ทิศทางประเทศไทย หลังโควิด

20 พ.ค. 2565 | 23:00 น.

บทบรรณาธิการ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปแถลงอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม ในงาน Better Thailand Open Dialogue หลังโควิด-19 รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ โดยจะต้องดำเนินการผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลเร็วขึ้น อย่างก้าวกระโดด ที่ผ่านมาวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล ส่งเสริมให้เกิดสังคมไร้เงินสด ผ่านการพัฒนาแพลตฟอร์มและมาตรการต่างๆ จนประสบผลสำเร็จหลายประการ รวมทั้งวางโครงข่าย 5G รองรับการพัฒนาต่อยอดในระบบอื่นๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน รับธุรกิจแห่งอนาคตใหม่ๆ


 

รัฐบาลจะผลักดันอุตสาหกรรม การค้า การลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับการลดปริมาณคาร์บอน โดยได้ประกาศกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2) ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี พ.ศ.2573 (ค.ศ.2030) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ.2608 (ค.ศ.2065) ซึ่งต้องใช้โอกาสเร่งพัฒนาและประยุกต์ใช้นวัตกรรม คิดค้นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่จะตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไป ก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่มุ่งใช้พลังงานสะอาด ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่มุ่งไปสู่สินค้าและบริการ ที่สร้างผลกระทบให้โลกน้อยที่สุด

รัฐบาลมุ่งผลักดันนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) วางแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรกรรมให้เข้มแข็ง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรแบบครบวงจร เพื่อยกระดับเกษตรกรไทยเป็นเกษตรอัจฉริยะ ช่วยเพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ ลดต้นทุน ลดเสี่ยงจากลมฟ้าอากาศและปัจจัยการผลิตที่เป็นปัญหาซ้ำซาก สร้างมูลค่าเพิ่มอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ เคมีชีวภาพ และพลาสติกชีวภาพ


 

รัฐบาลยังกำหนดมาตรการเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง ให้มาเป็นผู้พำนักระยะยาวในประเทศไทย โดยได้ดำเนินการเพื่อรองรับมาตรการ อย่างการออกวีซ่าของผู้พำนักระยะยาว การประกาศใบอนุญาตทำงาน และการศึกษาโครงสร้างเพื่อจัดตั้ง One Stop Service ในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีศักยภาพสูงให้เข้ามาในประเทศไทย

3-4 ประเด็น ที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ตั้งเข็มมุ่งดำเนินการ ดูครอบคลุมตามสมควรในการคลี่คลายวิกฤติหลังโควิด แต่ประเทศไทยเผชิญวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครนซ้อนวิกฤติเข้าไปอีก ทั้งที่ยังไม่ฟื้นตัวหลังโควิด รัฐบาลจึงอาจจะต้องเตรียมแผนเพิ่มในการแก้ปัญหา ที่อาจเป็นวิกฤติที่ยืดเยื้อยาวนานกว่าเดิม จำต้องเสริมฐานรากโครงสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง ที่ผ่านมาประชาชนคนไทยเผชิญกับความลำบากแสนสาหัส แบกรับแรงกระแทกซ้ำซ้อนจนแทบไม่ไหว