ฟาแบร์เฌ่ 2 &ไข่อีสเตอร์

07 พ.ค. 2565 | 00:00 น.

คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

สำนสำนักรังสรรค์แห่ง ฟาแบร์เฌ่ นี้ โด่งดังอุโฆษลือนามก็ด้วยว่า ตั้งแต่ยุคบิดา คือ กุสตาฟ ฟาแบร์เฌ่ ก็สร้างสรรค์และผลิตผลงานอัญมณีมานานแล ตั้งถิ่นฐานอยู่กลาง“มหานครแห่งศิลปะรัสเซีย” คือ เซนต์ปีเตอร์’สเบิร์ก ก่อนที่งานออกแบบศิลปกรรมวิจิตรล้ำค่าจะถูกพรรคคอมมิวนิสต์อัปราคร่าลง แล้วเปลี่ยนชื่อมหานครนี้ เปน เลนินกราด ตามชื่อท่านผู้นำคนใหม่
 

มาวันหนึ่งพ่อกุสตาฟก็ได้ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน นามว่า Peter Carl Faberge’ มาคอยคลุกคลีกับการผลิตสรรค์สร้างงานจิวเวลรี่ที่ร้าน โตขึ้นแล้วพ่อก็ส่งให้ไปเรียนวิชาเจ้าชาย คือ ออกไปทัศนาเปิดหูเปิดตาดูโลก ในประเทศต่างๆทั่วยุโรป อย่างว่า Grand Tour เพื่อได้เข้าใจชีวิต เข้าใจอารยธรรม และความแตกต่าง จักได้มาสืบแพศยสมบัติ กิจการร้านค้าเครื่องประดับอัญมณี จิวเวลรี่ ของพ่อต่อไป  

อยู่มาวันหนึ่ง ปีเตอร์ คาร์ล ก็ได้รับพระราชโองการเรียกหา ให้ทำการรังสรรค์อัญมณีสำคัญเงื่อนไขในราชสำนักว่าจ้าง คือต้อง surprise_งานออกแบบต้อง surprise เพราะพระเจ้าซาร์หวังใจจะสร้างความประทับใจให้เปนของขวัญแต่พระมเหสีเทวี ในมงคลวโรกาสอภิเษกสมรสครบ 20 ปี ซึ่งว่ากันว่าเวียนมาประจบตรงในเทศกาลอีสเตอร์
 

พ่อนักออกแบบมือทองของเราก็รับพระราชโองการใส่เกล้ากราบบังคมทูลด้วยถ้อยคำซึ่งต่อมาติดปากว่า “Your Majesty will be pleased.” แล้วก็ไปลงมือรังสรรค์ไข่อัญมณี ซึ่งต่อมาเปนที่ลือนามเลื่อนลั่นสมัยนี้จะไข่คว้าหากันต้องมีเงินในกระเป๋าสัก 350 ล้านบาท เช่นที่สถาบันคริสตี้ส์เขาเปิดประมูลไปเมื่อยี่สิบปีก่อนชื่อว่า Winter Egg

ทีนี้ว่าทำไม “ไข่” ของฟาร์แบร์เฌ่ จึงได้เปนที่สนิทเสน่หาพาให้หลงไหลไขว่คว้าแถมมีราคาพาให้ผู้พบเห็นปลาบปลื้มท่วมท้นจนต้องเร่งไขกุญแจพระคลังมหาสมบัติมาสั่งซื้อ มันเปนที่มีค่าเพราะอัญมณี หินทับทิม มรกต ไพลินที่เอามาทำเท่านั้นหรือ? 
 

ก็ต้องเรียนไว้ ณ ที่นี้อีกแหละว่ามันเปน cognitive/cognition เรื่องราวอันฝังอยู่ในมโนสำนึกของฝรั่งโดยเฉพาะคริสตชนมานาน ไอ้การที่คนพุทธเห็นแล้วว่า มันทำไมๆ ก็แค่ไข่สวยๆ อันนี้นั้นก็เพราะคนพุทธท่านไม่ ‘อิน’ กะเรื่องไข่
 

ทีนี้ก็จะพาท่านไปเคลียร์เรื่องไข่ อย่างว่าไข่ในตำนานเสียก่อนไข่วิจิตรพิศดารพันลึกของฟาแบร์เฌ่นี้ แกสร้างขึ้นครั้งแรกก็ในการเปนของขวัญระหว่าง เจ้า/เจ้า มอบให้กันในเทศกาลอีสเตอร์ดังได้เกริ่นแล้ว ก่อนนี้ใครไปอยู่เมืองฝรั่งก็จะเห็นเขามีเทศกาลฉลองกันราวเดือนเมษา และก็มีการเล่นซ่อนไข่ หาไข่ แจกไข่ มีกระต่ายการ์ตูนออกมาพากันสนุก ถามเข้าก็ว่า งานฉลองวันพระเยซูเจ้าท่านฟื้นคืนชีพ แล้วก็หยุดคำถามคำตอบกันไว้แค่นั้น 55 
 

แท้แล้วพิธีการฉลองในเวลาอย่างนี้มีมาก่อนคริสตกาลอีก ฝรั่งโบราณยุคเก่า เขาสมโภชดีใจว่าฤดูใบไม้ผลิกำลังมา จะได้ฟื้นเวลาผลิตพืชพรรณธัญญาหารกันสักที หลังจากหิมะตกหนาวเย็นมานาน


 

ตามที่ได้เล่าไว้ในฉบับก่อนๆ ว่าอันของที่ไม่ใช่คนจะทำให้เปนคนนั่น ท่านใช้วิธีบุคคลาธิษฐาน (personaltification) ก็สร้างเทพีแห่งฤดูใบไม้ผลิขึ้นมาเปนตัวแทนแห่งความสดใสและความหวังฝั่งฟื้นผลผลิต เทพีนี้นามกรว่า ออสตรา_Eostra แหม่ ออกเสียงผันผายไปคล้ายกับ easterฯแถมพกว่าพวกยุโรปเหนือนำไปตั้งเป็นชื่อเดือน “Eostur-monath” ตามระบบปฏิทินระบบเยอรมนิคโบราณ ซึ่งเทียบเท่ากับเดือน เมษายนในระบบปฏิทินปัจจุบัน อันเปนเดือนที่ย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิของยุโรปพอดีพอดิบ
 

เทพีออสตราผู้นี้ท่านมีกระต่าย (ป่า)เปนเทพพาหนะ เปนบริวาร และตามตำนานนั้นตัวเทพีเองท่านแปลงร่างไปไหนมาไหนเปนในรูปกระต่าย ก็แน่นอนว่าในยามเมื่อฤดูใบไม้ผลิมา เราท่านก็เห็นกระต่ายป่าออกมาลิงโลดสดใสตามลานหญ้าชายป่ากันอยู่ทั่วไป ถ้าเทพีใบไม้ผลิมีจริงก็ย่อมจริงเหมือนเด่นป่าสดใสมีกระต่ายโดดไปมาหยองแหยง ดังนั้น   อีทีนี้ต่อมาเมื่อคริสตศาสนาถูกนำมาเผยแผ่ในยุโรป มันก็สอดคล้องกันช่วงวัน/เวลา งานใบไม้ผลิ (eastre fest.) นี้ คล้ายจะตรงกับ วันฟื้นคืนชีพพระเยซูเจ้าพอดี
 

อันคนคริสต์นั้นเขาก็มีเทศกาลอย่างว่าถือศีลอดลดละเลิก เหมือนกันกับศาสนาอื่นๆ เรียกกันว่าเทศกาลมหาพรต_lent เขามีกำหนด40วัน ก่อนวันฉลองเหตุการณ์พระเยซูเจ้าคืนชีพ สังเกตดูว่าในเทศกาลแห่งศีลนี้ ปวงเขาจักใช้ชีวิตเนิ่นช้าทำอะไรก็พิจารณาโดยความระมัดระวังทั้งกาย วาจา ใจ สวดมนต์_ให้ทานและอดอาหาร โดยเฉพาะที่อาหารฟุ่มเฟือยกิเลสโดยเฉพาะของมัน และไขมันสัตว์ที่เอร็ดอร่อยหนักหนาแน่นอนว่า ไข่ก็เปนหนึ่งในรายการอาหารต้องห้ามของเทศกาลมหาพรตนี้ด้วย 
 

เมื่อเทศกาลมหาพรตอดศีลสิ้นสุดลง ก็ประจวบพอดีเป็นการเฉลิมฉลองการกลับมาของพระเยซูเจ้า กับข้าวในเทศกาลอีสเตอร์ จึงเต็มไปด้วยเมนูนานาจากไข่ ซึ่งอร่อยเอร็ดหอมมันและเต็มไปด้วยพลังแห่งชีวิต มีการเอาเปลือกไข่มาระบายสีสันให้สวย เอาไปตกแต่งสถานที่ ห้อยตามต้นไม้เพื่อสร้างบรรยากาศให้เทศกาล และแบ่งปันไข่เหล่านั้นแก่กัน ด้วยความรู้สึกซาบซึ้งและเปนมงคล


 

ด้วยความรู้สึกพื้นหลังเช่นนี้เอง ท้าวพระยามหากษัตริย์ฝรั่งถึงได้ ‘อิน’ กับไข่ฟาแบร์เฌ่มากนัก และมีพระมหากรุณาให้สำนักฟาแบร์เฒ่ออกแบบโดยสร้างสรรค์เอาได้ตามใจ จะเบิกใช้พระราชทรัพย์ศฤงคารเท่าไรไรไม่อั้นเลย
 

ไข่ยุคแรกๆของฟาแบร์เฌ่ที่ทำนี้ มีชื่อตั้ง เช่น Hen Egg มีเปลือกเป็นทองคำลงยาสีขาวด้านเปิดขึ้นมา จะพบไข่แดงทองคำสีเหลืองนวลเปิดออกมาอีก เปนแม่ไก่ทองคำลงยาหลากสีนัยตาเปนทับทิม ในท้องแม่ไก่ประจุพระมหามงกุฎจักรพรรดิฝังเพชรขนาดเล็กรัดจี้ทับทิมแดง
 

ครั้นต่อมางานออกแบบก็เพิ่มความซับซ้อนขึ้นทุกปี ตามธรรมเนียมของตระกูลฟาแบร์เฌ่เขา แม้แต่พระเจ้าซาร์ก็ไม่ทราบว่าไข่จะออกมาในรูปใด ตรงตามเงื่อนไข คือต้องประกอบด้วยสิ่งที่สร้างความประหลาดใจแก่ผู้ดู ดังนี้แลไปแล้วก็เหมือนตุ๊กตาแม่ลูกดก Matryoshka ของฝากจากรัสเซียที่เมื่อไรใครไปเที่ยวแล้วต้องซื้อกลับมา เพราะเปิดเข้าไปๆก็มีตุ๊กตาตัวเล็กลงซ่อนอยู่ภายในไปเรื่อยๆ 
 

ไข่บางลูกเปิดเข้าไปเปนรถม้า เปนช่อดอกไม้ เปนต้นส้มสวยงามต่างๆ ราคาย่อมจะสูงเพราะใช้หินอัญมณีคัดเกรดมาแกะสลักเอา แล้วประกอบเข้าด้วยทองคำรัด และหนามเตย แถมยังมีจำนวนน้อยเพราะสิ้นวงศ์โรมานอฟเสียก่อน ความมั่นคงในอาชีพซึ่งระบอบการปกครองใหม่ไม่นับถือนำพา ก็พาให้เกิดความสูญสลาย เปนเหตุพาให้ไม่มีใครทำได้อีก จนความมีอยู่จำกัดเปนปัจจัยให้กลายเปนงานศิลป์ชิ้นเอกๆของโลกต่อมาด้วยประการฉะนี้ฯ


นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 หน้า 18 ฉบับที่ 3,781 วันที่ 8 - 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2565