ยื่นอุทธรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์พ้นเวลาไม่กี่นาที อ้างสัญญาณเน็ตไม่ดีได้หรือไม่?

04 ก.พ. 2567 | 02:00 น.

ยื่นอุทธรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์พ้นเวลาไม่กี่นาที อ้างสัญญาณเน็ตไม่ดีได้หรือไม่? : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย...นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3963

ปัจจุบัน ...การยื่นฟ้องคดีทางระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์นั้น ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการดำเนินคดีปกครอง โดยไม่จำต้องเดินทางมาที่ศาลด้วยตนเอง ซึ่งมีความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

อย่างไรก็ตาม ...การดำเนินคดีผ่านช่องทางดังกล่าวจะต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องของอุปกรณ์การเชื่อมโยง รวมทั้งสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ดี เพราะเป็นสิ่งสำคัญในการติดต่อสื่อสารและส่งข้อมูลทางคดีต่าง ๆ กับศาล

 

โดยหากเกิดข้อขัดข้องของระบบเครือข่ายหรือสัญญาณอินเทอร์เน็ตขาด ๆ หาย ๆ ในระหว่างการเข้าใช้งานระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ของศาลแล้ว อาจทำให้เกิดความล่าช้า หรือ พ้นระยะเวลาสำหรับการดำเนินคดีตามที่กฎหมาย หรือที่ศาลกำหนดไว้ได้ 

ทั้งนี้ สามารถป้องกันได้โดยการวางแผนและดำเนินการให้เรียบร้อยเสียแต่เนิ่น ๆ ครับ เพราะหากดำเนินการในวันสุดท้าย แล้วเกิดปัญหาสัญญาณขัดข้องขึ้นมา จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่อาจเสียสิทธิในการที่จะดำเนินคดีต่อไปได้เชียวนะครับ ! 

ดังเช่นอุทาหรณ์ที่หยิบยกมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ ...ซึ่งผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์คำพิพากษาทางระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ ในวันสุดท้ายของเวลาที่สามารถใช้สิทธิได้ตามกฎหมาย และเป็นการยื่นเลยเวลาทำการของศาลแล้ว (การยื่นเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์จะยึดถือตามเวลาทำการของศาล)

โดยอ้างว่าในวันดังกล่าวสัญญาณอินเทอร์เน็ตขัดข้อง ไม่เสถียร ทำให้ตนไม่สามารถเข้าสู่ระบบงานคดีของศาลได้ทันเวลา ฟังดูก็น่าเห็นใจ แต่จะเป็นเหตุผลที่ศาลรับฟังหรือไม่ ? มาหาคำตอบไปด้วยกันครับ 

เหตุของคดีนี้เกิดจาก ...ผู้ฟ้องคดีซึ่งดำรงตำแหน่งรองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลได้ยื่นฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือน 0.5 ขั้น ซึ่งตนเห็นว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล ที่เห็นว่า การประเมินและการออกคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นไปตามหลักเกณฑ์และชอบด้วยกฎหมายแล้ว รวมทั้งขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ในสังกัดด้วย

ต่อมา ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยอ่านคำพิพากษาในวันที่ 27 ธันวาคม 2565 ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวทางระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2566 ในเวลา 16.43 น. ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำอุทธรณ์ไว้พิจารณา

เพราะเห็นว่าเป็นการยื่นพ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองกำหนดไว้ (ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา)

ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำอุทธรณ์ไว้พิจารณา โดยอ้างว่า ในวันที่ 26 มกราคม 2566 ตนไม่สามารถเข้าสู่ระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ ในเวลาทำการของศาลปกครองได้ และไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุที่เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ไม่มีความเสถียร หรือ เกิดจากสาเหตุอื่นใด

เรื่องนี้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อศาลปกครองชั้นต้นอ่านผลแห่งคำพิพากษาในวันที่ 27 ธันวาคม 2565 แต่ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วย จึงต้องยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 26 มกราคม 2566 ซึ่งเป็นวันครบกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาตามมาตรา 73 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

และโดยที่ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2562 ในข้อ 18 กำหนดว่า “คำฟ้องอาจยื่นได้ในเวลาทำการ หรือ นอกเวลาทำการปกติของศาลปกครอง และในเวลาที่ระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์เปิดใช้งาน

ทั้งนี้ การยื่นคำฟ้องนอกเวลาทำการปกติ ให้ถือว่าเป็นการยื่นในวันทำการแรกที่ศาลเปิดทำการปกติถัดไป โดยให้ถือตามเวลาของระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์”

เมื่อจากข้อเท็จจริงที่ศาลได้ตรวจสอบการเข้าใช้งานในระบบของผู้ฟ้องคดี ปรากฏว่า วันที่ 26 มกราคม 2566 ผู้ฟ้องคดีเข้าสู่ระบบเวลา 16.31 น. และเวลา 16.37 น. ซึ่งต้องถือตามเวลาของระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ของศาลว่า ผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์ในวันที่ 26 มกราคม 2566 เวลา 16.43 น. อันเป็นวันและเวลาที่ข้อมูลเข้าสู่ระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์เสร็จสมบูรณ์ 

เมื่อเป็นการยื่นนอกเวลาทำการปกติของศาลปกครอง (เวลาทำการปกติ คือ 08.30 น.-16.30 น.) จึงต้องถือว่าเป็นการยื่นอุทธรณ์ในวันทำการแรกที่ศาลเปิดทำการปกติถัดไป คือ วันที่ 27 มกราคม 2566 อันเป็นวันที่พ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว 

                        ยื่นอุทธรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์พ้นเวลาไม่กี่นาที อ้างสัญญาณเน็ตไม่ดีได้หรือไม่?

ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ไม่สามารถเข้าสู่ระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ในเวลาทำการของศาลได้นั้น ศาลเห็นว่า การดำเนินการโดยวิธีการดังกล่าวจะต้องเชื่อมโยงกับสัญญาณอินเทอร์เน็ต จึงจะสามารถเข้าสู่ระบบงานคดีของศาลปกครองได้ โดยบางครั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอาจใช้งานไม่ได้ตามปกติ ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง  

ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงต้องพิจารณาถึงปัจจัยข้อนี้ด้วย โดยเผื่อเวลาในการยื่นคำอุทธรณ์ไว้ล่วงหน้ากรณีที่อาจมีเหตุขัดข้องเกิดขึ้น

การที่ยื่นอุทธรณ์ในวันสุดท้ายโดยเลยเวลาทำการของศาล และอ้างเหตุผลว่า ในวันดังกล่าวเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไม่มีความเสถียรนั้น ย่อมไม่อาจรับฟังได้  

ศาลปกครองสูงสุดจึงยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 880/2566)  

คดีนี้ ... ถือเป็นอุทาหรณ์สำคัญสำหรับคู่กรณี ที่ประสงค์จะดำเนินกระบวนพิจารณาคดีปกครองโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะในฐานะที่เป็นผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดี หรือ ผู้ร้องสอดก็ตาม

ที่นอกจากจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนหรือ วิธีการใช้งานระบบดังกล่าวแล้ว ยังควรต้องเผื่อเวลาในการยื่นคำฟ้อง คำอุทธรณ์ คำคู่ความ รวมถึงเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ซึ่งมีกำหนดเวลาในการยื่นเอาไว้ล่วงหน้า 

เพราะการดำเนินคดีด้วยวิธีการดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยอุปกรณ์ที่พร้อม และ สัญญาณอินเทอร์เน็ตที่มีความเสถียร ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความขัดข้องในการใช้งาน เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาและรักษาสิทธิในการดำเนินคดีของตนเอง ที่แม้จะล่วงเลยเวลาเพียงไม่กี่นาที ก็เป็นเหตุให้เสียสิทธิในการดำเนินคดีตามกฎหมายได้ครับ ... 

(ปรึกษาการฟ้องคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง 1355 และศึกษาการใช้งานระบบดังกล่าวได้ที่ https://elitigation.admincourt.go.th/admELitigation/frmEFiling.aspx)