30 ปี พฤษภาทมิฬ กับบทเรียนการเมืองไทย

17 พ.ค. 2565 | 10:16 น.

คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน โดย...ประพันธุ์ คูณมี

17 พฤษภาคม 2565 คือ วาระครบรอบ 30 ปี ของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 17-24 พฤษภาคม 2535 ซึ่งเป็นเหตุการณ์นองเลือดทางการเมือง ให้ประวัติศาสตร์ต้องบันทึก ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่อยู่ร่วมเหตุการณ์นี้ ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบเหตุการณ์ เมื่อเหลียวหน้าแลหลังคิดทบทวนถึงอดีตแล้ว จึงขอพูดถึงการเมืองปัจจุบัน เพื่อเป็นบทเรียนแก่บ้านเมืองที่กำลังจะก้าวเดินไปข้างหน้า ด้วยท่าทีเรียนรู้อดีตเพื่อกำหนดอนาคตที่ดีแก่บ้านเมืองของเราต่อไป
 

ย้อนอดีตวันนี้ไปเมื่อ 30 ปีก่อน ได้เกิดเหตุการณ์การประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ และครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ประชาชนเรือนแสนเรือนล้าน ได้ออกมาชุมนุมจนเต็มท้องถนนราชดำเนิน ต่อต้านนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุจินดา คราประยูร เพื่อคัดค้านการสืบทอดอำนาจของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งได้อำนาจมาโดยการรัฐประหาร รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อกุมภาพันธ์ 2534 เหตุการณ์ครั้งนั้น ได้เกิดเหตุลุกลามบานปลายจนนำไปสู่การที่รัฐบาลทหาร ต้องใช้กำลังทหารปราบปรามประชาชนด้วยความโหดร้ายรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตนับร้อย บาดเจ็บนับพันคน และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นในบ้านเมือง
 

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มีบริบททางการเมืองคล้ายกับเหตุการณ์ปัจจุบัน โดยเริ่มต้นที่ รสช. ที่นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ เป็นหัวหน้าคณะ ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ด้วยเหตุผลหลักสำคัญคือ รัฐบาลชาติชายมีการฉ้อราษฎร์บังหลวง โกงกิน คอร์รัปชัน ฉาวโฉ่จนได้ชื่อว่า "รัฐบาลบุฟเฟ่คาบิเนท" หลังยึดอำนาจก็ได้เลือก นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี และจัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ 

 

มีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้น รวมถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 20 คน มี นายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน และจัดให้มีการเลือกตั้ง โดย รสช.ได้ให้การสนับสนุนและจัดตั้งพรรคสามัคคีธรรมขึ้น ให้เป็นฐานการเมืองเพื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทั้งๆ ที่ พล.อ.สุจินดา และคณะ รสช.ได้ประกาศ และให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่า พวกตนจะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ 
 

แต่เมื่อมีเหตุที่ นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ไม่สามารถเป็นนายกฯ ได้ เนื่องจากถูกรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ขึ้นบัญชีดำจากความใก้ลชิดกับนักค้ายาเสพติด พล.อ.สุจินดา ก็ตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งนายกฯ เสียเอง อันเป็นการตระบัดสัตย์จากที่ตนเคยประกาศไว้ จนสื่อมวลชนตั้งฉายาว่า "เสียสัตย์เพื่อชาติ" นำมาซึ่งความไม่พอใจอย่างรุนแรงของประชาชนและบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ที่เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง และคืนความเป็นประชาธิปไตยให้กับบ้านเมือง เมื่อ พล.อ.สุจินดา และ รสช. ดื้อรั้นและดึงดันที่จะสืบทอดอำนาจ จึงเกิดเหตุการณ์ต่อต้านจากประชาชนและบรรดาพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ
 

บุคคลที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการต่อต้านครั้งนั้นคือ เรือตรีฉลาด วรฉัตร ที่ประกาศอดอาหารประท้วง แต่ก็ยังไม่ทรงพลังพอที่จะปลุกมวลชนให้ลุกขึ้นมาร่วมได้มาก จนกระทั่งเมื่อ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และหัวหน้าพรรคพลังธรรม เขียนจดหมายประกาศอดข้าวยอมตายเพื่อร่วมประท้วงด้วย พร้อมสั่งเสียมอบพรรคให้ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เป็นผู้มีอำนาจดูแลบริหารแทนต่อไปหากท่านเสียชีวิตลง 

จึงเกิดกระแสต่อต้านรัฐบาล พล.อ.สุจินดา และการสืบทอดอำนาจของ รสช.อย่างกว้างขวางไปทั่วประเทศ ประกอบกับการชุมนุมครั้งนั้น เริ่มมีการใช้โทรศัพท์มือถือเข้ามาในประเทศไทย มือถือจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการติดต่อสื่อสาร จนการชุมนุมถูกเรียกอีกชื่อว่า "ม็อบมือถือ" และด้วยเหตุที่ผู้เขียนทำงานร่วมกันในพรรคความหวังใหม่ และติดตาม น.ต.ประสงค์ จึงทำให้ต้องมีส่วนร่วมเหตุการณ์นี้ตั้งแต่เริ่มต้นจนเหตุการณ์สงบลง

 

บทเรียนและคำถามจึงมีว่า ทำไมประชาชนจึงร่วมใจกันออกมาต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ รสช. แต่ไม่ร่วมแรงร่วมใจกันต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช.ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นี่คือบทเรียนทางการเมืองที่น่าศึกษายิ่ง สาเหตุสำคัญของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ น่าจะมาจากเหตุผลดังนี้คือ
 

1. ประชาชนส่วนใหญ่มีความตื่นตัวทางการเมือง โดยมีความเชื่อมั่นศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย ยังต้องการนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งมากยิ่งกว่าการมาจากการยึดอำนาจรัฐประหาร
 

2. พรรคการเมือง และนักการเมือง ยังมีความเลวร้าย หรือพฤติกรรมการทุจริตคดโกงน้อย ไม่เด่นชัดอย่างยุคทักษิณ
 

3. ประชาชนและพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ค่อนข้างสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกัน ยังไม่มีความขัดแย้ง แบ่งสีแบ่งฝ่ายอย่างปัจจุบัน
 

4. ผู้นำทางทหารที่จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่น่าเชื่อถือ ถูกมองว่าตระบัดสัตย์ สืบทอดอำนาจ ไม่เป็นประชาธิปไตย มาโดยไม่สง่างาม
 

5. ผู้นำการรัฐประหาร มิได้จัดการปัญหากาทุจริตจริงจัง การตรวจสอบทรัพย์สินนักการเมือง เป็นมวยล้มต้มประชาชน และการร่างรัฐธรรมนูญก็มิได้นำไปสู่การปฏิรูปการเมืองแต่เพื่อปูทางสู่การสืบทอดอำนาจให้กับ รสช.
 

6. การสื่อสาร และการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ทันสมัยรวดเร็ว แพร่หลายและทั่วถึง รัฐบาลไม่อาจปกปิดข้อมูล ข่าวสาร ปิดหูปิดตาประชาชนได้
 

เหล่านี้น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ประชาชน ผู้รักประชาธิปไตยสามัคคีกันเรือนแสนเรือนล้านลุกขึ้นต่อต้าน อำนาจ รสช.และ พล.อ.สุจินดา ในขณะนั้น
 

แต่ทำไมเมื่อ คสช.ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ ดำเนินกระบวนท่าทางการเมืองมิได้แตกต่างจาก รสช. กลับมีการต่อต้านน้อยกว่าและไร้พลังที่จะล้มคว่ำรัฐบาลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ สาเหตุก็น่าจะเนื่องจาก
 

1. รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ถูกยึดอำนาจ มีความชั่วร้ายและทุจริตคอร์รัปชันมากเกินกว่าที่ประชาชนจะปกป้อง อันเป็นผลิตผลที่สืบต่อมาจากระบอบทักษิณ ที่ได้แสดงความชั่วร้ายแบบโคตรโกงมาก่อน
 

2. พรรคการเมืองและนักการเมือง กระทำตนไม่เป็นที่ยอมรับศรัทธาของประชาชน ใช้อำนาจในลักษณะเผด็จการรัฐสภา ทุจริต คอร์รัปชัน กระทำเพื่อประโยชน์ตนและพวกพ้อง
 

3. รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง กระทำการแบ่งแยกประชาชน สร้างความแตกแยกในสังคมเสียเอง ทำให้พลังประชาชนอ่อนแอ มีความขัดแย้งในทางการเมืองกันเอง และไม่ความเป็นเอกภาพ
 

4. คสช. เข้ามาหยุดยั้งระบอบอำนาจการเมืองที่ชั่วร้าย จัดการกับปัญหาการทุจริตของนักการเมืองอย่างจริงจัง จนถูกดำเนินคดีติดคุกติดตะราง ไม่ปล่อยให้ลอยนวล
 

5. การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็มุ่งไปสู่การปฏิรูปทางการเมือง แม้มีบางบทมาตราที่ไม่ก้าวหน้า แต่ประชาชนก็ยอมรับในระยะเปลี่ยนผ่านได้
 

6. ผู้นำ คสช.และนายกรัฐมนตรี แสดงออกถึงความโปร่งใส ไม่โกง หรือทุจริตคอร์รัปชั่น สร้างผลงานแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม อยู่ในเกณฑ์ที่ประชาชนยอมรับได้ แม้อาจมีบางเรื่องที่ประชาชนกังขา
 

เหล่านี้ จึงเป็นสาเหตุที่สืบทอดอำนาจเหมือนกัน แต่แรงต่อต้านต่างกัน
 

นี่คือบทเรียน และบริบททางการเมืองในอดีตและปัจจุบัน ถามว่าเราท่านพอใจกับสภาพบ้านเมืองที่เป็นอยู่ขณะนี้ และที่กำลังดำเนินไปในอนาคตอย่างที่เห็นหรือไม่ บอกตรงๆ ก็คงไม่มีใครพอใจกับสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ขณะนี้หรอกครับ ทุกคนล้วนต้องการการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองที่ดีกว่าวันนี้ แต่บทเรียนในอดีตสอนให้รู้ว่า จะเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองไปอย่างไรก็ดี ขอให้เป็นไปโดยสันติ อย่าให้คนไทยต้องมาฆ่ากันเพราะการเมือง และความคิดเห็นที่แตกต่างกันต่อไปอีกเลย
 

ครบรอบ 30 ปี พฤษภาทมิฬ วันนี้ สังคมควรได้รำลึกและถือเป็นอุทธาหรณ์ แก่ผู้มีอำนาจและประชาชนทุกฝ่าย แม้การสืบทอดอำนาจของ คสช.เมื่อเริ่มต้นอาจไม่มีแรงต่อต้านที่รุนแรงก็ตาม แต่ถ้าการอยู่ในอำนาจ นานเกินไป โดยประชาชนไม่ยอมรับ ศรัทธา หรือให้ความยินยอม ความรุนแรงก็อาจจะเกิดขึ้นได้ ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองจึงโปรดระมัดระวังและได้พึงสังวรณ์ให้จงหนัก การเมืองที่เลวร้าย ไร้การพัฒนา ไม่มีการปฏิรูปทำให้ดีขึ้น อาจนำไปสู่เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ซ้ำรอยอดีตได้