ศิลปะการขอฝน 2 : นางแมว & ปลาช่อน

12 ก.ค. 2567 | 23:50 น.
อัพเดตล่าสุด :13 ก.ค. 2567 | 00:39 น.

ศิลปะการขอฝน 2 : นางแมว & ปลาช่อน คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

(ต่อจากตอน 1) 
 
ในทางชาวบ้านนั้น ชุมชนที่พึ่งตนเองยังคิดเทคโนโลยีทำฝนเทียมทำแผงดักหมอกกักความชื้นยังมิได้ ก็ได้แต่นึกถึงชาดก หรือ เรื่องตำนานในทางพระศาสนาที่ตนนับถือขึ้นมา เช่นว่าครั้งหนึ่ง ยังมีพญาปลาช่อนโพธิสัตว์ เสวยชาติเปนหัวหน้าปลาช่อนอยู่ในบึงใหญ่ คราวนั้นเปนเวลาหน้าแล้งน้ำในบึงแห้งขอดเปนเปือกตม ฝูงกา นกกระสา และเหยี่ยว ลงกินปลาในบึงนั้นอยู่เกลื่อนกล่น พญาปลาเห็นลูกน้องบริวารทั้งหลายตกเปนเหยื่อฝูงกาพาปีกโดยอนาถาไร้ทางรอดทางหนีเช่นนี้ ผู้เปนลูกพี่ก็สะเทือนใจ 
 
พญาปลาช่อนโพธิสัตว์จึงผุดขึ้นจากในตมแหงนดูอากาศแล้วเสี่ยงบารมี โดยตั้งสัจจาธิษฐานกล่าวประโยคสำคัญว่า 
 
“ข้าแต่ปชุณณะเทพยดาผู้มีอำนาจอาจจะให้ฝนตกได้ ตั้งแต่เราระลึกตนได้ ตั้งแต่เรารู้ความมาจนถึงบัดนี้เราไม่รู้สึกว่าแกล้งเบียดเบียนสัตว์แม้ตัวหนึ่งให้ได้รับความลำบากเลย ด้วยสัจจะวาจานี้ อันเปนความสัตย์อย่างประเสริฐ ขออาศัยกำลังอานุภาพความสัตย์ของเรา ขอท่านจงบันดาลให้เมฆฝนตั้งขึ้นแล้ว จงให้ห่าฝนตกลงเปนท่อธารใหญ่ ท่วมบึงบ่อทั้งปวงเถิด จงทำขุมทรัพย์ของฝูงกาทั้งหลายให้พินาศไป จงทำฝูงกาให้โศกเศร้าเพราะอดกินพวกเราเปนอาหาร ขอท่านจงกรุณาเปลื้องปลดข้าพเจ้ากับหมู่ญาติทั้งหลายให้พ้นภัยพิบัติโศกเศร้า พ้นอำนาจหมู่กาซึ่งจะมาเบียดเบียนเป็นภัยอันใหญ่หลวงนี้เถิด”
 

ที่นี้ว่า ก็ด้วยอำนาจสัจจะอธิษฐานของพญาปลาช่อน ผู้ซึ่งอ้างถึงคุณของตนว่าแต่จำเดิมที่เกิดมาจำความได้ ก็ไม่รู้ไม่เห็นว่าได้เคยแกล้งเบียดเบียนสัตว์อื่นแม้แต่ตัวหนึ่งเลยเข้าไว้เปนทุนทางสังคม (social capital) แห่งตัว เทวดาเบื้องบนเห็นเปนสัจจะเดชะความจริงตามนั้น ก็เกรงใจในบารมีพ่อพญาปลาตกลงใจบันดาลให้เกิดห่าฝนใหญ่เปนท่อธาร ตกลงมาไหลลบล้นท่วมบึงบ่อทั่วทุกสถาน หมู่ประดาปลาช่อนวาริชชาติก็ได้พ้นภัยพิบัติทั่วกัน 

ประดาปวงเราชาวบ้านยามเมื่อฝนแล้งก็นึกถึงชาดกนี้ จัดแจงตั้งปะรำพิธี แล้วขุดบ่อลอกสระให้เปนเปือกเปนตมก่อนจะอัญเชิญปลาช่อนใหญ่ๆลง (ถ้าในบ่อไม่มีปลา) แล้วตั้งรูปนกศัตรูเช่น กระยาง เหยี่ยว กา ไว้รอบบ่อ จึงนิมนต์ประดาพระสงฆ์ผู้ทรงศีลมาสวดสัจจะคาถาพญาปลาช่อน รำลึกถึงวัน_เวลา แห่งเหตุการณ์ที่ผ่านมา หวังใจว่าเทวดาฟ้าฝนจะ recall ภาพจำครั้งพญาปลาช่อนโพธิสัตว์เสี่ยงสัจจะบารมีแต่ครั้งกระโน้นแล้วส่งฝนลงมาให้บ้าง
 
คาถาพญาปลาช่อนเรียกฝนของล้านนามีถ้อยคำไพเราะเสนาะหู ขอเชิญสำนวนท่านสล่าศรีเลา เกษพรหม มาเล่าสู่กันฟังดังนี้ สาธุโอกาสภันเตแด่พระปรัมพุทธา ทิฐิรัตนไตรเจ้าเหง้าอนุตตรธัมมราชา ในครากาลบัดนี้นาผู้ข้าทังหลาย หมายมีครูบาเจ้า...(เอ่ยชื่อ)...เปนเค้า มีพระสังฆคณา และมหาอุบาสก อุบาสิกา กุมาร กุมารี ทังหลายก็มารำพึงเห็นยังบ้านเมืองเปนปริฬาหะร้อนกระหาย
 

อันหาน้ำฝนชลธาราบ่ได้จึ่งชักชวนกันมาฟังธรรมอันเปนสัจจะกิริยาแห่งมัจฉาราชาตัวประเสริฐเพื่อจักให้ห่าฝนชลเมฆะ เปนอเนกตกลงมา บัดนี้ผู้ข้าจักกิตตนำพุทธคุณ อันเปนอนันตา อัปริมานา ด้วยมคธ


 
ภาษาบาลีว่าโยพุทธเสฎโฐ วรธัมมราชา เชตวา นะมารัง สคนังอเสสัง ปัตโต วรโพธิตรุราช มุเลตัง พุทธเสฏฐัง สิรสานมามิโยพุทธ เสฎโฐ อันว่าพระพุทธเจ้าตนประเสริฐ ตนใด เสตวานะ ประจญแพ้แล้ว มารัง ยังมาร 5 ประการ สคนะ กับ ทั้งหมู่ริพลมารบ่เสสหลอ ปัตโตวรโพธิตรราชมูเล ได้ตรัสผญาสัพพัญญุตญาณเป็นพระเหนือแท่นแก้ว แทบเค้าไม้สลีมหาโพธิต้นวิโรจน์เสฎโฐอะหังอันว่าข้า นะมามิก็น้อมไหว้บัดนี้ ตังพุทธเสฏฐังยัง พระพุทธเจ้าตนประเสริฐตนนั้น สิรสา ด้วยหัว โสภควา อันว่า
 
พระพุทธเจ้าตนนั้น ทรงคุณอนันตา อัปริมา นาหาที่สุดบ่ได้พระก็ไหว้เพ็งบารมีธรรม 30 มานานประมาณ 20 อะสงไขย ปลายแสนมหากัปป์ ปางเมื่อ เจ้าได้เป็นโพธิสัตว์ คือว่าได้เป็นพญาสิวิราช ควักตำออกหื้อเป็นทานแก่อินทำสักกพราหมณ์เป็นอัชฌติกทานอันประเสริฐแล ปางเมื่อเจ้าได้เป็นละมั่งคำ
 
เอาหัวตนไปตั้งไว้เหนือชันเขียง เพื่อหื้อพรานปลาฆ่าตน ตายตางแม่เนื้อแลหื้อชีวิตแห่งตนแก่เนื้อ ทังหลายอันเป็นญาติแห่งตน ลำดับมาเถิงปางเมื่อเจ้าได้เป็นมัจฉาราชตัวประเสริฐเกิดในสระอันใหญ่ในโกสราชนบท ฝนบ่ตกเป็นอันแห้งแล้งนัก แร้งกาและนกยางทังหลายก็มาเอายังปลาไปกินเป็นอาหารมากนัก เจ้าก็มีคำกรุณาญาติแห่งตน จึ่งกระทำสัจจะกิริยาหื้อห่าฝนตกลงมาทั่วทิศชนบททังมวล หื้อมีชีวิตแก่สัตว์ทั้งหลาย ตราบอันได้ตรัสผญาสัพพัญญูเป็นครูแก้วแก่โลกทัง 3 ประกอบด้วย หิตาทายาอัน
 
อินดูกรุณาเป็นอนันตาหาที่สุดบ่ได้ แท้ดีหลีในครากาลบัดนี้ก็เป็นปริฬาหะอัน ร้อนไหม้ ด้วยอันหาน้ำหาฝนบ่ได้ ผู้ข้าทั้งหลายก็มีมือถือดอกไม้ลำเทียน ขอโอกาสราธนายังพุทธพิมพาชินรูปเจ้า และสารีริกธาตุเจ้าแล สรีรธาตุอรหันตเจ้า ลงสถิตสำราญเหนือแท่นแล้ว ขอราธนามัจฉาราชา เจ้าตนประเสริฐ ลงสถิตย์สำราญในสระ เพื่อหื้อผู้ข้าทังหลายได้อาบองค์สรงเกศด้วยน้ำพุทธาภิเษกแล้ว หื้อวุฒิวิรุฬหิด้วยวัสสาธาราไหลหลั่งถั่งตกลงมา หื้อชุ่มชื่นยื่นงอกบาน แห่งพิชข้าวไร่แดนนาแก่ผู้ข้าทังหลาย แท้แด่เทอะ


 
จากนั้น เขาจึงประโคมฆ้องกลอง หรือ ดุริยดนตรี แห่พระพุทธรูปจากปะรำพิธีไปตั้งที่ฐานแท่นกลางสระ นำรูปปลาช่อน และปลาชนิดอื่นใส่ลงไปในสระ แล้วให้ทุกคนเอาน้ำส้มป่อย น้ำอบน้ำหอมสระสรง องค์พระพุทธรูป และอาบสรงปลาในสระนั้น เมื่อได้กระทำพิธีดังกล่าวแล้ว เชื่อว่าฝนจะตกลงมาภายใน 3 วัน 7 วัน 
 
ในเวลาเดียวกันชาวภาคกลางแถบดอนยายหอมอาจเมินตัวปลาช่อนหันมาอี๋อ๋อกับนางแมวสีสวาด โดยเชิญแมวสาวสีเดียวกับก้อนเมฆครำฝนนี้ใส่กรงใส่ตะกร้า เสียบคานมาหามแล้วเอาออกแห่_เรียกฝน
 
ผู้คนก็ว่า แมวมันจะมาเกี่ยวอะไรกับฝน? รึว่าคราวนี้มีชาดกพญาแมวเกิดให้รำลึกนึกถึงกันขึ้นมาอีก?!? 
 
แต่ก็หามิได้ ชาวบ้านที่ดอน สังเกตธรรมชาติว่าแมวเปนสัตว์กลัวน้ำเกลียดน้ำอย่างยิ่ง ชะรอยถ้าปล่อยไว้ให้เกิดพญาแมวโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีขึ้นอีก เทวดามาเกรงจิตเกรงใจก็จะพาลพาโลมิยอมให้ฝนตกต้องลงมาเปียกปอนแก่พญาแมว ก็อย่างกระนั้นเลย แห่นางแมวออกมาแล้วปวงประชาเอาน้ำสาดเสีย_แก้เคล็ด
 
ตัดปัญหาความเปนตัวแล้งของแมว! คำร้องแห่นางแมวมักว่ากันดังนี้ “นางแมวเอย มาร้องแจ้วแจ้ว นางแมวขอไก่ ขอไม่ได้ ร้องไห้ขอฝน ขอน้ำมนต์รดแมวข้าที มีแก้วนัยน์ตา ออกมาเดือนหก ฝนตกทุกที มาปีนี้ไม่มีฝนเลย พ่อตาลูกเขย นอนก่ายหน้าผาก พ่อหม้ายลูกมาก มันยากเพราะข้าว คนหนุ่มคนสาวคนเฒ่าหัวห้อย พาเด็กน้อย มาเล่นนางแมว มาร้องแจ้วฝนก็เทลงมา ฝนก็เทลงมา” 


 
เมื่อเคลื่อนขบวนแห่ ต่างก็ร้องบทแห่นางแมว เปนการละเล่าดังนี้ จนเมื่อผ่านบ้านใคร เจ้าของบ้านก็จะเอากระบวยตักน้ำสาดลงไปในชะลอมหรือตะกร้าที่ขังแมวอยู่ 
 
จากนั้นเจ้าของบ้านก็ให้รางวัลแก่พวกแห่ เปนเหล้า ข้าวปลา ไข่ต้มหรือของกินอย่างอื่น ส่วนมากมักให้เงินเล็กน้อยแก่คนถือพานนำหน้ากระบวนแห่ เสร็จแล้วก็เคลื่อนต่อไปยังบ้านอื่นๆ จนสุดเขตหมู่บ้าน แล้วก็กลับมาชุมนุมเลี้ยงดูกันเป็นที่ครึกครื้น พร้อมทั้งปล่อยแมวเปนอิสระ
 
มาถึงยุคนี้เปนยุคสัตว์นิยม ผู้คนเกรงใจสัตว์เรียกสรรพนามว่าเขา แทนมัน (it) ยกระดับความเปนมนุษย์ผู้กรุณา_ธัมโมสังโค ลับหลังค่อยไปหาควายตัวเมียมาเชือดฆ่า เลาะหั่นให้ได้ชิ้นงามๆแล้วเอามาสับเขียงให้เหนียวละเอียดดี เติมเลือดควายสดลงไปใส่น้ำพริกลาบ กินเอาเอร็ดปากอร่อยฟันยิ้มสยอง!! (ในนามลาบหลู้บ้าง ซกเล็กบ้าง ซอยจุ๊บ้าง แล้วแต่ชิ้นส่วนควายหงานและภูมิภาคผู้ปรุงจำเริญรส)
 
ในความขะมุกขะมัวของความผิดบาป ปวงเขาทั้งหลายพากันเเห่หุ่นโดเรม่อน_แมววิเศษญี่ปุ่นสีฟ้า สาดน้ำเอาแทน แก้ทรมานแมวซ่อน!!


 
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม เขียนความเห็นเชิงวิชาการเกี่ยวกับงานแห่นางแมวนี้ไว้ว่า ความสนุกสนานของขบวนแห่นางแมวเปนเครื่องปลุกปลอบใจชาวนาในยามวิกฤต ว่าแม้ข้าวจะสิ้นยุ้ง ทรัพย์สมบัติของแต่ละคนจะไม่เหลือหลอ แต่ทุกคนยังมีชุมชนของตนอยู่อย่างมั่นคง และชุมชนนี้เองที่จะทำให้ทุกคนอยู่รอดจากภัยพิบัตินั้นได้อย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้แต่น้ำซึ่งเริ่มจะหายากขึ้นยังเอามาสาดทิ้งสาดขว้างได้ (ใส่แมว) ข้าวของแบ่งกันกินแบ่งกันใช้’
 
ศิลปะการขอฝนแบบการใช้นางแมวนี้นัยยะหนึ่งจึงเปนเครื่องสะท้อนว่าการเจือจานเผื่อแผ่แก่กันและกันในชุมชนกลับสำคัญกว่าการเก็บงำไว้เฉพาะตัว เพราะความอยู่รอดปลอดภัยของทุกคน แท้จริงแล้วอยู่ที่การคงอยู่ของชุมชนทั้งมวลนั่นเอง 
 
การแห่นางแมวจึงเป็นเรื่องของการฟื้นฟูและรักษาไว้ซึ่งพลังอันแข็งแกร่งของชุมชนชาวนา (paddy culture) ทุ่งรวงทอง ในอันที่จะเผชิญภัยธรรมชาติร่วมกันอย่างเข้มแข็งและทรงประสิทธิภาพ