ช่องทางธรรมชาติ เส้นทางหลบหนี

30 พ.ย. 2567 | 08:55 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ย. 2567 | 09:38 น.

ช่องทางธรรมชาติ เส้นทางหลบหนี คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

KEY

POINTS

  • พะกาหม่องและสล่าจายร่วมมือกับกลุ่มกบฏในเมืองแพร่ โดยมีการสนับสนุนจากนายฮ้อยคำจ่าม ซึ่งเคยปล้นเมืองพะเยา และจุดชนวนให้เกิดการยึดเมืองแพร่ โดยมีเหตุการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เป็นปัจจัยสำคัญในการปฏิวัติครั้งนี้
  • เจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์แห่งเมืองแพร่หนีการจับกุมโดยผ่านเส้นทางธรรมชาติและการหลบหนีไปยังหลวงพระบาง โดยมีการพึ่งพาบุคคลและช้างในระหว่างทาง และได้รับการปกป้องจากเจ้าหลวงเมืองทุ่ง ก่อนจะไปขอลี้ภัยในหลวงพระบาง

(ต่อจากตอนที่แล้ว)

กลับมากล่าวถึงที่กรณีพะกาหม่อง ผู้ซึ่งมีน้ำอดน้ำทนทำงานขุดเหมืองอยู่ที่บ่อแก้ว เด่นชัย มีมือขวาอยู่คนคือสล่าจาย (ชาย/ไชย) เก่งทางเจียระไนพลอย

ดังได้เรียนแล้วว่า สล่า นี้แปลว่าช่าง_ช่างมีฝีมือ ซึ่งในบางภูมิภาคของล้านนา สล่าสามารถทำหน้าที่ในเชิงพิธีกรรมหรือในทางศาสนาได้ด้วยโดยเฉพาะการเทศนาในงานศพยามเมื่อมีคนตาย สล่า ‘โป’ จาย (โป แปลว่าหัวหน้า) มีมือซ้ายอยู่คนหนึ่ง ยศเปนจอง ชื่อ จองแข่

เวลานั้นโจรเงี้ยวตัวเอ้แกชื่อนายฮ้อยคำจ่าม เคยปล้นเมืองพะเยาสำเร็จมาแล้ว หนีมาซ่องสุมกันอยู่ที่เมืองงาวลำปาง ได้หาทางมาเจรจาต้ะอ่วย หมายเอาพะกาหม่องเปนพวกทำการกบฏ โดยแสดงบทบาทให้การสนับสนุนเสบียงศาสตราวุธและกำลังพลทุกประการ ประกอบกับเวลานั้นรัฐบาลกลางประกาศการบังคับใช้แนววิธีเรียกเก็บเงินค่ารัชชูปการคนละ 4 บาทต่อปี เสมือนอย่างว่าเป็นภาษี ทำให้ผู้ที่มีแรงงานขุดพลอยในมือหลายร้อยคนอย่างพะกาหม่องมีความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม ก็เกิดอารมณ์ร่วมในการปฏิบัติการเข้ายึดเมืองแพร่

จังหวะมาพอดีกันกับกรณีเงินในคลังหลวงของนครแพร่หายไปก้อนหนึ่ง ซึ่งเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา ดังนี้แล้วก็เท่ากับว่าองค์ประกอบของการปฎิบัติการยึดเมืองแพร่ก็ครบถ้วนบริบูรณ์ ไฟชนวนก็จุดติดและระเบิดขึ้นได้ง่ายดาย

พะกาหม่อง ก็ตั้งโป ให้เปนหัวหน้ารองจากตัวคือ โปจองแข่ กับ สล่าโปจาย ดังกล่าวแล้วเข้าตีเข้ายึดเมืองแพร่ ตามที่ได้เล่าสู่ท่านฟังในฉบับก่อนๆ

 

ช่องทางธรรมชาติ เส้นทางหลบหนี

 

ส่วนประวัติศาสตร์ช่องทางการหลบหนีของเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์แห่งเมืองแพร่นั้น มีสำนวนหนึ่งที่น่าสนใจคัดมาจากคำบอกกล่าวของเจ้าอาวาสวัดพระธาตุสุโทนมงคล แห่งอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นผู้ทรงภูมิรู้ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของทางล้านนาเป็นอย่างมาก สามารถก่อสร้างพระบรมสารีริกธาตุเจดีย์ได้อย่างสวยสดงามงดน่าประทับใจในศิลปะเชิงช่าง ซึ่งท่านอรรถาธิบายว่าท่านได้รับข้อมูลมาจากหนึ่งในคณะผู้ตามเสด็จพระเจ้าเมืองแพร่เสด็จลี้ภัยออกจากนคร คือ หนานพญากาวิไชย ซึ่งชราภาพลงมากแล้ว ว่า

เวลานั้นทางราชการตั้งด่านสกัดพระเจ้าแพร่อยู่ที่ด่านลำปางและด่านเมืองน่าน พระเจ้าแพร่ไหวตัวทันท่านเสด็จออกไปที่ปางช้างในป่าลึกของราชบุตรเขยของท่านก่อนชื่อว่าปางต้อยคำ โดยท่านได้เรียกหาทีมงานตามเสด็จซึ่งรู้มือกันมาช้านานจำนวนสามคนชื่อ พญาหนานขัตติยะ พญาหนานกาวิชัย หนานนามวงศ์ ร่วมเดินทาง อาศัยช้างลักษณะดีหนึ่งเชือกจากปางช้างของราชบุตรเขยผูกกูบมีหลังคา ออกเดินทางในเวลากลางคืน มุ่งหน้าไปชายแดนเมืองทุ่ง

เมื่อถึงเวลากลางวันพระอาทิตย์ขึ้นก็หยุดช้างตัวพระเจ้าแพร่หลบเข้าในป่าลึกหน่อย ให้หนานขัติเป็นคนหุงหาทั้งข้าวคนและข้าวช้าง เพื่อป้องกันว่ามีใครผ่านเห็นไปมาจะได้เข้าใจเอาว่าเดินมาลำพัง เมื่ออิ่มข้าวกันแล้วจึงนำข้าวไปส่งเจ้าหลวงในป่า รอจนตะวันหมดแสงจึงออกเดินทางกันใหม่โดยเจ้าหลวงเมืองแพร่ประทับอยู่ในกูบช้าง จนถึงบ้านห้วยอ้อย แก่บ้านห้วยอ้อย เป็นผู้ที่เจ้าหลวงเคยปราณีและโปรดปรานมาก่อนได้ออกรับเจ้าหลวงและถวายอารักขา พร้อมจัดนายพรานชำนาญป่ามาถวายหนึ่งคน เช้าขึ้นจึงออกเดินทางฝ่าฝนถึงเมืองงั่ว เมืองรี ใช้เวลา 4 วัน

 

ช่องทางธรรมชาติ เส้นทางหลบหนี

 

จนเมื่อถึงเมืองทุ่งพระเจ้าแพร่หยุดช้างอยู่ชายเขต ห่างจากคุ้มเจ้าเมืองทุ่งพอประมาณแล้วเสด็จลงหลังช้างเดินเท้าเข้าไปพบเจ้าหลวงเพื่อเป็นการให้เกียรติ เจ้าหลวงเมืองทุ่งชนมายุน้องกว่า 5 ปี ตกใจเมื่อเห็นพระเจ้าแพร่มา ก็ต้อนรับขับสู้ถวายอารักขา ประทับอยู่กับเจ้าหลวงเมืองทุ่งได้หนึ่งเดือนก็มีพระปรารภจะขออำลาข้ามไปเขตหลวงพระบาง

เจ้าหลวงเมืองทุ่งก็ทูลทัดทาน ด้วยว่าเป็นฤดูน้ำน้ำโขงไหลเชี่ยวอันตราย พระเจ้าแพร่ขายช้างให้เจ้าหลวงเมืองทุ่ง แล้วใช้ลูกหาบเดินเท้าเดินทางต่อจนข้ามน้ำได้ ถึงหลวงพระบางและเข้าหาเจ้ามหาชีวิตเมืองหลวงพระบาง ขอกรุณาฝากเนื้อฝากตัวเป็นราษฎรอยู่ในเมืองหลวงพระบางไปตลอดจนสิ้นอายุขัย เจ้าชีวิตเห็นเจ้าพ่อหลวงตกอับคับใจก็มีเมตตาปราณีอนุญาตให้พักพิงด้วยยินดีจัดเตรียมที่ในคุ้มให้หลังหนึ่งเปน เอกเทศอยู่ในเขตพระราชวังหลวงพระบาง

ทีนี้ว่าเนื่องจากในเวลานั้นหลวงพระบางเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส เจ้ามหาชีวิตหลวงพระบางได้ขออนุญาตต่อรัฐบาลฝรั่งเศสโพ้นทะเลในเรื่องของเจ้าหลวงลี้ภัย รัฐบาลฝรั่งเศสตกลงให้เจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ดำรงตำแหน่ง ตาแสง (กำนัน) บ้านเชียงแมน เจ้าชีวิตจัดหาสถานที่เกณฑ์ประชาชนสร้างเรือนให้แล้ว เจ้าหลวงแพร่ก็ย้ายจากคุ้มเจ้ามหาชีวิตมาอยู่บ้านใหม่ เจ้ามหาชีวิตจัดการแต่งงานให้อีก โดยประทานเจ้าจันทร์หอมหลานของเจ้าวังหน้าหลวงพระบางเปนชายา ทำให้ท่านพอมีรายได้จากตำแหน่งและมีครอบครัวดูแลมิให้เปลี่ยวดาย

ต่อมาเกิดโอรสขึ้นองค์หนึ่งชื่อ เจ้าคำมั่น ประวัติศาสตร์ระบุว่าเป็นบุรุษร่างระหงผิวขาวอายุไม่เกินเบญจเพส ได้ข้ามโขงเข้ามาเยี่ยมญาติในเมืองแพร่อยู่หลายเดือนพักอยู่กับเจ้ากาบคำธิดาเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ แต่คล้ายกับโชคชะตาวาสนาเล่นตลก เจ้าคำมั่นมีชีวิตอยู่ได้เพียงหนึ่งปีก็ถึงกรรมที่โรงพยาบาล Mission ในนครแพร่ ด้วยไข้ปอดบวม

ข้างพระบิดาคือเจ้าหลวงเมืองแพร่ กำนันตาแสงบ้านเชียงแมน สิ้นชีวิตของท่านลงที่เมืองหลวงพระบางสิริชนมายุได้ 74 พรรษา

 

ช่องทางธรรมชาติ เส้นทางหลบหนี

 

ที่นี้ว่าที่คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ กลางนครแพร่นั้นเวลาผ่านมาอีกศตวรรษหนึ่ง ปรากฏว่ามีทหารเรือผู้ใหญ่ชั้นเสนาธิการกองทัพมีเชื้อสายราชินิกุลด้วย ท่านผู้นี้เป็นผู้ปฎิบัติธรรมได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมคุ้มเจ้าหลวงและได้รับการติดต่อจากดวงวิญญาณประหลาดที่ยังคงสิงสถิตอยู่ในคุ้มแห่งนั้นขอให้ท่านช่วยดำเนินการปลดปล่อย

ในอดีตนั้นใต้ถุนของคุ้มวังของเจ้าพระยามหาชีวิตต่างๆก็มักใช้เป็นที่ขังทาสขังนักโทษ ทีนี้ว่าเมื่อเจ้าหลวงเมืองแพร่เสด็จลี้ภัย คุ้มของท่านตกเป็นของรัฐ ดวงวิญญาณนักโทษนักทาสต่างๆ รวมถึงผู้ที่ต้องคดีกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ด้วยซึ่งว่ากันว่าชิงกินยาตายพร้อมกับเจ้านางเวียงชื่นกว่า 40 ศพ ไม่ได้รับการปลดปล่อยอย่างถูกต้องก็ติดค้างอยู่ในนั้น ประดาผู้ว่าราชการจังหวัดในยุคก่อนพำนักอยู่ที่นี่ก็พบเหตุประหลาดหลายประการ เป็นที่เลื่องลือ มาครั้งนี้ท่านนายพลเรือร่วมกับผู้ว่าราชการปรึกษากันกับนายกอบจ. ผู้ซึ่งมีเชื้อสายเจ้าเมืองแพร่เห็นควรจำลองแบบคุ้มหลวงเมืองแพร่ขนาดเล็กออกมาก่อน แล้วจึงเชิญวิญญาณทั้งหลายมีอยู่ 168 ตนย้ายที่อยู่มาอยู่ในคุ้มจำลองแห่งนี้ เมื่อถึงวันเวลาเหมาะสม คณะทำงานเปิดประตูใต้ถุนคุ้มลงไปก็ต้องชะงักเพราะไปเจอศาลเพียงตาขนาดย่อมสร้างด้วยไม้อย่างดี ปลูกอยู่ในบริเวณใต้ถุนที่คุมขังนั้น! แสดงว่ามีผู้รู้จริงประสบเหตุมาก่อนแล้ว

 

ช่องทางธรรมชาติ เส้นทางหลบหนี

 

ทุกวันนี้ท่านที่จะเยี่ยมชมคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ก็จะพบว่าบริเวณคุ้มจำลองภายนอกมีผู้นำรูปของเจ้าแม่บัวไหลประดิษฐานไว้ที่ชั้นบน แวดล้อมด้วยรูปปั้นบริวารและนางรำส่วนด้านหน้าคุ้ม ประดาทายาทขออนุญาตรัฐบาลสามารถตั้งรูปเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์เจ้าของคุ้มไว้เป็นอนุสาวรีย์ให้สักการะบูชาได้ ข้างฝ่ายทางลำปางนั้น ก่อนหน้าที่จะมีการเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพในครั้งนี้ เจ้านครลำปางองค์สุดท้ายคือเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิตย์ได้ถึงแก่พิราลัยไปก่อนแล้วหลายปีผู้มีลำดับศักดิ์ในราชวงศ์ลำปางสูงที่สุดฝ่ายหญิงตกแก่เจ้าศรีนวล ณ ลำปาง (นามเดิมเจ้าหญิงสำเภาคำ) พระธิดาของเจ้าบุญวาทย์ฯ ซึ่งกำเนิดมาแต่เจ้าแม่เมืองชื่น ผู้ซึ่งเปนพระราชธิดาของเจ้าวรญาณรังษี เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ 6

 

ช่องทางธรรมชาติ เส้นทางหลบหนี

 

ในขณะที่ผู้มีลำดับศักดิ์สูงที่สุดในเมืองลำปางฝ่ายชาย คือเจ้าแก้วปราบเมรุ ณ ลำปาง ซึ่งในเวลานั้นทำหน้าที่เป็นผู้บังคับการตำรวจอยู่ด้วยและเปนที่เจ้าราชราชวงศ์ หากลำดับสถานการณ์การเมืองในเวลานั้นก็จะพบว่าเกิดมีข้อพิพาทในหมู่ทายาทสายสกุล ณ ลำปาง อยู่พอสมควร

กล่าวคือ แม้เจ้าแก้วปราบเมรุเองจะมีมารดาเป็นพระราชธิดาของเจ้าวรญาณรังษี เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่หกเช่นกันกับเจ้าศรีนวล แต่ผิดกันตรงที่ว่าบิดาของเจ้าแก้วปราบเมรุ มิได้เป็นเจ้าหลวง เปนแต่เพียงเจ้าบุรีรัตน์ แห่งนครลำปาง ส่วนปู่ของท่านเปนที่เจ้าอุปราชหมูล่า (ซึ่งท่านผู้นี้เป็นผู้เดียวในวงเชื้อเจ็ดตนที่มิได้ครองนครใดๆในเมืองเหนือเลยเป็นได้แต่เพียงเจ้าอุปราช)

เมื่อเทียบกันกับเจ้าศรีนวลสำเภาคำ ผู้ซึ่งมีสถานะเป็นราชธิดาเจ้าหลวงแล้วยังมีมารดาเปนมหาเทวีเอก จึงมีเหตุให้เจ้าศรีนวลมีหนังสือมากราบบังคมทูลทางราชสำนักกรุงรัตนโกสินทร์ ว่า

“หากข้าเจ้าถือกำเนิดมาเปนจาย (ชาย) ศักดิ์และสิทธิ์ทุกอย่างจะตกเปนของข้าเจ้าโดยชอบธรรม”และ

“ข้าเจ้าขอใช้สิทธิ์การเปนบุตรีเพียงคนเดียวในป้อเจ้าบุญวาทย์ฯ (ที่กำเนิดแต่พระมหาเทวี.. ผู้เขียน) หื้อเจ้าราชบุตรแก้วเมืองพวนผู้เปนสามี (คนปัจจุบัน…ผู้เขียน) เปนผู้สืบทอดอำนาจจากป้อเจ้าแทน”

 

ช่องทางธรรมชาติ เส้นทางหลบหนี

 

ซึ่งอันนี้ก็ไม่รู้ว่าเป็นจังหวะดีหรือจังหวะร้ายสำนักรัฐบาลกรุงเทพฯ จึงให้เจ้าราชบุตรแก้วเมืองพวน ดำรงตำแหน่งผู้รั้งนครลำปางไปพลางก่อน โดยยังไม่ได้ตั้งเจ้าหลวงลำปางให้เป็นเรื่องเป็นราว

และในเวลาเดียวกันนั้นเจ้าแก้วปราบเมรุ ผู้ซึ่งได้รับการสนองพระเดชพระคุณในราชสำนักกรุงเทพ มาโดยต่อเนื่อง เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพถึงนครลำปางก็มีพระมหากรุณาฯโปรดเกล้าพระราชทานสัญญาบัตรให้เจ้าแก้วปราบเมรุเปนนายพลตำรวจตรี แม้จะมีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าราชวงศ์ตามเดิม และได้โดยเสด็จเข้ากระบวนช้างเลียบเมืองเชียงใหม่ตามปรากฏในบันทึกประวัติศาสตร์

จากจดหมายเหตุขบวนช้างในฉบับก่อนๆก็จะพบว่าเจ้านายฝ่ายเหนือที่อ่อนอาวุโสที่สุดขึ้นทรงช้างนำขบวนเสด็จได้แก่เจ้าวงศ์เกษม ณ ลำปาง ซึ่งเป็นลูกชายของเจ้าผู้รั้งนครลำปาง_แก้วเมืองพวนผู้นี้นี่เอง ด้วยในเวลานั้นเจ้าแก้วเมืองพวนก็ถึงแก่อนิจกรรมระหว่างดำรงตำแหน่ง และรัฐบาลไทยยังไม่ได้แต่งตั้งผู้ใดดำรงตำแหน่งเจ้าหลวงนครลำปางอีกตามเคย

ส่วนผู้มีลำดับศักดิ์ที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองลำปางคงเหลือเพียงแต่เจ้าราชวงศ์แก้วปราบเมรุ จะเห็นว่าเจ้าราชวงศ์แก้วปราบเมรุขึ้นทรงช้างอยู่ในลำดับอาวุโสสูงที่สุดอันดับสามก่อนถึงช้างพระที่นั่ง

คือช้างของเจ้าแก้วปราบเมรุนำหน้าช้างของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ผู้ครองนครลำพูน ซึ่งมีศักดิ์สูงกว่าและตามด้วยช้างของเจ้าหลวงนครเชียงใหม่ผู้มีลำดับศักดิ์สูงที่สุด ก่อนจะถึงช้างทรงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7