“การรถไฟ”ฟัด“กรมที่ดิน” สังเวยที่ดิน “เขากระโดง”

24 เม.ย. 2565 | 01:37 น.

คอลัมน์ ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

แม้คณะกรรมการกฤษฎีกาจะมีคำวินิจฉัยว่า พื้นที่ที่เอกชนครอบครองและมีการออกโฉนดบริเวณเขากระโดง 5,083 ไร่  เป็นที่ดินของการรถไฟฯ ตามมาตรา 3 (2) และได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.จัดวางการรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 ก่อนโอนมาเป็นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มาตั้งแต่ปี 2541


แม้ว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้รฟท. แจ้งกรมที่ดิน เพื่อเพิกถอนโฉนดที่ดิน 2 แปลงของนักการเมืองตระกูลดังใน จ.บุรีรัมย์ เป็นการออกโฉนดโดยมิชอบทับที่ดินรถไฟบริเวณเขากระโดง มาตั้งแต่ปี 2546

แม้ศาลฎีกาจะพิพากษาในคดีการบุกรุกที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริเวณเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่ 842-876/2560 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 ครั้งที่สองเป็นคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 8027/2561 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งราษฎรเป็นผู้ฟ้องการรถไฟฯ โดยระบุว่า พื้นที่ราว 5,083 ไร่ ที่เอกชนถือครองและมีการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินไปแล้วนั้น เป็นพื้นที่ของการรถไฟฯ ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ์ได้


จากคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว เมื่อที่ดินบริเวณเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เป็นที่ดินรถไฟ รฟท.จึงมีหน้าที่ดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินหรือเอกสารสิทธิ์ที่ดินทุกแปลงบริเวณเขากระโดง เพราะเป็นที่ดิน “หวงห้าม” ไม่ให้เอกชนหรือบริษัทใดๆ ถือครองกรรมสิทธิ์ รวมทั้งห้ามไม่ให้ยกกำหนดอายุความขึ้นต่อสู้สิทธิของแผ่นดินเหนือที่ดินรถไฟด้วย

แต่จนบัดป่านนี้ “องค์กรของรัฐ” กลับไม่สามารถดำเนินการอะไรกับผู้บุกรุกในพื้นที่ดังกล่าวได้


“รัฐมนตรี” ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลหน่วยงานรัฐที่เป็นเจ้าของพื้นที่ ซึ่งบัดนี้กลายเป็นผู้บุกรุกที่ดินรัฐไปครอบครอง ก็ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ และรัฐเองก็ไม่สามารถดำเนินการด้านจริยธรรมของนักการเมืองตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้เลย


พิลึกร้ายกว่านั้น กลับปรากฏว่า หน่วยงานรัฐกลับฟัดกันเอง เมื่อการรถไฟฯ เจ้าของที่ดิน กลับหันไปไล่ฟ้อง “กรมที่ดิน” ต่อศาลปกครอง เพื่อให้เพิกถอนโฉนดที่ดินในเขตที่ดินของการรถไฟฯ และเรียกค่าเสียหาย 700 ล้านบาท....555


ที่ดินที่มีการบุกรุกนั้นมีการเอกเอกสารสิทธิ์เป็น ส.ค.1 กว่า 35 ราย ถือครองเอกสารสิทธิ์ น.ส. 3 ก กว่า 500 ราย ถือครองเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ดินกว่า 320 ราย และมีหน่วยราชการในพื้นที่หลายหน่วยงาน


1 ในที่ดินแปลงบริเวณเขากระโดงที่บุกรุกที่การรถไฟและยังไม่มีการดำเนินการใดๆ นั้น ปัจจุบัน เป็นสนามช้างอารีน่า ของสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด มูลค่าการก่อสร้างกว่า 500 ล้านบาท  


1 ในที่ดินแปลงบริเวณเขากระโดงที่บุกรุกที่การรถไฟและยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 8564 ในชื่อการถือครองของ กรุณา ชิดชอบ เนื้อที่ 37 ไร่เศษ 


1 ในที่ดินแปลงบริเวณเขากระโดงที่บุกรุกที่การรถไฟ และยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เป็นโฉนดที่ดินของ บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด ที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เคยเป็นที่ปรึกษาฯ


1 ในที่ดินแปลงบริเวณเขากระโดงที่บุกรุกที่การรถไฟ และยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เป็นโครงการบุรีรัมย์ คาสเซิล คอมมูนิตี้มอลล์ และที่ตั้งปราสาทหินพนมรุ้งจำลอง มูลค่ากว่า 400 ล้านบาท ของ บริษัท ศิวะ บาร์ณา จำกัด ที่ เนวิน ชิดชอบ เคยเป็นประธานกรรมการ 


1 ในที่ดินแปลงบริเวณเขากระโดงที่บุกรุกที่การรถไฟ และยังไม่มีการดำเนินการใดๆ นั้น  บางส่วนเป็นสนามแข่งรถช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต 


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีคมนาคม ในฐานะผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียโดยตรง ไม่ใช่ไม่รับรู้ เคยชี้แจงว่า ที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ที่มีข้อพิพาทนั้น เมื่อปี 2550 การรถไฟฯ ได้เข้าไปสำรวจผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ดังกล่าว พบผู้ถือครองเอกสารสิทธิ์ ส.ค.1 มากกว่า 35 ราย ถือครอง น.ส. 3 ก ประมาณ 500 ราย ถือครองโฉนดที่ดินมากกว่า 320 ราย และมีหน่วยราชการในพื้นที่หลายหน่วยงาน


ที่ผ่านมา การรถไฟฯ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายแล้ว 49 ราย แบ่งเป็น ส.ค. จำนวน 35 ราย น.ส. 3 ก จำนวน 7 ราย ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์การรถไฟฯ และขณะนี้คณะทำงานฯอยู่ระหว่างดำเนินการกับผู้บุกรุกเพิ่มเติม และรฟท.ได้เข้าไปจัดทำสัญญาเช่าให้เป็นไปตามระเบียบฯแล้ว


สำหรับที่ดินที่เป็นที่ตั้งของสนามช้างอารีน่าว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวมีเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดิน แปลงที่ 3466 ซึ่งเดิมที่ดินแปลงนี้เป็น น.ส.3 แต่เมื่อมีการซื้อขายแล้วก็นำไปยื่นขอออกเป็นโฉนด และวิศวกรของการรถไฟฯได้มารับรองแนวเขตเอง ซึ่งแสดงว่าที่ดินแปลงนี้มีประชาชนอาศัยอยู่นานแล้ว

 

“ผมได้สั่งการว่าเราต้องปฏิบัติงานโดยยึดหลักธรรมาภิบาล ต้องมีความยุติธรรม มีคุณธรรม โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และผมก็ไม่เคยแทรกแซงหรือสั่งการใดๆในเรื่องที่ดินดังกล่าว และต้องบอกว่าการดำเนินการกับที่ดินที่ที่มีข้อพิพาททั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะที่ดินที่เขากระโดง ผมยืนยันว่าในการดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม ผมยึดหลักระเบียบกฎหมาย มติครม. ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ที่ของใคร ที่ของคนที่ใกล้ชิดหรือไม่ใกล้ชิด จะต้องอยู่ภายใต้พื้นฐานหลักกฎหมาย” นี่คือสิ่งที่ นายศักดิ์สยาม ชี้แจงในสภา


เรามาลุ้นกันว่าปมความขัดแย้งในเรื่องที่ดินเขากระโดง ที่เกี่ยวพันมาถึงนักการเมืองในตระกูลชิดชอบ ซึ่งแทนที่จะมีการดำเนินการเพิกถอน หรือดำเนินการยึดที่ดินมาเป็นของรัฐ
 

แต่เรื่องราวกลับตาลปัตร เมื่อหน่วยงานรัฐกลับมาฟัดกันเอง เสมือนเกรงกลัวกลุ่มผู้บุกรุก


เรามาติดตามด้วยกันว่า ปมเรื่องราวแห่งความขัดแย้งในการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลฎีกาของ 2 หน่วยงานรัฐจะออกมาฉันใด


ผู้คนสังคมไทยโปรดอย่าได้ระอากับปรากฏการณ์ “ประเทศกูมี”กันนะครับ