สันติภาพสองฝากฝั่งทะเล

04 ส.ค. 2567 | 23:30 น.
อัพเดตล่าสุด :05 ส.ค. 2567 | 07:15 น.

สันติภาพสองฝากฝั่งทะเล คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ทางสมาคมจงหัวแห่งประเทศไทย ได้ให้ต้อนรับฯพณฯท่านอดีตประธานาธิบดีไต้หวัน ดร.หม่า ยิง จิ่ว ที่มาเยี่ยมเยือนประเทศไทยเป็นการส่วนตัว และในวันต่อมาคณะของท่านทั้งหมดได้เข้ามาร่วมงาน ในเวทีเสวนาเรื่อง “สันติภาพสองฝากฝั่งทะเลกับความอยู่รอดของชนชาติจีนในอนาคต” “兩岸和平與中華民族的未來” ซึ่งทางสมาคมได้รับเกียรติเป็นอย่างสูง ที่ท่านได้มารับเป็นองค์ปาฐกให้ความคิดเห็น ในเรื่องที่กำลังเป็นที่จับตามองของชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลกในขณะนี้ ผมเชื่อว่านี่เป็นครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติจีน ที่ทำให้เราชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทยเรา ได้รับรู้ถึงแนวคิดของผู้บริหารระดับสูงของไต้หวัน ต่อปัญหาที่กำลังเป็นที่จับจ้องของทุกคน

ในยุคของสงครามที่กำลังระอุของภาคพื้นตะวันออกกลาง และสงครามในยูเครน-รัสเชีย ได้สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลกในเวลานี้ ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และสันติภาพ ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกในปัจจุบัน ในภาคพื้นตะวันออกของโลกเรา แม้จะยังคงไม่มีปัญหาด้านสงครามอย่างรุนแรง จะมีเพียงประเทศเมียนมาเท่านั้น ที่ยังคงมีปัญหาดังกล่าวอยู่บ้าง

แต่อย่างไรก็ตาม สองฝากฝั่งทะเลของประเทศจีน ก็ยังคงจะมีเพียงการคงอยู่มาช้านานในปัญหาของ “สองจีน” ที่มีประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศสาธารณรัฐจีนหรือจีนไต้หวัน อย่างที่พวกเราทราบกันมา เพราะตั้งแต่ปี ค.ศ.1945-1949 เมื่อกองทัพปลดปล่อยประชาชน นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ของประเทศจีนในยุคนั้น สามารถเอาชนะกองทัพสาธารณรัฐจีนได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด รวมทั้งนำไปสู่การยุติสงครามกลางเมืองของประเทศจีน และทำให้กองทัพสาธารณรัฐจีน ต้องถอยทัพไปปักหลังที่เกาะฟอร์มูซา หรือเกาะไต้หวัน จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

 


ในยุคของการก่อตั้งฟื้นฟูประเทศ รัฐบาลไต้หวันได้ทำการพัฒนาเกาะไต้หวันให้เป็นเสือตัวที่ 4 ของเศรษฐกิจเอเชียในยุคนั้น ในขณะที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเอง ที่นำโดยฯพณฯท่าน เหมาเจ๋อ ตง และต่อมาก็มีประธานาธิบดีอีกหลายท่านเข้ามาบริหารประเทศ ทำให้ต้องปิดประเทศไปนานกว่า 10 ทศวรรษ แต่ต่อมาในยุคของฯพณฯท่านเติ้ง เสี่ยว ผิง ได้เข้ามาบริหารประเทศ ทำให้เกิด “นโนบายหนึ่งประเทศสองระบบ” ซึ่งในยุคนั้น “ระบบ” ที่กล่าวถึงนั้น เป็นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเสียเป็นส่วนใหญ่

ในขณะที่ต่อมาในยุคของฯพณฯท่านเจียง เจ๋อ หมิง ขึ้นมาบริหารประเทศ ได้มีการเรียกคืนดินแดนฮ่องกงที่ถูกประเทศอังกฤษยึดครอง ด้วยวิธีการ “เช่าพื้นที่ระยะยาว” ซึ่งเช่าไปนานถึง 90 ปี นำมาซึ่งประเทศจีนในยุคนั้น แบ่งแยกออกเป็นหนึ่งประเทศ 3 ดินแดน คือดินแดนแผ่นดินใหญ่ ดินแดนประเทศไต้หวันและดินแดนประเทศฮ่องกง จนกระทั้งในปี 1997 จึงได้รับดินแดนฮ่องกงคืนกลับมานั่นเอง

ในช่วงการเรียกคืนดินแดน ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ใน(ประเทศ)ฮ่องกง ต่างรู้สึกตื่นตระหนก มีบางส่วนต่างย้ายถิ่นฐานไปอยู่ประเทศแคนนาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ฯลฯ ทำให้เศรษฐกิจในยุคนั้น เกิดการระส่ำระสายมาก ผมยังจำได้ว่า ในยุคนั้นอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกง ราคาตกลงมาอย่างมาก แต่ต่อมาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แสดงให้เห็นว่า การรับเอาฮ่องกงกลับเข้าสู่อ้อมกอดของแผ่นดินแม่ ไม่ได้สร้างความยากลำบากแก่ประชาชนแต่อย่างใด ในทางกลับกัน วันนี้(ประเทศ)ฮ่องกงกลับมายืนหยัดในสังคมโลกได้อย่างสง่างาม

ในขณะที่ไต้หวัน แม้จะยังไม่ได้มีการรวมเอาแผ่นดินไต้หวัน กลับคืนสู่อ้อมกอดของแผ่นดินแม่เหมือนฮ่องกง แต่ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้มีความประสงค์อยากจะให้มีการควบรวมไต้หวัน ให้กลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกอย่างเปิดเผย หรือการใช้วิธีการแสดงออกในทางอ้อม ที่รัฐบาลของประธานาธิบดีสี เจี่ยน ผิง ได้แสดงออกมา ทำให้เกิดความไม่สบายใจแก่ประชาชนชาวไต้หวัน ผมเชื่อว่าชาวจีนในแผ่นดินใหญ่ ต่างก็มีความรู้สึกไม่แตกต่างกันมากนัก ในขณะที่พวกเราชาวจีนโพ้นทะเลก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นการมาของฯพณฯท่าน หม่า ยิง จิ่วในครั้งนี้ จึงเป็นคำตอบที่พวกเราชาวจีนทั้งโลกต้องการอยากรับฟังครับ

ในการมาแสดงปาฐกถาในครั้งนี้ ท่านได้ปราศัยว่า ท่านคิดว่าการใช้กำลังในการรวมชาติ ไม่ใช่คำตอบที่ชาวจีนทั้งโลกต้องการเห็น อีกทั้งท่านเชื่อว่า “สงครามไม่ได้ทำให้ใครเป็นผู้ชนะ สันติภาพไม่ใช่จะทำให้ผู้ใดเป็นผู้แพ้” “戰爭沒有贏者  和平沒有輸者” ในขณะที่ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดในประเทศจีน ประชาชนชาวจีนเท่านั้นที่จะเป็นผู้แก้ไขปัญหานี้ได้ บุคคลที่สามไม่ว่าจะเป็นประเทศใดก็ตาม จะไม่สามารถเข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าวได้ทั้งสิ้น ดังนั้นการที่จะแก้ไขปัญหานี้ ไม่ว่าจะเป็นข้อพิพาทใดๆ ท่านคิดว่าเป็นความที่ไม่เข้าใจกัน ซึ่งไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาได้

นอกจากนี้ การแก้ปัญหาจะต้องร่วมมือกันทั้งหมดของชาวจีน “ด้วยวิธี 3 ร่วมมือ” คือ 1. ร่วมมือกันสร้างสันติภาพเพื่อความอยู่ร่วมกันอย่างสันติ (和平共存 ) 2. ร่วมมือกันพัฒนาไปข้างหน้าเพื่อให้เกิดสันติภาพ (和平發展 ) 3. ร่วมมือกันในการรวมชาติ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชนชาติจีน (和平民族統一) 


ในส่วนของร่วมมือกันสร้างสันติภาพ เพื่อความอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ท่านเชื่อว่าชาวจีนทั้งโลก ล้วนมีความต้องการเห็น “สันติภาพ” บังเกิดแก่จีนทั้งสองฝั่งทะเล เพราะไม่ว่าจะเป็นจีนแผ่นดินใหญ่ หรือจีนบนเกาะไต้หวัน ก็เป็นชนชาติจีนเหมือนกัน จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้กำลังในการรวมชาติ ในส่วนตัวผมคิดว่า นั่นก็คงจะเหมือนกับที่อดีตมหาบุรุษอย่างท่านเติ้ง เสี่ยว ผิงได้พูดไว้ว่า “ไม่ว่าจะเป็นแมวดำหรือแมวขาว ขอให้จับหนูได้ ก็เป็นแมวเหมือนกัน” ดังนั้นความยิ่งใหญ่ของชาวจีนทั่วโลก ก็เสมือนปัญหาแมวต่างสีนั่นเองครับ

ส่วนร่วมมือกันพัฒนาไปข้างหน้าเพื่อให้เกิดสันติภาพ ก็คือหากชนชาติจีน ได้ร่วมกันจับมือกันเดินหน้า พัฒนาในทุกๆ ด้าน เชื่อว่าชนชาติจีน จะเป็นชนชาติที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต ซึ่งในอดีตประเทศจีน ได้ถูกรุกรานจากชาติตะวันตก 8 ชาติมาก่อน ที่ถูกรุกรานเข้ามาแบ่งปันผลประโยชน์ในประเทศจีน ด้วยสงครามฝิ่นในครั้งก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง นั่นคือบทเรียนที่ชาวจีนทุกคนพึ่งสังวรไว้เสมอ 

สุดท้ายคือ ร่วมมือกันรวมชาติเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชนชาติจีน ท่านอยากจะเห็นการรวมชาติเพื่อมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชนชาติจีน ในที่นี้หมายรวมถึงชาวจีนทั้งโลก ซึ่งทุกพื้นที่ที่มีดวงอาทิตย์ ย่อมมีชาวจีนอาศัยอยู่ทุกที่นั่นเองครับ