ธุรกิจและครอบครัว เหรียญสองด้าน

16 มี.ค. 2567 | 08:28 น.

ธุรกิจและครอบครัว เหรียญสองด้าน : Family Business Thailand รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

ไม่รู้ว่าใครเป็นคนแรกที่พูดว่า “เราควรแยกธุรกิจและครอบครัวออกจากกัน” คำพูดนี้ไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด การไม่เอาธุรกิจและครอบครัวมารวมกันกับการแยกธุรกิจกับครอบครัวออกจากกันนั้นมีความหมายแตกต่างกัน การไม่เอามารวมกันคือไม่เอามาปะปนกัน แต่การแยกคือไม่เกี่ยวข้องไม่สัมพันธ์กัน

ธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จนั้นไม่ได้แยกธุรกิจและครอบครัวออกจากกันแต่เชื่อมโยงและสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพราะหากมีการบริหารจัดการที่ดีและมีครอบครัวคอยสนับสนุนในสิ่งที่ถูกต้อง การเชื่อมโยงธุรกิจกับครอบครัวต้องเข้าใจในประเด็นดังนี้ เข้าใจบทบาท และผลประโยชน์ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ในปีค.ศ. 1982 John Davis และ Renato Tagiuri จาก Harvard Business School ได้สร้างแบบจำลองวงกลม 3 วง (ภาพที่ 1) เพื่อทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของ ธุรกิจ และครอบครัว

ในธุรกิจครอบครัว วงกลม 3 วงแสดงถึงความกดดันและการมีปฏิสัมพันธ์ 7 ส่วน และบุคคลสามารถย้ายไปมาระหว่างส่วนต่างๆ ได้ตลอดช่วงชีวิตของธุรกิจครอบครัว ซึ่งการทำความเข้าใจผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่ม จุดที่สามารถเกิดความขัดแย้งขึ้นได้ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจที่สำคัญในแต่ละส่วน มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาความสามัคคีในครอบครัว

มีค่าตอบแทนที่สะท้อนผลงาน มีหลายวิธีที่สมาชิกในครอบครัวสามารถได้รับค่าตอบแทนจากการมีส่วนร่วมในธุรกิจ พึงตระหนักว่าเมื่อแต่ละบุคคลมีระดับการมีส่วนร่วมที่แตกต่างกัน สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีความชัดเจนและเข้าใจถึงค่าตอบแทนจากการทำงานในธุรกิจและค่าตอบแทนจากทุนในการเป็นเจ้าของธุรกิจ ในกรณีที่สมาชิกในครอบครัวไม่เข้าใจกลยุทธ์การจ่ายค่าตอบแทนอย่างถ่องแท้ ก็มีความเสี่ยงสูงมากที่สมาชิกในครอบครัวจะหมดกำลังใจหรือแย่กว่านั้นคือการทะเลาะเบาะแว้งกัน

ธุรกิจและครอบครัว เหรียญสองด้าน

มีการสนับสนุนซึ่งกันและกันที่กว้างขวาง ธุรกิจครอบครัวแต่ละรายมีลักษณะที่แตกต่างกัน และจะพบกับความท้าทายในช่วงเวลาที่ต่างกันไป ทำให้จะไม่ได้มีความรู้ทุกอย่างเสมอไป สิ่งสำคัญคือต้องมีเครือข่ายที่เชื่อถือได้อยู่รอบตัว เช่น คู่ค้า ลูกค้า หรือสมาชิกครอบครัว เพื่อที่จะสามารถขอความช่วยเหลือและคำแนะนำได้

สืบทอดหรือสร้างความต่อเนื่องของธุรกิจ สำหรับคนรุ่นเก่าแล้วการวางแผนสืบทอดกิจการมักเป็นสิ่งที่ถูกเลื่อนออกไปเรื่อยๆ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการหมดหน้าที่สำคัญในชีวิต และความกลัวว่าชีวิตหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร ความคิดเช่น ฉันจะใช้เวลาที่เหลือทำอะไร ธุรกิจจะอยู่รอดได้โดยไม่มีฉันหรือไม่

จะยังคงมีเงินจับจ่ายใช้สอยจากที่ไหน เป็นคำถามที่พบบ่อยและมักจะทำให้การพูดคุยเรื่องสำคัญนี้ถูกเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด ความจริงที่พบคือการสืบทอดกิจการมีแนวโน้มที่จะเป็นกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไปมากขึ้น ทั้งนี้การสืบทอดการบริหารและการสืบทอดความเป็นเจ้าของเป็นสิ่งที่แตกต่างกันอย่างมาก

การป้องกันเหตุการณ์ร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น เหตุการณ์ในครอบครัว เช่น การหย่าร้าง การเจ็บป่วย และการเสียชีวิต ล้วนเป็นตัวอย่างของสิ่งที่อาจส่งผลเสียอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจ สิ่งสำคัญคือต้องพิจารณาว่าธุรกิจจะยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างไรเมื่อเกิดสถานการณ์เหล่านี้ขึ้น และจะมีการป้องกันอะไรบ้างเพื่อลดความเสียหายและการหยุดชะงักที่เกิดขึ้นในแต่ละกรณี พินัยกรรม สัญญาการถือครองทรัพย์สินร่วมกัน และข้อตกลงก่อนหรือหลังสมรสเป็นสิ่งสำคัญที่อาจจะช่วยได้

                             

• อ้างอิง: http://www.famz.co.th

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,974 วันที่ 14 - 16 มีนาคม พ.ศ. 2567