ตลาดรถ EV ไทย แค่กระแสหรือของจริง?

28 มิ.ย. 2566 | 05:59 น.

ตลาดรถ EV ไทย แค่กระแสหรือของจริง? : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ดร.ดวงดาว มหากิจศิริ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,900 หน้า 5 วันที่ 29 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม 2566

มาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จุดเริ่มต้นการเติบโตของตลาดรถ EV ในไทย ย้อนหลังไปเมื่อปี 2565 คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ มีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนทางภาษีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV Tax Incentive Package) ทำให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมการขนส่งทางบก ฯลฯ ได้ออกมาตรการส่งเสริมสนับสนุนการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

โดยเฉพาะแพ็กเกจส่งเสริมการลงทุน มาตรการยกเว้น หรือ ลดหย่อนอากรขาเข้า และมาตรการลดหย่อนภาษีสรรพสามิต ทำให้วันนี้รถพลังงานไฟฟ้า 100% หรือ Battery Electric Vehicle: BEV ที่นำเข้าจากจีน ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าภายใต้สิทธ์ประโยชน์ FTA อาเซียน-จีน ได้รับเงินอุดหนุนสูงสุด 150,000 บาทต่อคัน และได้ลดภาษีประจำปีลงจาก 1,600 บาท เหลือเพียง 320 บาท สำหรับรถเก๋งที่ใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีนํ้าหนัก 1,800 กิโลกรัม

 

สัญญาณตอบรับของผู้บริโภคชาวไทยที่มีต่อรถยนต์ไฟฟ้าและมาตรการสนับสนุนภาครัฐ สะท้อนได้จากตัวเลขสถิติการจดทะเบียนรถใหม่ประเภทรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากกรมการขนส่งทางบก ที่พุ่งสูงถึง 32,450 คัน ภายใน 5 เดือนแรกของปี เป็นการเพิ่มขึ้น 474.43% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

โดยตัวเลขยอดจดทะเบียนรถไฟฟ้า 100% (BEV) เดือนพฤษภาคม คิดเป็นสัดส่วน 12.28% ของรถที่จดทะเบียนใหม่ทั้งหมด 5,559 คัน

 

ตัวเลขยอดจดทะเบียนรถไฟฟ้า 100% ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง พฤษภาคม รวมอยู่ที่ 24,106 คัน โดย 4 ใน 5 อันดับแรกเป็นรถไฟฟ้าสัญชาติจีนอย่าง BYD NETA MG Great Wall Motor และแน่นอนต้องมีแบรนด์ดังอย่าง Tesla จากฝั่งสหรัฐฯ ร่วมติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของแบรนด์ที่มียอดขายสูงสุดเช่นกัน

                            ตลาดรถ EV ไทย แค่กระแสหรือของจริง?

 

ปัจจัยบวกส่งเสริมการเจริญเติบโตของตลาดรถไฟฟ้าในไทย นอกเหนือไปจากมาตรการสนับสนุนยายนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ ที่มีส่วนสำคัญผลักดันให้ผู้บริโภคไทยเข้าถึงรถไฟฟ้าได้มากขึ้นแล้ว ยังมีปัจจัยบวกอื่นๆ อีกรอบด้านที่เป็นปัจจัยเร่งให้ตลาดรถ EV ไทยเกิดและเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด

โดยเป็นที่คาดการณ์ว่า สัดส่วนตลาดของรถยนต์ PHEV (Plug-in hybrid electric vehicle) จะถูกแซงหน้าด้วยรถ BEV (Battery Electric Vehicle) อย่างแน่นอนภายใน 10 ปีนี้ (2023-2032)

ปัจจัยบวกสำคัญประกอบด้วย ตัวเลือกรถยนต์ไฟฟ้าหลากหลายรุ่น หลากหลายแบรนด์ หลากหลายสัญชาติ ราคาจำหน่ายที่เร้าใจ ความคุ้มค่าของราคา การรับประกันคุณภาพทั้งตัวรถ และแบตเตอรี่ที่ยาวนาน ซึ่งช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับคำถามเรื่องปัญหาแบตเตอรี่ที่มีราคาสูง รวมไปถึงประเด็นเรื่องราคาขายต่อใน ตลาดรถยนต์มือสอง

นอกจากนี้ ระบบนิเวศน์รถยนต์ไฟฟ้ามีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าแบบชาร์จ DC (ชาร์จเร็ว) หรือ Direct Current ตามปั๊มนํ้ามัน ห้างสรรพสินค้า โชว์รูมรถยนต์ หรือ การชาร์จแบบ AC หรือ Alternating Current ตามโรงแรม คาเฟ่ ออฟฟิศสถานที่ทำงาน สถานีชาร์จที่เข้าถึงได้ง่ายเหล่านี้ตอบสนองไลฟ์ไสตล์ของสังคมไทยยุคใหม่ได้อย่างลงตัว และทำให้คำถามที่ว่า ซื้อรถไฟฟ้าแล้วจะชาร์จที่ไหน ไม่ได้เป็นอุปสรรคของการใช้งานอีกต่อไป

รถยนต์ไฟฟ้าสร้างมาตรฐานใหม่ที่เป็นมากกว่ายานพาหนะและการขับขี่ เมื่อวิเคราะห์ถึงตัวผลิตภัณฑ์ รถยนต์ไฟฟ้ามีจุดขายที่มุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า (New User Experience) เปลี่ยนรูปแบบการใช้งานรถแบบเดิมๆ ที่มุ่งเน้นเพียงการขับขี่

โดยที่รถยนต์ไฟฟ้าจะมาพร้อมกับตัว Application โทรศัพท์มือถือ ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงฟังก์ชั่น และควบคุมรถจากระยะไกล อาทิ การล็อค และ ปลดล็อค การค้นหารถโดยเปิดไฟหน้าให้กระพริบ หรือ ใช้เสียง แตรในวันที่หารถในลานจอดรถไม่เจอ

การสตาร์ถรถและเปิดแอร์ในห้องโดยสารให้มีอุณหภูมิเย็นก่อนเข้าถึงตัวรถในวันที่รถจอดอยู่กลางแจ้ง การเช็คระยะทางคงเหลือที่สามารถขับขี่ได้ หรือ เช็คสถานะแรงดันลมยาง

รวมไปถึงระบบ Smart Voice Assistance ฟังก์ชั่นการสั่งงานด้วยเสียงทำให้คล้ายๆ กับว่า มีผู้ช่วยคนเก่งเดินทางไปกับผู้ขับขี่ตลอดการเดินทาง

นอกจากนี้ ผู้ใช้ยังสามารถดึงไฟจากตัวรถมาใช้ในวันฉุกเฉิน หรือไปแคมปิ้งตามสถานที่ท่องเที่ยวได้อีกด้วย ทั้งหมดนี้เป็นคุณสมบัติที่สร้างความแตกต่างให้กับรถยนต์ไฟฟ้า นำไปสู่ไลฟ์ไสตล์สมัยใหม่ และการเกิดขึ้นของสังคมผู้ใช้ที่มารวมตัวกัน เพื่อแบ่งปัน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ผ่านการลองผิดลองถูกไปด้วยกัน  

ในวันนี้สังคมไทยกำลังเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด

ด้านอุปทาน ไทยวางเป้าหมายขึ้นแท่นเป็น EV Hub แห่งอาเซียน ด้านอุปสงค์ ไทยครองส่วนแบ่งยอดขายรถ EV สูงสุดในอาเซียนเช่นกัน

ความต่อเนื่องของมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ จะเป็นแรงส่งให้การเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้ จากยุคของรถยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) ไปสู่ยุคของยานยนต์ไฟฟ้าเทคโนโลยีพลังงานใหม่เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ไม่ใช่แค่เทรนด์!!!