Soft Power: ไม่จำเป็นต้องละมุนเสมอ

18 ก.พ. 2567 | 01:50 น.

ตอนนี้หากไม่พูดถึง Soft Power ก็ดูจะไม่ทันสมัย และจากบทความ บทสัมภาษณ์ของหลาย ๆ คน ทำให้ผมต้องตั้งหลักใหม่ก่อนที่จะคิดอะไรต่อเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะดูแล้วความเข้าใจของแต่ละคนดูจะแตกต่างกันออกไป

ทั้งตามระดับความลึกซึ้งและขอบเขตของแนวคิด ดังนั้น ผมจึงขอถอยกลับไปตั้งหลักลงไปให้ถึงราก 

ก่อนที่จะเสนอแนะแนวทางด้านยุทธศาสตร์ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจครับ 

ขออนุญาตโฟกัสทางเศรษฐกิจเท่านั้น ถ้าอ่านแล้ว อย่าพยายามไปโยงกับการเมืองนะครับ    

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับคำว่า Soft Power ก่อน ซึ่งตามนิยามนั้น คำว่า อำนาจ หมายถึง อะไร

ก็ตามที่สามารถทำให้เราได้สิ่งนั้นจากคนอื่น หรือควบคุม สั่งการให้ใครทำตามในสิ่งที่เราต้องการได้ ดังนั้น อำนาจหรือการที่จะทำให้คนอื่นทำตาม ควบคุม คนอื่นได้ นั้นมาจาก 3 ปัจจัย ก็คือ 

  • การทำให้คนอื่นกลัว เช่น มีศักยภาพทางทหาร และอำนาจทางเศรษฐกิจ
  • การให้รางวัลหรือผลตอบแทน 
  • การที่เราสร้างความประทับใจ ศรัทธา ความเชื่อถือ แรงบันดาลใจที่ทำให้คนอื่นอยากทำตามที่เราต้องการ หรือเขาปรารถนาทำในสิ่งที่เราต้องการให้เขาทำ โดยเชื่อสนิทใจว่าจะดีกับเขาเอง  

รูปแบบของอำนาจสองแบบแรกสามารถใช้ควบคุมคนอื่นได้จากกลยุทธ์ที่เราเคยได้ยินคำว่า Stick and Carrot ไม้เรียว หรือ ขนมหวาน โดยคนอื่น ๆ ทำตามที่เราต้องการ ก็เพราะกลัวโดนลงโทษ เช่น หากทำผิดจากกฎกติกาที่กำหนดไว้ก็จะถูกปรับ ถูกจำคุก หรือทำโทษต่าง ๆ หรือทำตามเพราะอยากได้รางวัลตอบแทน รางวัลก็อาจมาจากยศถาบรรดาศักดิ์ ความสงบสุข ผลประโยชน์ต่าง ๆ 

อำนาจแบบสุดท้ายนี่ล่ะครับ ที่เรียกว่า Soft Power เป็นอำนาจที่เราเข้าไปครอบครองความคิด ความเชื่อ ความรัก ความศรัทธา ในสิ่งที่เราอยากให้เขาคิด เขาเป็น และเขาทำนั้นเป็น สิ่งที่ดี มีประโยชน์ และมีคุณค่าสำหรับเขา และเขาทำตามโดยความเต็มใจ    

ตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินั้น Power เป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อให้คนใด กลุ่มใด สามารถควบคุมอีกฝ่ายหนึ่งให้ทำตาม หรือคิดตามที่อีกฝ่ายต้องการ หากทำตามก็จะมีความสุข มีชีวิตปลอดภัย แต่ถ้าไม่ทำตามก็จะถูกลงโทษ เครื่องมือนี้เปลี่ยนแปลงไปตามความซิวิไลซ์ของมนุษย์แต่ละยุคแต่ละสมัย 
 

ซึ่งในอดีตเราจะเห็นการใช้กำลังทหารและอาวุธที่เหนือกว่าของอีกฝ่ายหนึ่งเข้าไปรุกราน ยึด ครอบครอง ปล้น หรือทำลายกลุ่มอื่น ๆ เพื่อให้ได้สิ่งที่ตนเองต้องการ ตัวอย่างเช่น การยึดครองทวีปใหม่ ๆ การปล้นสะดมเอาทรัพยากร การล่าอาณานิคม หรือแม้แต่การเผยแผ่ความเชื่อ ความศรัทธา และศาสนา หรือบังคับให้เขาทำในสิ่งที่ตนเองต้องการแม้รู้ว่าเป็นการทำลายชีวิตผู้คนที่ไม่ใช่พวกตนเพื่อให้ได้ประโยชน์ตามที่ตนเองต้องการ 

ลองหาอ่านเรื่องราวการบุกรุกรานอารยธรรมต่าง ๆ ในทวีปอเมริกาใต้และเหนือของผู้ล่าอาณานิคมจากตะวันตก หรือเรื่องราวของสงครามฝิ่นที่คนจีนล้มตายจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดเกิดจากที่ชาติตะวันตกใช้กลยุทธ์ทางการทูตบีบบังคับ ข่มขู่ด้วยกองกำลังทหารที่เหนือกว่าบังคับให้จีนเปิดตลาดค้าขายฝิ่น 

จนประเทศจีนครั้งหนึ่งถูกตั้งฉายาจากคนตะวันตกว่า “คนป่วยแห่งเอเชีย” ต้องยอมทำตามเพราะมีอำนาจทางทหารและเทคโนโลยีที่ต่ำกว่า และที่ประเทศตะวันตกทำเช่นนี้ก็เพื่อประโยชน์ของตนเอง อำนาจเหล่านี้แหละที่เราเรียกว่า Hard Power

แต่ในปัจจุบัน Hard Power ถูกนำมาใช้ในรูปของ Economic Power บ่อย ๆ เช่น การบอยคอต หรือ Sanction ทางการค้ากับประเทศที่ไม่ทำตามที่เราต้องการ แถมยังไปรวบรวมพรรคพวกให้ร่วมบอยคอตด้วย และขู่อีกว่าหากไม่ทำตามจะถูกลงโทษทางเศรษฐกิจหนักมากขึ้น 

ดังนั้น เราจะเห็นการบอยคอตทางการค้าถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศ มีพรรค มีกลุ่มชัดเจน เรื่องเดียวกันที่พวกเดียวกันทำ ก็สรรหาเหตุผลสารพัดเพื่อสร้างความชอบธรรม แถมสนับสนุนอีกต่างหาก แต่ถ้าฝ่ายตรงกันข้ามทำดูเหมือนทุกอย่างผิดหมด และจะต้องโต้ตอบด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจ 

ทั้งนี้ เพราะในยุคนี้การใช้กำลังทหารจะใช้สุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้เหมือนในอดีต เนื่องจากวันนี้อีกฝ่ายก็มีพวก มีกำลัง อาวุธ เทคโนโลยี แถมยังมีพวกอีกด้วย แม้จะไม่เท่าเรา แต่ก็อาจทำให้เรามีต้นทุนสูงกว่าการทำอย่างเดียวกันในอดีต ซึ่งในปัจจุบัน Hard Power แบบ Military and Economic Powers ถูกใช้พร้อม ๆ กันในหลายพื้นที่ของโลก 

จนคำพูดว่า “Geo-Politics” วันนี้หมายถึง การมัดรวมอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจเข้าห้ำหั่นกันของกลุ่มต่าง ๆ โดยหัวโจกของแต่ละกลุ่มนั้นต้องมี Hard Power ทางการเมือง ทหาร และเศรษฐกิจ อย่างครบเครื่อง ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ 

อำนาจอีกรูปแบบหนึ่ง คือ Soft Power นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ผมว่ากลยุทธ์นี้ประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ ก็ใช้มานานตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองหมาด ๆ ผู้ล่าอาณานิคมต่างอ่อนแอจากพิษสงคราม ทำให้ยากที่จะยึดครองอาณานิคมของตนเองได้ด้วยกำลังทหารเหมือนเดิม แต่จิตวิญญาณของผู้ครอบครองที่ยังอยู่ 

ทำให้ต้องหาวิธีการคุมอาณานิคมของตนในรูปแบบใหม่ แต่คราวนี้จะพยายามให้ประเทศต่างๆ เต็มใจ เห็นดีเห็นงาม ศรัทธา จนต้องการทำตามเจ้าของอาณานิคมโดยตัวผู้ถูกล่าไม่รู้ตัว เราเลยเห็นการสร้างระบบการเงิน เศรษฐกิจ  การเมือง และอำนาจทางทหารของโลกขึ้นมา ผ่านองค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก สถาบันการเงินระหว่างประเทศ และองค์การการค้าโลก 

โดยกำหนดกติกาต่างๆ ที่สหรัฐอเมริกาและประเทศมหาอำนาจมีความได้เปรียบ โดยมีเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลก (คงเข้าใจนะครับว่า Petro Dollar มาจากไหน จากใคร รวมทั้ง ทำไมต้องมีการก่อตั้งกองกำลัง North Atlantic Treaty Organization (NATO) ในยุโรป และ Southeast Asia Treaty Organization (SEATO) ในเอเชียอาคเนย์ ในยุคสงครามเย็น)  

ส่วน Soft Power นั้นแม้จะถูกใช้มานาน แต่เพิ่งถูกรวบรวมเป็นระบบทางความคิดจากการบรรยายของ Joseph Nye Jr. จาก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่เป็นคนแรกที่ใช้ศัพท์คำนี้อย่างเป็นทางการในการบรรยายเรื่อง The Future Power in the 21st century ซึ่งความตั้งใจของเขานั้นแนะนำให้สหรัฐอเมริกาสร้าง Soft Power ผ่านวัฒนธรรม แนวคิดการเมือง และนโยบายต่างประเทศ 

เพราะในโลกสมัยใหม่ที่จะสามารถทำให้สหรัฐฯ ยังทรงอิทธิพลต่อโลกได้นั้น การใช้ Hard Power ทางทหารและอำนาจทางเศรษฐกิจเหมือนในอดีตนั้นคงไม่ง่ายเหมือนในอดีต แต่ต้องสร้างกลยุทธ์ใหม่ที่จะชักจูง ล่อหลอก ให้ประเทศอื่นๆ อยากได้ ในสิ่งที่เราอยากได้ อยากเป็นในสิ่งที่เราอยากให้เขาเป็น เชื่อและศรัทธาในสิ่งที่เราอยากให้เชื่อ 

ซึ่งทั้งหมดนี้ จะเห็นว่าสหรัฐอเมริกาก็ใช้กลยุทธ์นี้ในบริบทของนโยบายต่างประเทศไม่ว่าจะผ่านองค์กรต่าง ๆ ที่บนดิน ใต้ดิน รวมทั้งผ่านองค์กรระหว่างประเทศ หรือแม้แต่สื่อในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อผลักดัน Soft Power ต่าง ๆ อาทิ รูปแบบการปกครอง ปรัชญาทางการเมือง ความเชื่อ ถ้าจะให้พูดง่าย ๆ เช่น มนุษยธรรม ความเท่าเทียม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งใครเชื่อและทำตามก็จะได้รับรางวัลรูปแบบต่าง ๆ 

จนวันนี้เรื่องที่เราต้องทำหลาย ๆ อย่างเพื่อป้องกัน “โลกร้อน” ผมยังไม่เข้าใจว่าเรื่องนี้ เราทำตามเพราะเชื่อว่าโลกจะถึงจุดจบตามที่เขาว่าไว้หรือไม่ หรือที่เราต้องเชื่อ ต้องศรัทธา และต้องทำตาม เพียงเพราะเรากลัวโดนลงโทษผ่านมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจกันแน่ เนื่องจากมีให้เห็นเป็นตัวอย่างมาเยอะ ว่าหากใครไม่ทำก็อาจโดน Hard Power เล่นงานอย่างหนัก 

อาจโดนกำลังทหารลุยเหมือนประเทศลิเบียและอิรักในอดีต โดยเหตุผลก็ดูดีเหลือใจ คือเพื่อปลดปล่อยประชาชนจากเผด็จการ หรือไม่ก็บอยคอตทางการเมืองและเศรษฐกิจอีกหลายประเทศที่ไม่เชื่อฟัง ซึ่งทั้งหมดก็เพื่อที่จะทำให้สหรัฐอเมริกายังสามารถเป็นมหาอำนาจของโลกที่ทุกคนจะต้องเดินตาม และมองดูอย่างชื่นชม ศรัทธา เกรงใจ และหวาด ๆ 
และทั้งหมดนี้ทำให้สหรัฐอเมริกายังคงเป็นอันดับ 1 ของ Global Soft Power Index 2023 ดั่งที่เป็นมาตลอด