"ความรุนแรง เกิดจากความอ่อนแอ"

20 ม.ค. 2567 | 00:47 น.

"เมื่อรู้ธรรมคืออะไร ความจริง ความถูกต้องความดีงามประโยชน์สุขที่แท้ อันพึงมุ่งหมายเป็นอย่างไร ก็ตั้งหลักได้" คอลัมน์สังฆานุสติ โดย บาสก

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์​ (ป.อ.​ปยุตโต​)​ เสนอแนวคิดแก้ปัญหาความรุนแรง​ ที่เกิดจากเยาวชน​และวัยรุ่น​ไทย​ โดยเสนอหลัก​ ​​5​ ​ข้อ​และหลักย่อย​ๆ​ ให้ยึดโยงกัน​ พร้อมทั้งให้ข้อคิดเรื่องอย่างนี้​ว่า​ ความรุนแรง​ เกิด​จาก​ความอ่อนแอ
 
เรื่องนี้​เจ้าพระคุณ​ เสนอไว้​ เมื่อ​ 19​ ก.ค. พ.ศ.​2549 ในการแสดงธรรม​เนื่องในวันอาสาฬหบูชา​ ณ​ วัดญาณ​เว​ศ​กวัน​ ขณะที่​ดำรงสมณศักดิ์​ ที่​ พระพรหม​คุณาภรณ์
 
แม้กาลเวลาที่แสดงธรรม​ นั้น​ ล่วงเลยมานาน​ ถึง​ 18​ ปีแล้ว​ สถานการณ์​ความรุนแรง​ ในสังคมไทยยังมีอยู่​ ดังที่เราเห็นข่าวกลุ่มเยาวชน​ ทำฆาตกรรมหญิงชรา​ที่จังหวัดสระแก้ว​
ข่าวนี้สังคมไทยรู้สึกหดหู่​ ว่าเด็กทำไปได้อย่างไร

ผมว่า​ หลายคนที่ติดตามข่าว​ ทางสื่อต่างๆ​ คงอยากฟังว่า​ จะมีวิธีอย่างไร​ ให้สังคม​สุข​สงบ​ สันติได้บ้าง

ก็ให้บังเอิญ​ผมพบหนังสือ ชื่อ​ ความรุนแรง​ เกิดจากความอ่อนแอ​โดยพระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ.​ป​ยุต​โต​ อาจเป็นคำตอบได้
 
หนังสือเล่มบางๆ​ หนา​ 27​ หน้า​ ที่บริษัทสหธรรมิก​ ขออนุญาต​ วัดญาณเวศกวัน​ พิมพ์​เพื่อมุทิตา​ พระเถระ​ ที่ไดัรับเลื่อน​หรือแต่งตั้งสมณศักดิ์​ ​5​ ธันวาคม​ พ.ศ.​2551 หนังสือนี้แสดงหลัก​การ​ และวิธีการลดความรุนแรงในสังคม​ ที่เกิดจากเยาวชน
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
 

เบื้องต้น​ท่านกล่าวถึง​ความสำคัญ​ ขอวันอาสาฬหบูชา​และสารสำคัญของ​ธัมมจักกัปวัตนสูตร​ และมัชฌิมา​ปฏิปทา ​เรื่องหลังนี้ท่านให้แยกแยะ​ ทางสายกลาง​และความเป็นกลาง​ให้ถูก เพราะมีความหมาย​ต่างกัน​ พร้อมกับเน้นว่า​เป็นกลางแท้​อยู่​ที่ความถูกต้อง​

การจะอยู่ในทางสายกลาง​ได้ต้องรู้ธรรม​ ​อยู่กับความจริง​ ​ความถูกต้อง​ และความดีงามได้ เราจะต้องมีคุณ​สมบัติ​หลายอย่าง​โดยเฉพาะ​อย่างยิ่งคือปัญญา​ ที่รู้และเข้าใจ

เมื่อรู้​ว่าธรรมคืออะไร​ ความ​จริง​ ความถูกต้อง​ ความดีงาม​ประโยชน์​สุข​ที่แท้​ อันพึงมุ่งหมายเป็นอย่างไรแล้ว​ ก็ตั้งหลักได้

คือมีหลักที่จะตั้ง​ตัว​ หรือรู้ว่าจะตั้งตัวอยู่ที่​ไหน​ และจะตั้งต้นไปอย่างไร

พระเดชพระคุณ​ นำเข้าสู่ปภระเด็นว่า​ การจะตั้งหลัก​ ​หรือจะตั้งตัวทึ่ไหน​ ต้องมีกำลัง​และความเข้มแข็ง​

ถ้า​อ่อน​แอ​ ยึดหลักไม่อยู่​ พอกระแสไหลมา ก็​พัด​พาไป​ ยิ่งในปัจจุบัน​กระแสแรงเหลือเกิน​ ทั้งๆ ​ที่รู้ว่าหลักคืออะไร​ แต่หลายคนยึดหลัก​ไว้​ไม่ได้​ เพราะ​โดน​กระแส​โลภ​ กระแสลาภ​ ​และกระแสอะไรต่อมิอะไร​ พัดพาไป

เมื่อยึดหลักไม่ได้​ก็เกิดอาการเบี่ยงเบนต่างๆ​ จึงเกิดปัญหาเบียดเบียน​ แย่งชิงกัน​ การทุจริต​ อาชญากรรมทางกาม

ความไม่ปกติทางเพศ​ เรื่องความรุนแรงต่างๆ​ ​แม้กระทั่งการรับน้องใหม่ในมหาวิทยาลัย​ ก็ยังมีเรื่องความรุนแรง​แฝงซ่อน​ ที่ดังระเบิดออกมา​ข้างนอก

เจ้าพระคุณ​ว่า​ ความรุนแรง​เหล่า​นี้​ เกิดจากความอ่อนแอ​

ท่านย้ำว่าความรุนแรง​ เกิดจากความอ่อนแอ​เชื่อไหม? ​ แล้วบอกญาติ​โยมให้คิดดู​

ท่านตั้งคำถามว่า​ อ่อนแอ​ อย่างไร​ ​แล้วเฉลย​ว่า​ ที่อ่อนแอ​เพราะยึดหลักไม่ได้​ กระ​แสอะไรมาก็ไหลไปด้วย​ อย่างน้อย​ก็กระแสความชอบ​ และไม่ชอบของตัวเอง​ แค่ชอบ​ใจ​ไม่ชอบใจ​ ก็ไปแล้ว

พระคุณท่านว่า​ ​การยึดหลักไม่ได้​ ทำให้สังคม​เจอปัญหา​หนัก​ เพราะคนอ่อนแอ​กันมาก​ หรือความอ่อนแอ​ระบาดไปทั่ว
 
อ่อนแอ​คืออะไร​ คือขาดกำลัง​ ทั้งกำลังนอก​ และกำลังใน​ หรือกำลังลดถอยลงจนน่าเป็นห่วง

แนวทางแก้ปัญหา​

เมื่อเรารู้ว่า​ สังคมอ่อนกำลัง​ ก็ต้องสร้างกำลังขึ้นมาให้ได้

การสร้างกำลัง​ให้ได้​ ต้องสวนกระแส​ะ​ มิใช่ต้านกระแส​ เจ้าพระคุณ​ว่า​ ทวนกระแสไหว​ ถ้าได้​พลัง​ 5​ ประการ

1.​ กำลังปัญญา​ ซึ่งเด็กต้องเรียนรู้​ว่า​ที่พ่อแม่เลี้ยงดู​ก็เพื่อให้ครอบครัวเจริญ​ งอกงาม​ ต่อ​ไปก็เป็นกำลังในการพัฒนาประเทศ​ เมื่อรู้และเข้าใจแบบนี้​ กระแสอะไร​มาพัดพาออกนอกลู่นอกทาง​ก็ทำไม่ได้

2​. กำลังที่​ 2​ คือสมาธิ​ นั่นคือบ่มเพาะให้จิตใจมั่นคง​ ไม่หวั่นไหว​อะไรมากระทบกระแทกก็ไม่วอกแวก ไม่หวั่นไหว​ ตั้งมั่นในสิ่งที่เราว่าถูก​ต้อง​ 

3.​ กำลังที่​ 3​ คือ​ สติ​ สตินี้คือความตื่นตัว​ ทันต่อเหตุการณ์​มีอะไรเกิดขึ้น​ ไม่เผลอ​ ไม่พลาด​ พอเห็นว่าอะไร​ เป็นอะไร​ ส่งให้ปัญญา​ รับลูกต่อ​และพร้อมจะตรวจตรา ท่านเปรียบสติว่า​ เหมือนนายประตู​ คอยตรวจว่าคนไหนร้าย​ คนไหนดี

4​. กำลังที่​ 4​ ความเพียร​ คำนี้มาจาก​วีระ​ แปลว่าแกล้วกล้า​ เข้มแข็ง​ ใจสู้​ จะเอาชนะภารกิจ​ ทำให้สำเร็จให้ได้ ความเพียร​ จึง​เป็น​ตัวแสดงออกของความไม่อ่อนแอ
 
5​. กำลังที่​ ​5​ คือศรัทธา​ เรื่องนี้ต้องหาจากข้างนอก​ ให้ศึกษาดูความสำเร็จของผู้อื่นที่ประสบความสำเร็จ เพื่อเอามาเป็นตัวอย่าง​ ในการสร้างกำลังภายในของเราให้เจริญ​ก้าวหน้า​ เหมือนคนที่เราศรัทธา​
  
นอกจากนั้น​ ท่านบอกให้ยึดเสาหลัก​ ที่ใกล้ตัว​ คือ​ พ่อ​ แม่​ ซึ่งเป็นเสาหลักสำคัญ​  นึกถึงท่านแล้ว​ พระคุณ​ของท่านจะแผ่ซ่านขึ้นมาทันที​ และเมื่อนึกถึงพระคุณ​ของท่าน​ ก็จะช่วยยับยั้ง​ หากคิดทำเรื่องให้ท่านเดือดร้อน

ครู​ เป็นผู้มีพระคุณ​อีกท่าน​หนึ่ง​ อาจช่วยยับยั้ง​ ไม่ให้ทำความชั่ว  เมื่อนึกถึง​คุณของคุณครู​ 

อุปัชฌาย์ อาจารย์​ เป็นบุคคลที่เป็นเสาหลักของกุลบุตร ที่เป็นศิษย์​ เมื่อใดที่นึกถึงท่าน​ เราก็มีความละอาย​ไม่ก่อกรรม​ ทำชั่ว

เรื่องสุดท้ายคือวัฒนธรรม​ ข้อนี้เป็นเครื่องนำใจ​ นำสังคมที่สำคัญ​ คนที่ยึดในวัฒนธรรม​ของตน​ซึ่งอาจเป็นหลักไม่ให้​ ทำความเสียหายได้​ เช่นกัน​
 
สุดท้าย​ พระคุณ​ท่านเสนอแนะให้เร่งพยุงเสาหลักขึ้นมา​ โดยทุกฝ่าย เช่นสถาบันชาติ​ สถาบันการศึกษา​ และสถาบันศาสนา​ต้องช่วยกัน​  เพื่อให้สังคมที่อ่อนแอ​ กลับมาเข้มแข็ง​ แล้วความร่มเย็น​เป็น​สุข​ จะเกิดขึ้น​ เป็นประโยชน์​สุข​ ทั้งแก่ชีวิต​ ครอบครัว​และประเทศชาติ​ สืบไป