดตามมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 4000-2560 มาตรฐานสินค้าเกษตร ข้าวหอมมะลิไทย ต้องปราศจากแมลงและไรที่มีชีวิต ขณะที่ด้านความปลอดภัย การตรวจสอบข้าวตัวอย่าง ตรวจไม่พบสารทั้งสารพิษจากเชื้อรา สารรม สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช 250 ชนิด รวมถึงสารหนูนั้น ปลอดภัยอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ด้านคุณค่าทางโภชนาการเป็นสิ่งที่สำคัญ และไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เมื่อเทียบกับตัวอย่างข้าวที่ซื้อจากตลาด พบไม่แตกต่างกัน การตรวจสอบทำอย่างอิสระ และปราศจากแรงกดดัน  

*** เอาเป็นว่ารัปประทานได้ แต่ไม่ได้มาตรฐาน ว่างั้น แต่ที่ต้องพิจารณาลงไปอีกชั้น อยู่ที่ส่งข้าวจากที่ไหนมาตรวจ กระทั่งส่งจากโกดังที่ว่า แต่ได้มีการสลับปรับเปลี่ยนข้าวในโกดังหรือไม่ อันนี้ไม่มีใครยืนยัน มีการผ่ากอง และ บริษัทเซอร์เวเยอร์ ที่ไปชักตัวอย่างข้าวแม้ได้มาตรฐานระดับโลก แต่คำถามที่ไม่มีใครพิสูจน์ว่า เป็นข้าวกองเดียวกับที่รับเข้าเมื่อ 10 ปีก่อนหรือไม่ คำตอบยังล่องลอยในสายลม ดังที่รักษาการผอ.อคส.ว่า เป็นตัวอย่างข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ลงไปที่โกดัง เมื่อ 6 พ.ค. 67 ประเด็นพิจารณาย้อนไปที่เดิม ใช่ข้าว 10 ปีค้างโกดังที่ส่งไปตรวจหรือไม่ แต่สรุปได้ว่าตัวอย่างที่ส่งพิสูจน์ เคลียร์ตามหลักวิชาการ 

*** มาแล้วแบบด่วนๆ ในเรื่อง “เงินดิจิทัล” หลังจากควานหาเงินแทบพลิกไม่พบช่องทาง ในการหามาใช้ตามโครงการแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาท กระนั้นทางออกของเรื่องจึงไปอยู่ที่การตั้งงบประมาณกลางปีเพิ่มเข้าไปอีก 1.22 แสนล้านบาท เพื่อให้เพียงพอกับ โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) เดิมทีตั้งงบไว้ 5 แสนล้านบาทในการนี้ มาจาก 1.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วงเงิน 152,700 ล้านบาท 2.ใช้เงินจากมาตรา 28 ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) วงเงิน 172,300 ล้านบาท และ 3.การบริหารจัดการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 175,000 ล้านบาท ที่ต้องตั้งงบกลางปีเพิ่มเพราะก้อน 3 ไปตัด ไปควัก ไปล้วงมาแล้วปรากฏว่า “ได้ไม่ครบ” จำต้องทำงบกลางปีไปอีกดอกว่างั้น 

 *** หนักจริงๆ ปีนี้ ป่นกันพึมกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เริ่มท้อทำท่าจะไปต่อกันไม่ไหว ด้วยเหตุวิกฤตกำลังซื้อ โดยเฉพาะบ้านราคาตํ่ากว่า 3 ล้านบาท ยอดปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มจาก 50% เป็น 70% กลุ่มราคาบ้าน 3-5 ล้านบาท จากเดิม 40% เพิ่มเป็น 50% และกลุ่มราคามากกว่า 5 ล้านบาท อยู่ที่ 40% จากเดิมกว่า 30% การปฏิเสธสินเชื่อที่สูงขึ้นมาจากมาตรการ Responsible Lending ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม 

เมื่อขายไม่ออกก็จำเป็นจะต้องนำบ้านกลับมาขายใหม่ ก็จะโดนปฏิเสธสินเชื่อซํ้าแล้วซํ้าเล่า หลายคนใช้วิธีปรับตัวด้วยการตั้งบริษัทลูกปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าตัวเอง บางรายออกหุ้นกู้ พวกรายใหญ่ทำได้ แต่รายย่อยขาดกำลัง วิเคราะห์ลงลึกจากนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย แบงก์ปฏิเสธสินเชื่อ ขณะที่หนี้เสียในกลุ่ม Gen Y สะท้อนกำลังซื้อในกลุ่มนี้ที่เป็นปัญหา รายได้ไม่พอรายจ่าย กำลังซื้อน้อย จากภาวะเศรษฐกิจเติบโตช้า ฉะนั้นหลายรายช่วงนี้ต้องชะลอการขอจัดสรรที่ดิน ไม่เปิดตัวโครงการใหม่กันแล้ว...

                                 ข้อกังขาพิสูจน์ข้าว 10 ปี