กนง.ยืนR/Pยาว ระวัง“ค่าบาทผันผวน”

02 เม.ย. 2565 | 00:30 น.

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อ 30 มี.ค.2565 นับเป็นครั้งที่สองของปีนี้ มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบาย (R/P) ที่ 0.50% ต่อไปเป็นครั้งที่ 15 ติดต่อกัน โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 และ 2566 จะขยายตัวได้ต่อเนื่อง ได้ที่ 3.2  และ 4.4 % ตามลำดับ จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ และภาคการท่องเที่ยวที่ทะยอยกลับมาขับเคลื่อนได้  ขณะที่เชื้อโควิด-19 กระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจน้อยกว่าเดิม 
 

กนง.ยังประเมินด้วยว่า ผลจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ที่กระทบเศรษฐกิจไทยจากที่ต้องแบกภาระต้นทุนราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้น  กดดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2565 และ 2566 คาดจะอยู่ที่ 4.9 และ 1.7% ตามลำดับ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นกว่า 5% ในไตรมาส 2 และ 3 ในปี 2565 จากราคาพลังงานและราคาอาหารเป็นหลัก ก่อนจะค่อยปรับลดลงจนเข้าสู่กรอบเป้าหมาย (1-3%) ในปี 2566 

อย่างไรก็ดี แถลงมติกนง.ตั้งข้อสังเกตว่า อัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงจากราคาน้ำมัน ที่มีโอกาสสูงกว่าที่ประเมินไว้ และการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจมากกว่าคาด แต่ก็เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นผลจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทาน (cost-push inflation) ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (demand-pull inflation) ยังอยู่ในระดับต่ำจากรายได้ที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย จากราคาพลังงานที่จะไม่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง 
 

คลื่นกระแทกจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ที่เคลื่อนมากระทบไทยจะส่งผ่านผลกระทบแรงสุดสุดในไตรมาส 2 และ 3  ที่จะดันอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงทะลุกรอบไปแตะระดับ 5% จากนั้นจะค่อยคลายตัวลงเป็นลำดับในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี จนกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3% ในปี 2566

การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยที่กนง.ประเมินว่า จะกลับไปเติบโตได้ที่ 4.4% ในปี 2566 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าศักยภาพของเศรษฐกิจไทย ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แม้ว่าการใช้จ่ายภาครัฐจะน้อยลงจากการค่อยถอนมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงการระบาดโควิด-19 และจากแรงหนุนของการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ของกนง.   
 

มติครั้งนี้ กนง. ส่งสัญญาณว่า จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ไปอีกระยะตลอดช่วงการฟื้นเศรษฐกิจไทยสู่ระดับที่เติบโตได้เต็มศักยภาพ โดยไม่เร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกดอัตราเงินเฟ้อที่ทะลุกรอบเป้าหมาย เนื่องจากเป็นสถานการณ์ชั่วคราว หรือการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากสามารถฟื้นตัวต่อเนื่องได้อยู่แล้ว
 

ครึ่งหลังปีนี้ที่แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อคลายตัวลง อีกปัญหาที่ต้องจับตา คือ เมื่อ FED เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่กนง.ยังคงยืนอัตรานิ่งอยู่กับที่ ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้้ยนโยบายถ่างกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องเตรียมรับมือทุนไหลออก และค่าบาทผันผวน