ประเทศที่เคราะห์ซํ้ากรรมซัดมายาวนาน

15 มี.ค. 2565 | 04:29 น.

บทความพิเศษโดย : สมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง


เมื่อวันที่17 มิถุนายน 2563 ตอนที่โควิด-19 ระบาดหนักทั่วโลกรอบสอง ผมได้เขียนบทความชิ้นหนึ่งเรื่อง “ทรุดแค ่1 ปีแต่ต้องเดินหน้าอีก 3 ปีเพื่อกลับสู่ที่เดิม” คือการทรุดหนักของ GDP ในปี 2563 นั้น เศรษฐกิจจะต้องค่อยๆฟื้นในปี 2564 และ 2565 และจะกลับมาปกติได้ในปี 2566 เพื่อกลับสู่ที่เดิมในปี2562 ที่ GDP มีมูลค่าเท่ากับ 16.9 ล้านล้านบาท

 

ตอนนี้จากผลการบริหารประเทศอย่างทุลักทุเลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปรากฏว่า ในปี 2563 ที่แย่สุดๆ GDP ได้ออกมา -6.1 % ปี 2564 ขยายตัวได้เล็กน้อยเป็น +1.6 % (คงเหลือติดลบอยู่ 4.5 %) และถ้าหากในปี 2565 นี้ รัฐบาลสามารถทําให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เต็มที่อย่างที่ได้คุยโวไว้ 3.5 – 4.5 % ก็จะหายกันไปโดยประมาณ คือ ตอนสิ้นปี 2565 นี้ GDP จะกลับมาสู่ที่เดิมเท่ากับปี2562 คือใกล้เคียงกับ 16.9 ล้านล้านบาท

 

อีก 2 เดือนเศษก็จะครบ 8 ปีของการบริหารประเทศของผู้นําที่ชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้ว ตอนนี้ไม่ต้องไปถามใครหรอกครับว่าประชาชนได้มีชีวิตประจําวันหรือความเป็นอยู่ดีขึ้นหรือไม่ อย่างไรเชื่อได้ว่าคนไทยกว่า 90% เขาต่างหมดอาลัยตายอยากกับชีวิตกันหมดแล้ว ขอให้อยู่รอดในช่วงพระอาทิตย์ขึ้นไปวันๆ ก็พอ ส่วนฝ่ายผู้บริหารประเทศทุกหมู่เหล่าก็ง่วนอยู่กับการรวบรวมสมัครพรรคพวกไปเสริมพรรคตนเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในอนาคต

 

อยากรู้ว่าคนไทยยากจนข้นแค้นกันแค่ไหน ก็ขอให้ดูที่หนี้ครัวเรือนที่มีแต่เพิ่มขึ้นทุกเดือน ล่าสุดเท่าที่พอหาตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทยได้  หนี้ครัวเรือนในสิ้นไตรมาสสามของปี2564สูงถึง 89.3%ของ GDP ซึ่งนับว่าสูงมากสําหรับประเทศที่รายได้ต่อหัวตํ่าอย่างประเทศไทย นี่ยังไม่นับหนี้นอกระบบอีก จํานวนมากนะครับ
 

ทางท่านผู้นําก็มีแต่สั่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปทําให้ลดลง โดยหารู้ไม่ว่าถ้าหากรายได้ของประเทศไม่เพิ่มหรือเพิ่มน้อย เทวดาก็ยังไม่สามารถทําให้ลดได้ ประเทศที่เคราะห์ซํ้ากรรมซัด แถมยังมีผู้นําที่เห็นๆกันอยู่แบบนี้ ไม่มีทางที่จะทําให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นได้เลย แค่พอประทังชีวิตกันไปวันๆเท่านั้น แล้วหนี้ของคนจนจะลดได้อย่างไรกัน 

 

หากไปถามไถ่คนไทยในวันนี้ ส่วนใหญ่ก็ตั้งตาคอยวันที่เขาจะได้เลือกผู้บริหารประเทศใหม่กันทั้งนั้น แต่ถ้าถามกันลึกๆ เขาก็ไม่รู้ว่าควรจะเลือกใคร เพราะดูหน้าตานักการเมืองปัจจุบัน ก็ดูเหมือนว่าไม่เห็นจะมีใครผู้ใด หรือหัวหน้าพรรคการเมืองใด ที่จะเป็นผู้นําที่เก่งและดีจนน่าไว้วางใจได้สักคน ไม่เหมือนกับผู้ว่ากทม. ที่ตามข่าวจะให้เลือกตั้งกันในปลายเดือนพฤษภาคมนี้ซึ่งดูออกชัดเจนว่าประชาชนเขาจะยอมรับคนไหนกันแล้ว

 

เป็นที่รู้กันระหว่างประเทศที่เศรษฐกิจเขาดีกว่าและก้าวหน้ากว่าไทย ได้มองว่าประเทศไทยนั้นป่วยไข้ยืดเยื้อมาตั้งแต่ก่อนเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด-19เสียอีก เพราะเขาเห็นชัดว่าประเทศเรามีโครงสร้างการส่งออกไม่ดีพื้นฐานการหารายได้ของรัฐบาลก็แย่กว่าเพื่อนบ้าน แถมมีคอร์รัปชั่นดกดื่น ธรรมาภิบาลลุ่มๆ ดอนๆ ประชาชนแตกแยกและยากจนมีปัญหาหนี้สินกันถ้วนหน้า และผู้นําขาดพื้นฐานของการนําประเทศ เป็นต้น

 

เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ไปทั่วโลก ได้ก่อผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างหนักตั้งแต่ปี2563 เป็นต้นมา และโดยที่ไทยเองต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก การท่องเที่ยวเป็นสาขาที่ก่อให้เกิดการจ้างงานมากที่สุด ดังนั้น หนีไม่พ้นสําหรับผู้ป่วยไข้หนักอยู่แล้วอย่างไทย การทรุดตัวทางเศรษฐกิจอย่างหนักหนาสากรรจ์ก็เกิดขึ้นตั้งแต่นั้นมา
 

ครั้นภาวะการระบาดของโควิด-19 เบาบางลง เศรษฐกิจทําท่าจะโงหัวขึ้นในปีนี้ แต่กลับต้องมาเจอกับผลกระทบในเรื่องราคานํ้ามันสูงขึ้นมาก  อันเกิดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามไม่ใช่ทําให้นํ้ามันต้องแพงเท่านั้น ราคาสินค้าแทบทุกอย่างที่เกี่ยวกับค่าครองชีพของประชาชนก็สูงตามขึ้นไปด้วย นี่เป็นเรื่องธรรมดาต้องกระทบกันเป็นลูกโซ่อยู่แล้ว แต่ที่ไม่ธรรมดาก็คือรายได้ของคนหาเช้ากินคํ่าและคนระดับรากหญ้ากลับทรุดตัวสวนทางกับรายจ่าย นี่คือโรคซํ้ากรรมซัดสําหรับคนไทยทั้งประเทศ

 

เรื่องสําคัญที่สุดที่คนทั่วไปไม่ค่อยจะรู้ก็คือ ภาวะที่รัฐบาลจัดเก็บรายได้ตํ่าลงตลอดมาหลายปีแล้ว โดยรัฐบาลไม่กล้าขยับเรื่องเพิ่มภาษี ทําได้แต่การมองหาลู่ทางกู้เงินมาเสริมจนชนเพดานหนี้สาธารณะที่กฎหมายกําหนดไว้ 60% ของ GDP จริงๆเรื่องนี้คนก็รู้กันบ้าง แต่ไม่ค่อยมีใครได้รู้ว่าการเข้าทางตันเพราะหนี้ที่ได้ก่อจะติดเพดานเร็วกว่าที่คิด 

 

ประจวบกับตอนนี้การเมืองกําลังป่วนหนัก รัฐบาลไม่มีช่องทางที่จะเสนอ พ.ร.ก.ต่อสภาฯ เพื่อขอกู้เงินพิเศษได้อีก การจะหาเงินมาจ่ายชดเชยให้ประชาชนคนยากคนจนก็จะทําไม่ได้เหมือนแต่ก่อน หนทางหาเงินมาบริหารประเทศของรัฐบาลดูเหมือนจะตีบตันเข้ามาทุกทีแล้ว

 

สิ่งเลวร้ายต่อเศรษฐกิจยังจะมีต่อไปเรื่อยๆ ประการแรก ราคานํ้ามันอาจจะหยุดขึ้นไปอีก แต่อย่างไรก็ตามจะยังสูงระดับ 100 เหรียญสหรัฐอเมริกาต่อบาร์เรลไปอีกนาน บอกได้เลยว่าราคานํ้ามันขายปลีกของประเทศที่ถูกตรึงไว้ขณะนี้เอาไม่อยู่หรอกครับ ประการที่สอง อัตราดอกเบี้ยของเงินดอลลาร์สหรัฐจะถูกปรับให้สูงขึ้นในไม่กี่วันข้างหน้านี้โดยเฟดหรือธนาคารกลางของสหรัฐ ควบคู่กับอัตราเงินเฟ้อที่ได้เพิ่มสูงขึ้นไปแล้วทั่วโลก และกําลังจะสูงขึ้นไปอีกเรื่อยๆ ตลอดปีนี้เป็นอย่างน้อย

 

ปัจจัยทางเศรษฐกิจทั้งอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อก็จะร้าย ไม่น้อยกว่าราคานํ้ามัน ยังมองไม่ออกว่า ประเทศไทยเราซึ่งเป็นคนไข้อาการหนักมายาวนานภายใต้โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปราะบาง จะทนต่อแรงกระแทกของสิ่งเลวร้ายเหล่านี้ในห้วงเคราะห์ซํ้ากรรมซัดได้อย่างไร