พืชผัก (ข้างกาย) เพิ่มภูมิคุ้มกัน ง่ายๆ ที่ห้ามมองข้าม

27 ก.พ. 2565 | 05:16 น.

Trick for Life

เคยได้ยินมั้ย? คำว่า “ภูมิตก”

 

หลายคนอาจเคยเจอกับภาวะที่เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หรือเจ็บป่วยง่าย แค่ตากน้ำค้าง หรืออยู่ในห้องแอร์เย็นๆ ก็อาจไอ หรือเป็นไข้ได้ ภาวะเหล่านี้ เกิดขึ้นจากภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอ หรือภูมิตก นั่นเอง

 

แท้จริงแล้ว ทุกคนมีสิทธิ์พบเจอกับภาวะภูมิอ่อนแอได้ตลอดเวลา ดังนั้นสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมคือ ทำร่างกายให้แข็งแรง

สมุนไพร สร้างภูมิคุ้มกัน

การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงย่อมได้เปรียบกว่าคนที่มีสภาพร่างกายอ่อนแอ เพราะจะยิ่งทำให้เจ็บป่วย หรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคได้ง่ายนั่นเอง “ผักสมุนไพร” จึงเป็นทางเลือกหนึ่ง ที่หลายคนอาจมองข้าม เพราะเห็นเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน แต่แท้จริงแล้ว ผักสมุนไพร สามารถฟื้นฟูการทำงานของร่างกายได้เป็นอย่างดี

 

พทป.ฐิตารีย์ สุนทรพิสิทธิ์ แพทย์แผนไทยประยุกต์ แนะนำถึงการกิน ผักสมุนไพรที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันได้อย่างง่ายๆ เริ่มกันที่

 

ยี่หร่า หรือ เทียนขาว ที่หาซื้อได้ทั่วไป มีสรรพคุณช่วย ขับเสมหะ ขับผายลม ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ จากการศึกษาพบว่าในยี่หร่ามีสารไฟโตเคมีคอล เช่น อัลคาลอยด์ คูมาริน แอน-ทราควิโนน และฟลาโวนอยด์ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง เบาหวานและกระตุ้นภูมิคุ้มกัน จากรายงานการวิจัยพบว่ายี่หร่าเป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่มีศักยภาพสามารถฟื้นฟูระบบภูมิคุ้มกันได้ในภาวะที่ภูมิคุ้มกันลดลง

 

ผักชี มีสรรพคุณช่วยขับเหงื่อ ขับพิษเหือดหัด สุกใส ขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ และช่วยเจริญอาหาร ในผักชีประกอบไปด้วยสารโพลีฟีนอล วิตามิน และไฟโตสเตอรอล ซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านมะเร็ง ต้านการอักเสบ ลดความดันโลหิตสูง และมีประโยชน์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด จากการศึกษาพบว่าสารสกัดจากผักชีช่วยเพิ่มความสามารถในการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดเซลล์แมโคฟาจ

 

ขึ้นฉ่าย มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิต คุณค่าทางโภชนาการพบว่าขึ้นฉ่ายประกอบด้วยวิตามินซี เบต้าแคโรทีน ไขมัน โปรตีนและแร่ธาตุหลายชนิด มีฤทธิ์ปกป้องหัวใจและระบบทางเดินอาหาร เป็นสารต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ จากงานวิจัยพบว่าสารสกัดจากขึ้นฉ่ายช่วยเพิ่มจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวและเม็ดเลือดแดง

 

แครอท ส่วนที่เรานิยมนำมารับประทานนั้นเป็นส่วนของราก มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยลดความดันโลหิตสูง เพิ่มประสิทธิภาพในระบบไหลเวียน ในแครอทมีสารฟีนอล แคโรทีนอยด์ โพลีอะเซทิลีน และกรดแอสคอร์บิก ช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดและหัวใจ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และมีคุณสมบัติต้านเนื้องอก เบต้าแคโรทีนเป็นแหล่งสำคัญของวิตามินเอ มีความจำเป็นสำหรับการสร้างอวัยวะตามปกติ การทำงานของภูมิคุ้มกัน และการมองเห็น

 

จากงานวิจัยพบว่าสารคูมาริน และฟลาโวนอยด์ในผักสมุนไพรที่เพิ่มภูมิคุ้มกันทั้ง 4 ชนิดนี้ มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยการเพิ่มจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ และพบว่ากรดคลอโรจีนิก กรดเฟรูลิก กรด p-coumaric และกรดเคฟเฟอิก ช่วยเพิ่มจำนวนเซลล์และการหลั่งลิมโฟไซต์ของมนุษย์

 

เกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง แต่ทั้งหมดทั้งมวล ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่เป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ สำคัญที่สุด

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,761 วันที่ 27 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ. 2565