สมรภูมิ Chatbot กับการปรับตัวของมนุษย์

15 มี.ค. 2566 | 07:35 น.

สมรภูมิ Chatbot กับการปรับตัวของมนุษย์ : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯ ทัศนะ โดย รศ.ดร.วรประภา นาควัชระ ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,870 หน้า 5 วันที่ 16 - 18 มีนาคม 2566

ChatGPT ที่สร้างโดย OpenAI (โดยมี Microsoft เป็นผู้ลงทุนหลัก) เปิดตัวอย่างน่าตื่นตาตื่นใจเมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยทำลายสถิติสามารถมี Users ได้ 1 ล้านคนภายใน 5 วัน (ในขณะที่ Facebook ใช้เวลา 10 เดือน, Twitter ใช้เวลา 2 ปี, และ Netflix ใช้เวลา 3.5 ปี)

นอกจากนี้ Users ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยมีจำนวนเกิน 100 ล้านคนภายในเวลา 2 เดือน โดยเหตุผลที่ผู้คนตื่นเต้นกับ ChatGPT นี้ เพราะมันสามารถเขียนเรียบเรียงประโยค ตอบโต้ได้เหมือนมนุษย์

 

 

อีกทั้งยังสามารถทำงานต่างๆ แทนมนุษย์ เช่น เขียน Script, เขียน Code, เขียนและแก้ไข Essay, แต่งเพลง, etc. ได้ จากความตื่นตัวนี้บริษัทเทคโนโลยีเจ้าอื่นก็ทยอยเปิดตัว (หรือกำลังจะเปิดตัว) เทคโนโลยีคู่แข่งขึ้นมาเหมือนกัน เช่น Bard ของ Google, LlaMa ของ Meta, หรือ Ernie ของ Baidu

และแน่นอนว่า แต่ละเจ้าก็มีแผนที่จะ Integrate เทคโนโลยีเหล่านี้เข้ากับ Product หรือ Service ที่ตัวเองมีอยู่ เช่น ChatGPT+ Bing หรือ LlaMa + IG/Whatapp เพื่อให้ Product หรือ Service เดิมเพิ่มความสามารถขึ้นไปอีก

 

 

 

สมรภูมิ Chatbot กับการปรับตัวของมนุษย์

 

เป็นที่น่าสนใจว่า เมื่อมีเทคโนโลยีแนว Chatbot อัจฉริยะ ที่ดูเหมือนจะทำได้หลายสิ่ง ตอบได้หลายอย่าง มาถูกใช้กันแพร่หลายแล้ว มนุษย์อย่างเราต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง ในบทความนี้ผู้เขียนอยากแชร์มุมมองที่อยากฝากให้ไปคิดกันค่ะ

1) เรียนรู้ที่จะอยู่กับ AI และหาทางใช้มันเพื่อเพิ่มศักยภาพของตัวเอง

ถึงทุกวันนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก AI จริงๆ แล้ว AI มีหลายรูปแบบมากความสามารถ และ ChatGPT ก็เป็น AI ประเภทหนึ่ง ความสามารถของ AI ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คนอาจมีคนกังวลว่าแล้ววันหนึ่งมนุษย์จะตกงานไหม ในความเป็นจริงมนุษย์ที่ปรับตัวได้ไวจะไม่ตกงาน มนุษย์ที่รู้จักนำ AI มาใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของตัวเองจะทำงานได้ดีและเร็วขึ้น มีเวลาเหลือไปทำงานอื่นๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มมากกว่า

หรือเอาเวลาไปพักผ่อนทำสิ่งที่อยากจะทำได้ จากงานวิจัยล่าสุดจาก MIT (Noy & Zhang, 2023) พบว่า ChatGPT ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของงานประเภท White Collar ได้เป็นอย่างมาก โดยจากกลุ่มงานและกลุ่มคนที่นำมาทดลอง การใช้ ChatGPT ทำให้งานเสร็จเร็วขึ้นถึง 37%

2) หาโอกาสจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงนั้น มักจะทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ได้เสมอๆ เช่นตั้งแต่ยุค internet แรกๆ ทำให้ผู้เล่น หน้าใหม่สมัยนั้น เช่น Google, Facebook (ปัจจุบันคือ Meta), etc. ได้ถือกำเนิดขึ้นและกลายมาเป็น Big Tech Company ที่มีมูลค่ามหาศาลในยุคนี้

เพราะฉะนั้น การที่มี Disruption รอบใหม่ๆ ก็อาจทำให้ผู้เล่นหน้าใหม่ที่รู้จักหาโอกาสใหม่นั้นเจอ มีโอกาสโตขึ้นมาเป็น “ผู้ชนะ” ได้ เช่น เมื่อมี ChatGPT (หรือ Chatbot ตัวอื่นๆ) ยังมีข้อจำกัดบางประการอยู่ เช่น บางทีชอบมั่วคำตอบขึ้นมา หากใครสามารถหาวิธีให้ Chatbot ที่พูดเก่งแต่บางทีชอบมั่วนี้ พูดไม่มั่วได้ ก็อาจจะเป็นผู้ชนะ หรือ

ใครอาจพยายามเอา Chatbot เหล่านี้ไปลอง Integrate กับสินค้าหรือบริการอื่นๆ อาจะเกิดสิ่งใหม่ๆ ที่น่าสนใจขึ้น มาอีกก็ได้

3) พัฒนาตัวเองสมํ่าเสมอ และ ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต

ในยุคนี้ การเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำอีกแล้ว แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ ในแต่ละปีจงมองย้อนกลับไปว่า เราเก่งอะไรขึ้นบ้าง มีอะไรที่เราทำได้เพิ่มขึ้นจากที่ยังเคยทำไม่ได้ในปีก่อน

ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทุกๆ ปี จะมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย หากเราไม่ขนขวาย ที่จะพัฒนาตัวเองก็จะอยู่ได้ลำบาก ปัจจุบันข้อมูลข่าวสาร รวมถึง Content ต่างๆ มีหลากหลาย และสามารถเข้าถึงได้ หากเราใฝ่ที่จะเรียนรู้คงไม่ได้ยากเกินไปที่เราจะพัฒนาตัวเองได้

 

Reference:

Noy, S., and Zhang, W. (2023), “Experimental Evidence on the Productivity Effects of Generative AI.” https://economics.mit.edu/sites/default/files/inline-files/Noy_Zhang_1.pdf