สลากย้อม เทศกาลอลังการแห่งเมืองลำพูน

14 ก.ย. 2567 | 06:20 น.

สลากย้อม เทศกาลอลังการแห่งเมืองลำพูน คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

หลายปีก่อนโควิด-19 จะมา เวลานั้นที่วัดพระธาตุหริภุญไชย เมืองลำพูน ท่านจัดเทศกาลสลากย้อม ทำต้นสลากสีสันสวยงามปราณีตศิลป์ ต้นหนึ่งๆสูงใหญ่กว่าเสาไฟฟ้า!

หวังใจจะจองร่วมบุญสักหนึ่งต้น_ก็มิทัน ด้วยพุทธศาสนิกชาวหละปูน ท่านมีแก่ใจให้ศรัทธา จองทานกุศลนี้ไว้ครบถ้วนทุกต้นแล้ว เหลือเพียงต้นขนาดเท่าหัวคนจำนวนหนึ่งจึงขอเหมาเพื่อเข้าร่วมบุญ เข้าทุนกุศลกับปวงท่าน ก็เกือบจะไม่ทัน เหลืออยู่ต้นสุดท้าย พอให้ได้แทรกตัวเข้าร่วมบุญทันการกุศลที่สวยงามอลังการชนิดนี้

 

สลากย้อม เทศกาลอลังการแห่งเมืองลำพูน

 

ดังได้เล่าท่านฟังแล้วในตอน ศิลปะไทลื้อ ว่าทางสายศิลปะจารีตขนบประเพณี ชาติพันธุ์ฝ่ายไทลื้อก็ทำสลากย้อม

ในยุคที่อาณาจักรโบราณตั้งเมืองหลวงเมืองเอกกำหนดขอบเขต sovereignty (อธิปไตย) การจะให้บ้านเมืองเข้มแข็งก็ต้องชักจูง แกมบังคับ ให้ผู้คนต่างๆเข้ามาพำนักพักอาศัย สร้างบ้านแปงเมืองกัน ตรงกับคำเก่าล้านนาว่า “เก็บผักใส่ซ้า (ตะกร้า) เก็บข้าใส่เมือง”

เอ้า_ก็ตำราเก่าครูสอนว่า ประเทศหนึ่งๆจะเปนประเทศกับเขาได้ นอกจากมีที่ดินแล้ว ต้องมีพลเมืองกะเขาด้วย ส่วนพลเมืองนั้นจะเปนพลเรือน (civil) หรือ พลรบ (army) ก็แล้วแต่ๆ ดังนี้แล้วอาณาจักรเก่าๆจึงย่อมมีลักษณะพหุสังคม_ผู้คนหลากเผ่าหลายพันธุ์มารวมตัวร่วมอยู่กันเปนธรรมดา

ประดาไทยอง (อ่าน ไท-ยอง) ในเมืองลำพูน หริภุญไชยนี้เองท่านว่าเปนต้นตั้งตัวตีในการฟื้นประเพณีสลากย้อม ย้อนไปในความมัวซัวของวัน_เวลา ถึงเวลาขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบ ออกพรรษาแล้ว คนยองในลำพูน ทำบุญโอยทานแบบสลาก คือ ตั้งกองบุญโดยไม่ระบุเจาะจงผู้รับ ให้จับสลากกันเอา

ทว่า ทานสลากนี้จะมีแบบหนึ่งที่เรียกว่า สลากย้อม เปนทานโดยหน้าที่ของหญิงสาวโดยเฉพาะ ผู้สาวที่มีอายุ 17-20 ปี ที่ยังไม่มีครอบครัว ควรจะทำทานสลากย้อม ด้วยเปนการบุญที่ยิ่งใหญ่โสตหนึ่ง อีกโสตหนึ่งเปนนัยยะพิธีเปลี่ยนผ่านวัยรุ่นไปสู่ความเปนผู้ใหญ่ (อย่างว่าพร้อมจะออกเรือน)

 

สลากย้อม เทศกาลอลังการแห่งเมืองลำพูน

 

ชาติพันธุ์ล้านนาล้านช้าง เปนผู้มีความฉลาดเปี่ยมภูมิปัญญา ที่มาฝึกหัดลูกสาวให้ทำต้นสลาก เนื่องจากการทำต้นสลากย้อม ไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากใช้แรงงานใช้การฝีมือแล้ว ยังต้องใช้สตางค์อีกมาก กว่าจะทำสลากได้อาจต้องใช้เวลาถึง 4-5 ปี ในการเก็บออม ลูกสาวรุ่นจึงต้องหัดรู้จักเก็บหอมรอมริบ รู้จักมัธยัสถ์ เพื่อจัดทำต้นสลาก

โดยปวงเขาจะเริ่มตระเตรียมข้าวของตกแต่งต้นสลากทีละเล็กละน้อย ทั้งข้าวของเครื่องใช้ แก้ว จาน ช้อน ขัน(สลุง) ส้มสุกลูกไม้ มะพร้าว ฟักแฟง ข้าวเปลือก ขนม เครื่องนุ่งห่ม งานหัตถกรรมพื้นบ้าน เช่น ใบยาเส้นมวนที่ร้อยกันเปนแพ   ไซหรือเครื่องจักสานเล็กๆ ตามจารีตแล้วบนยอดต้นสลากที่สูง 10 กว่าเมตรนั้น จะปักร่มกางไว้ ตามเชิงชายของร่มจะห้อยด้วยแก้วแหวนเงินทอง สร้อยขอ เข็มขัดเงิน อย่างสวยงาม ถวายเปนทานแต่พระพุทธ พระสงฆ์

การทำสลากย้อมต้นโตอย่างนี้ จึงเปนการที่หญิงสาวได้เรียนรู้ฝึกฝนความรู้และหน้าที่ต่างๆ ที่แม่บ้านพึงจะมี ทั้งการออม งานหัตถกรรม การเย็บปักถักร้อย ฯลฯ ในเวลาเดียวกันการทำต้นสลากยังต้องอาศัยแรงงานจำนวนมาก  ทั้งญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงทั้งหญิงและชาย โดยมากฝ่ายชายจะมาช่วยทำโครงต้นสลาก ส่วนฝ่ายหญิงจะช่วยทำงานหัตถกรรมเพื่อตระเตรียมไว้ตกแต่งต้นสลาก ช่วงเวลาการทำต้นสลากในอดีตจึงเปนช่องทางในการพบปะเกี้ยวพาราสีและดูตัวดูน้ำใจระหว่างชายหนุ่มหญิงสาวในหมู่บ้านด้วย

 

สลากย้อม เทศกาลอลังการแห่งเมืองลำพูน

 

จนเมื่อเสร็จงานต้นสลากแล้ว หญิงสาวเจ้าของต้นสลาก ต้องไปว่าจ้างสล่าปู่ครูหมอผู้ที่มีความชำนาญในการแต่งกลอนพื้นเมือง มาแต่งกลอน หรือ  “กะโลง” เล่าถึงชีวประวัติของเจ้าของสลากย้อม นับตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในบทกลอน ท่านผู้แต่งจะสอดแทรกคติธรรม เพื่อสั่งสอนการดำเนินชีวิตที่ถูกครรลองครองธรรมแก่ผู้ฟังและเจ้าของสลากย้อมเอาไว้ให้

คืนสุกดิบทำดา ตกแต่งสลากย้อม ปวงเขาก็จะมีการขับ “กะโลง” เพื่อสร้างบรรยากาศในการทำงาน  ใครเสียงดีและอ่านม่วนก็จะมาช่วยกันขับร่วมกันอย่างน้อย 2-3 คน  ถ้ากะโลงใครแต่งดีก็จะมีคนมาอ่านไม่ขาด เปนที่เชิดหน้าชูตา ดังนั้นเจ้าของจึงมักเลือกจ้างคนที่มีฝีมือดีจริงๆ แม้ค่าจ้างจะแพงก็ยอม เปนการอุปถัมภ์ศิลปินอย่างดีชนิดหนึ่ง ครั้นถึงเช้าวันตาน (ทาน)สลาก  กลุ่มเจ้าของก็จะช่วยกันหามต้นสลากจากบ้านมาที่วัด

อันว่าเสาสลากย้อมนี้ ใช้คนหามอย่างน้อย 12 คน เพราะหนักมาก การตานก็จะคล้ายกับสลากภัต  คือมีการจับสลาก  สลากย้อมตกแก่พระภิกษุหรือสามเณรรูปใด ก่อนประเคนรับพรจากพระหรือสามเณรรูปนั้น  เจ้าของจะให้คนมาอ่านกะโลงอีกครั้งหนึ่งให้พระฟัง งานการตานสลากย้อมในเมืองลำพูนหยุดทำกันไปช่วงหนึ่ง จนมารื้อฟื้นทำกันอีกครั้งเมื่อปี 2546 โดยคณะสงฆ์ในจังหวัดลำพูน ประยุกต์ให้เข้ากับกาลสมัยเวลา

 

สลากย้อม เทศกาลอลังการแห่งเมืองลำพูน

 

อดีตสลากย้อมทำโดยหญิงสาว แต่ปัจจุบันเจ้าภาพที่ทำต้นสลากคือวัด โดยมีศรัทธาชาวบ้านจากสามตำบล คือ ประตูป่า/ริมปิง/หนองช้างคืน เวียนกันเข้ามาช่วยแรงงานสานสัมพันธุ์ท้องถิ่น ส่วนเงินทุนส่วนหนึ่งมาจากการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุน และมีการประกวดต้นสลากย้อมด้วย การเตรียมงานสลากย้อมสมัยนี้ยังคงใช้เวลาเปนแรมเดือนลานวัดจะมีผู้คนทั้งชายหนุ่มและพ่ออุ๊ย มาช่วยกันตัดไม้ไผ่เพื่อทำโครงต้นสลาก   บ้างก็นั่งเหลาไม้เรียวและ ‘ย้อม’ เปนสีสันต่างๆ นั่งถักขะจาร้อยเมล็ดข้าวเปลือก ตัดตุง เพื่อเตรียมไว้ตกแต่งต้นสลาก และตระเตรียมต้นสลาก อื่นๆ เช่น สลากโชค ขนาดย่อมลงมากว่าสลากย้อม หรือก๋วยสลาก (ชะลอม) เพื่อใช้ในวันตานสลาก

ตกค่ำวันนั้นที่ลานข่วงประตูวัดพระธาตุหริภุญไชย แว่วเสียงขับกะโลงอันไพเราะ ดังประสานกับเสียงสวดมนต์ให้พรจากพระสงฆ์สามเณร  และเสียงตะเบ็งเซ็งแซ่ที่ผู้คนช่วยกันเรียกหาเจ้าของสลาก  เปนบรรยากาศงานบุญขนาดใหญ่ ที่สนุกครึกครื้น หลายคนที่ทำงานอยู่ต่างจังหวัดก็กลับบ้าน บางส่วนเชิญเพื่อนฝูงมากินเลี้ยงและช่วยบุญ การแห่ต้นสลากทั้งใหญ่เล็กก็มักม่วน มีขบวนโต และ กิงกะหรา รำฟ้อน นำมาสวยสดและงดงาม

อนึ่งรูปนี้ที่เชิญมา คือ โต มันเปนสัตว์พ่วงพีสีสวยขนฟู ดูๆไปก็คล้ายหมาไซบีเรียนกิมจิฮัสกี้เกาหลี โตมีนิวาสสถานอยู่ป่าหิมพานต์ มีลักษณะผสมกันหลายอย่าง เขากวาง ตานาค ฯลฯ

 

สลากย้อม เทศกาลอลังการแห่งเมืองลำพูน

 

อันว่าป่าหิมพานต์นี้ ในโลกจริงก็คงอยู่ที่โน่นน่ะสวนลุมพินี ทางไปกรุงเทวทหะ แถวเนปาล สัตว์ประหลาดๆมีเยอะ อย่างที่ตัวเปนควายหัวเปนกวางก็มีจริงๆ เรียกตัวนิลกาฬ เจอมันกินหญ้าในป่า ตอนไปธุดงค์ด้วยรถบัสครานั้น

เนปาลอากาศดี หนาวแบบผู้ดีไม่สะท้านกระดูก วัดไทยลุมพินีก็ทำสวยงามอยู่สบาย เมื่อคราวพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปโปรดพุทธมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั่น ประดาสัตวโลกต่างๆล้วนหว่าเว้ ตามประสามีปัญหาแต่ไม่มีปัญญา มัวแต่จะรอพึ่งพาพระพุทธองค์แต่เพียงอย่างเดียว เฝ้ารอ วันเวลาที่จะเสด็จกลับมายังพื้นภูมิโลกมนุษย์

ครั้นแล้ววันเทโวโรหนะก็มาถึง พุทธองค์เสด็จลงมาด้วยบันไดแก้วสรรพสัตว์โลกต่างๆล้วนตื่นเต้นดีใจ มีฝีไม้ลายมืออะไรก็แสดงออก โตก็สำแดงความดีใจม่วนมัก ด้วยการโลดเต้น เหมือนหมาต่างๆยามเจ้าของกลับบ้าน งี้ดง้าดและคาบอะไรก็ได้วิ่งได้ก็วิ่งวน แต่โตเขาสูงส่งกว่าหมา เขาก็ออกท่าออกทางอย่างว่าเต้นว่าฟ้อนว่ารำ

นอกจากโตออกเต้นแล้ว นกกิงกะหราก็คือสัตว์ครึ่งคน เหมือนกินรีกินนร ก็ออกติดปีกต่อหาง วาดลวดลายรำฟ้อน รับเสด็จพระบรมบาทสัมมาด้วยความดีใจไร้ทุกข์ ว่าพระนาถะที่พึ่งเสด็จกลับนิวัติถึงถิ่นแล้ว

ก่อนนี้กิงกะหรา ใช้ผู้ชายออกฟ้อน แต่งหน้าทาปากเหมือนนก ตอนหลังใส่หน้ากาก และหลังมาอีก ผู้ชายไปเต้นโต ผู้หญิงติดปีกแลหางมาฟ้อนรำสวยงามแทน งานบุญจึงสนุกรื่นเริงด้วยเราท่านเข้าใจว่า โต คืออะไร และกิงกะหรา มาทำไมดังนี้