‘เฮลท์แคร์...ไร้พรมแดน’

09 ก.ค. 2565 | 07:55 น.

คอลัมน์ Healthcare Insight โดย ธานี มณีนุตร์ [email protected]

มีการพูดคุยในประเด็นที่ว่า “Post-Pandemic หรือ ยุคหลังการระบาดโควิด-19 การให้บริการของโรงพยาบาลในประเทศไทยหรือทั่วโลกจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่?” ในมุมมองของผม ผมเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงมีทั้งมุมกว้างและมุมลึก ซึ่งก่อให้เกิดสิ่งใหม่ที่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณสุขในประเทศไทย


การเปลี่ยนแปลงในมุมกว้างนั้น อย่างน้อยที่สุดเราจะเห็นการเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขถ้วนหน้าโดยข้ามเส้นแบ่งระหว่างสถานพยาบาลของรัฐและสถานพยาบาลเอกชน เส้นแบ่งนี้จะถูกทลายลง ภายใต้กลไกความร่วมมือระหว่างกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กองทุนประกันสังคม และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ แม้จะมีปัญหาติดขัดในทางปฏิบัติบ้าง

‘เฮลท์แคร์...ไร้พรมแดน’

แต่ก็ถือว่าในสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ผ่านมา เราสามารถปรับเปลี่ยนและดูแลประชาชนคนไทยได้เป็นอย่างดี จนเป็นที่ชื่นชมในเวทีระหว่างประเทศ สำหรับผมแล้ว สิ่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของบริการสาธารณสุขที่เท่าเทียม เนื่องจากสถานพยาบาลเอกชนมีอัตราค่าบริการที่หลากหลาย ดังนั้น ค่าบริการที่ภาครัฐขอความร่วมมือจากภาคเอกชนก็จะเป็นค่าบริการขั้นพื้นฐานที่ช่วยให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปได้อย่างทั่วถึง

 

ส่วนการเปลี่ยนแปลงในมุมลึก ผมขอฉายภาพให้เห็นการรับมือของสถานพยาบาลเอกชนเอง เช่นเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ซึ่งมีโรงพยาบาลที่ดำเนินการอยู่ 12 แห่งใน 10 จังหวัด และยังมีเครือข่ายคลินิกปฐมภูมิในนาม “คลินิกใกล้บ้านใกล้ใจ” 18 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ที่สามารถรองรับการดูแลผู้ป่วยในสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา เป็นจำนวนเกือบหมื่นคน

‘เฮลท์แคร์...ไร้พรมแดน’

โดยการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ตั้งแต่การเริ่มขยายเครือข่ายโรงพยาบาลโดยใช้ระบบ Hospital Information System (HIS) ที่พัฒนาขึ้นเอง ถ้าเปรียบเทียบก็เป็นเสมือนกับมันสมองของโรงพยาบาลที่คอยบริหารจัดการระบบงานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการบริหารทรัพยากรบุคคลในรูปแบบ Shared Services ทำให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์การระบาดได้อย่างทันท่วงที

              

สิ่งหนึ่งที่ทำให้โรงพยาบาลที่มีเครือข่ายมีความได้เปรียบในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ก็คือ ความสามารถในการรองรับผู้ป่วยได้จำนวนมาก จากการระดมทรัพยากรบุคคลและบุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะจากต่างจังหวัด และการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการดูแลและติดตามผู้ป่วยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในลักษณะ Borderless Healthcare โดยใช้ระบบโทรเวชกรรม หรือ เทเลเมดิซีน

 

ถึงแม้ว่าหลังจากผ่านพ้นการระบาดไปแล้ว “เทเลเมดิซีน” จะไม่ได้รับความนิยมเท่ากับในช่วงที่มีการระบาด แต่อย่างน้อยผู้คนก็ได้เล็งเห็นความสำคัญและเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการติดตามผลการรักษาโดยที่ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล ซึ่งในปัจจุบันนี้ โรงพยาบาลก็ยังคงใช้ “เทเลเมดิซีน” เพื่อติดตามอาการของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยต่างชาติที่เคยเข้ารับการรักษาในประเทศไทย

‘เฮลท์แคร์...ไร้พรมแดน’               

หลังจาก 1 กรกฎาคมนี้ เมื่อระบบการรักษาโควิด-19 จะถูกปรับเปลี่ยนเป็นการรักษาโดย “ไม่มีค่าใช้จ่ายตามสิทธิ์” นั้น ผมขอย้ำว่า “ไม่มีค่าใช้จ่าย” แตกต่างกับคำว่า “ฟรี” เนื่องจากผู้ป่วยไม่ได้เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายเอง แต่ผู้ที่เป็นคนจ่ายจริงๆ ก็คือประชาชนคนไทยทั้งประเทศที่เสียภาษี ซึ่งก่อนหน้านี้ สปสช. เคยมีการประเมินตัวเลขค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 150,000 ล้านบาท

              

ทั้งนี้เป้าหมายในอนาคตที่เราหมายมั่นปั้นมือเพื่อก้าวสู่การเป็น Thailand Medical Hub ปัจจัยสำคัญคือการพัฒนาระบบเทคโนโลยี และการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาเป็นศูนย์กลางฯ ดังกล่าว ซึ่งนับเป็นความท้าทายใหม่ ส่วนในครั้งหน้า ผมจะสะท้อนมุมมองของภาคเอกชนในแวดวงสาธารณสุขว่า เราควรทำอย่างไร เพื่อจะนำไปสู่ Thailand Medical Hub ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

 

หน้าที่ 15  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,798 วันที่ 7 - 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2565