รัฐบาลเจอทางตันล้วงเงินเกษตรกร 

12 เม.ย. 2567 | 23:00 น.

รัฐบาลเจอทางตันล้วงเงินเกษตรกร บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3983 

10 เม.ย.2567 มีเรื่องใหญ่ๆ และเซอร์ไพรส์ให้กับคนไทย ไปตามๆ กัน เรื่องแรกคือ โครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ให้กับประชาชนคนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่ถึง 70,000 บาท และมีเงินฝากตํ่ากว่า 500,000 บาท จำนวน 50 ล้านคน รวมเป็นเงิน 5 แสนล้านบาท

อย่างที่รับรู้กันว่า การที่รัฐบาลเลื่อนแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านกระเป๋าตังดิจิทัล มาเรื่อยๆ จากเดิมที่กำหนดๆ ไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มาเป็นเดือนพฤษภาคม 2567 และล่าสุดบอกว่า จะได้เงินภายในไตรมาส 4 ซึ่งก็ยังไมได้ระบุวันเวลาแน่ชัด สาเหตุหลักเพราะไม่สามารถหาแหล่งเงินใช้ได้จนครบจำนวน

หลังจากแผนการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ 500,000 ล้านบาท ถูกสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ท้วงติงว่า อาจมีความเสี่ยงผิดเงื่อนไข พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 53 และรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 140  

เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ ยังไม่วิกฤตถึงขั้นที่จะต้องตรากฎหมายพิเศษมากู้เงินแต่อย่างใด และโครงการนี้ไม่อยู่ในข่ายกรณีจำเป็นเร่งด่วน ตั้งงบประมาณไม่ทัน แต่เป็นการจ่ายเงินครั้งเดียวในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ไม่ต่อเนื่อง

การหาแหล่งเงินจึงต้องกลับมาใช้ในกรอบงบประมาณ หวยจึงไปออกที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หลังจากที่ไปดู พ.ร.บ.การจัดตั้งธ.ก.ส. แล้วเห็นว่า สามารถดำเนินการได้เหมือนจ่ายเงินประกันราคาที่ทำมาทำให้ ธ.ก.ส.ต้องสำรองเงินจ่ายไปก่อน 172,300 ล้านบาท ตามมาตรา 28  พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ 

หลังจากก่อนหน้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติเพิ่มกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วงเงิน 152,700 ล้านบาท เพื่อสำรองเงินไว้แล้ว และที่เหลืออีก 175,000 ล้านบาท จะมาจากการจัดการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 

ปลัดกระทรวงการคลัง “ลวรณ แสงสนิท” ยืนยันว่า วงเงินตามมาตรา 28 เป็นการคำนวณจากกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ที่ 3.752 ล้านล้านบาท จึงยังมีวงเงินเหลือพอ โดยไม่ต้องขยายกรอบวงเงินเพิ่มเติมจาก 32% แต่อย่างใด

อีกเรื่องที่เรียกว่า หักปากกาเซียนคือ มติคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี โดย 2 เสียง ซึ่งก็คาดว่าจะเป็นคนนอก เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี ทั้งที่กนง. ควรปรับลดอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2567 เหลือ 2.6% และปี 2568 ที่ 3.0%

เรียกว่าสร้างความผิดหวังให้กับเอกชน ที่ต่างก็เฝ้าดูว่า กนง.ในฝั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองน่าจะเสียงแตกกลับลำมาลดดอกเบี้ยนโยบายลง หลังสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยชัดเจนขึ้น เพื่อลดภาระให้ผู้ประกอบการและ SMEs  และเพิ่มกำลังซื้อในประเทศให้มากขึ้นด้วย 

แต่เสียงสัญญาณที่ส่งไปรวมถึงแรงกดดันจากรัฐบาลเอง ก็ไม่สามารถทำให้กนง.ฝั่ง ธปท. เสียงแตกให้หันมาปรับท่าทีลงได้