ขยะอวกาศ และ พายุสุริยะ

05 ก.พ. 2565 | 21:39 น.

คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

เวลานี้องค์กรการบินระหว่างประเทศได้ออกข้อแนะนำ สำหรับผู้ควบคุมอากาศยานกัปตันเครื่องบินต่างๆให้เรียนรู้เรื่องพายุสุริยะ และเตรียมการรับมือหากว่า พระอาทิตย์เกิดปลดปล่อยประจุอานุภาคพลุ่งพล่านขึ้นมา อันส่งผลให้เกิดการรบกวนระบบการสื่อสารปกติของโลกมนุษย์ ทำให้การสื่อสารโทรคมนาคมเป็นอัมพาตเครื่องบินและอากาศยานไม่สามารถติดต่อกับหอบังคับการได้ โทรศัพท์มือถือใช้งานไม่ได้
 

แอพพลิเคชั่นต่างๆที่เกี่ยวกับการนำทางในมือถือรวนเร รวมไปถึงดาวเทียมสื่อสารบนอวกาศเสียหาย ใช้งานไม่ได้เปนการทั้งชั่วคราวและถาวร โดยกัปตันต่างๆทั้งนั้นจะต้องรับมือด้วยทักษะความเก๋าที่ฝึกฝนชั่วโมงบินมาปฏิบัติการอย่างว่าmanual ลดการพึ่งพาระบบสื่อสารเพื่อพาผู้โดยสารร่วมชะตากรรมฝ่าฟันพายุอวกาศชนิดนี้ให้รอดกันให้ได้
 

เรื่องปฏิบัติการแมนน่วลดังนี้เคยได้เล่าไว้แล้วในตอน บัซ อัลดริน บุรุษก้าวที่สองบนโลกพระจันทร์ ว่ายามเมื่อยานอวกาศที่ไปสำรวจดวงจันทร์นั้นเข้าวงโคจรโดยอัตโนมัติไม่ได้สำเร็จตามแผน นาวาเอก ดร. บัซ อัลดริน ต้องทำการคำนวณวิถีลงจอดด้วยดินสอและกระดาษแทนอาศัยความเก๋าและทักษะทางคณิตและฟิสิกส์รับมือกับเหตุไม่คาดฝัน ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นองค์การ อวกาศอเมริกันอย่างนาซ่า ก็มีอัตราจ้างนักคำนวณมือเช่นนี้มาแต่โบราณการ ที่สำคัญก็คือ ท่านคำนวณทั้งหลายในยุคแรกๆนั้นเปนสตรี แถมเปนสตรีผิวสีเสียอีกด้วย ! 




ไหนจะขยะอวกาศจากดาวเทียมหมดอายุที่ทุกภาคส่วนของโลกพากันยิงขึ้นไปค้างฟ้าไว้ วันดีคืนดีก็ชนกันได้ และวันร้ายคืนร้ายก็ตกใส่โลกของเราอย่างว่าไม่สามารถจะควบคุมทิศทางได้ ไม่กี่ปีก่อนก็ดาวเทียมเทียนกงหล่นลงมานั่นปะไร เวลานี้บนฟากฟ้าอวกาศมีดาวเทียมจะแปดพันดวงเข้าไปแล้ว เปนแบบหมดอายุตีความเปนขยะนับกว่า40%

 

เพื่อให้ได้เนื้อหาสาระอย่างวิทยาศาสตร์เต็มที่ ผู้สื่อข่าวพิเศษ ธนทรัพย์ จามีกร ได้ขอสัมภาษณ์นักวิจัยชำนาญการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(ซึ่งเยาวชนกล่าวขานว่านาซ่าประเทศไทย) ชื่อ ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 เกี่ยวกับประเด็นความปลอดภัยทางอวกาศ ซึ่งมีภัยร้ายแฝงตัวคุกคามอยู่ทั้งพายุสุริยะและขยะอวกาศ ดังต่อไปนี้
 

Space Safety and Security คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร?
 

Space Safety and Security คือการป้องกันบรรเทาและลดความเสี่ยงภัยคุกคามจากอวกาศที่จะกระทบต่อโลก เช่นกรณีของลมสุริยะที่รุนแรงอาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่อดาวเทียมหรือว่ากระทบกับกิจกรรมบนโลกเช่นระบบ GNSS (การนำทางด้วยดาวเทียม) มีปัญหา หรือขยะอวกาศชนกับดาวเทียม ขยะอวกาศตกสู่พื้นผิวโลก รวมถึงอุกกาบาตที่จะชนโลก ซึ่งSpace Safety and Security จะดูแลเรื่องพวกนี้เป็นหลักรวมถึงความปลอดภัยของนักบินอวกาศที่ปฎิบัติงานในสถานีอวกาศด้วย
 

Space Safety and Security ของประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศเช่นอเมริกา ยุโรป จีน  ก้าวหน้าแค่ไหน?
 

ประเทศที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศในระดับสูงไปไกลกว่าประเทศไทยค่อนข้างมากโดยแบ่งเป็นหลายส่วนเริ่มแรกคือระบบเฝ้าระวังวัตถุอวกาศ (space surveillance network) จะเป็นการเฝ้าระวังดาวเทียม จรวด หรือ ขยะอวกาศที่มีแนวโน้มที่จะตกมาสู่ผิวโลกซึ่งเดิมใช้ในลักษณะทางการทหารซึ่งประเทศมหาอำนาจต่างๆ อเมริกา จีน รัสเซีย
 

จะมีระบบนี้แต่ประเทศไทยยังไม่มี และสอง Space traffic management หรือระบบการจัดการจราจรอวกาศ ซึ่งคอยควบคุมดูแลเส้นทางโคจรของดาวเทียมและขยะอวากาศอีกทั้งยังสามารถแจ้งเตือนการตกกลับมาสู่โลกของวัตถุเหล่านี้ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายหรืออันตรายได้ซึ่งระบบนี้จะช่วยลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่นการปรับวงโคจรให้ตกในที่ห่างไกล หรือการแจ้งเตือนอพยพผู้คนในบริเวณใกล้เคียง
 

และยังมีในเรื่องของ Space Weather Forecast system ซึ่งจะสามารถพยากรณ์การเกิดลมสุริยะได้ว่ามีความรุนแรงแค่ไหนมีผลกระทบกับระบบGPS ระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียม หรือแม้กระทั่งการเดินทางโดยเครื่องบิน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากระบบนี้จะทำให้สามารถรับมือกับปัญหาหรือความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้
 

ในส่วนของประเทศไทยเองก็มีแผนพัฒนา Space Safety and Security กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ต่างก็เห็นความสำคัญและต้องการให้มีการวิจัยด้าน Earth Space System Frontier Research (ESS) คืองานวิจัยขั้นแนวหน้าระบบโลกและอวกาศ ซึ่ง Space Safety and Security เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของ ESS

 

ในขณะนี้ GISTDA (สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ) ได้พัฒนาระบบจัดการจราจรในอวกาศขึ้นมาใช้งาน กับดาวเทียมไทยโชตซึ่งระบบนี้มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับระบบของต่างประเทศซึ่งจะมีการขยายผลในการใช้งานต่อไปกับดาวเทียมอื่นๆในประเทศไทย
 

ขยะอวกาศ และ พายุสุริยะ


การพัฒนา Space Safety and Security จะส่งผลกับประชาชนหรือภาคอุตสาหกรรมอย่างไรบ้าง ?
 

ประโยชน์อย่างแรกคือการพึ่งพาเทคโนโลยีของตนเอง หากประเทศไทยไม่ทำเองก็จะต้องใช้บริการของต่างประเทศซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง และในกรณีผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปจะเป็นการคาดการณ์อันตรายที่จะมาจากอวกาศเช่นวัตถุตกลงสู่โลก ลมสุริยะอย่างที่กล่าว  ในภาคอุตสาหกรรม มีสิ่งที่สำคัญในขณะนี้คือการจัดการขยะอวกาศ ซึ่งระดับนานาชาติมีการพัฒนากันอย่างมากและเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องจัดการเนื่องจากขยะอวกาศสามารถก่อให้เกิดอันตรายกับดาวเทียมหรือสถานีอวกาศได้ ซึ่งการหลบขยะอวกาศต่างๆในแต่ละครั้งสิ้นเปลืองพลังงานและเชื้อเพลิงเป็นอย่างมาก ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีดาวเทียมมากมายจากหลายประเทศทั่วโลกโคจรอยู่แต่ก็ยังไม่มีกฎระเบียบหรือหน่วยงานที่ควบคุมดูแลดาวเทียมของทั้งโลกโดยเฉพาะ แต่มีคณะที่จัดตั้งมาเพื่อดูแลด้านขยะอวกาศคือคณะกรรมการร่วมด้านขยะอวกาศ (Inter-agency Space Debris coordination Committee, IADC) ซึ่งเป็นการร่วมมือกันของหลายประเทศทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น อเมริกาจีน เยอรมัน แคนนาดา ยุโรป อินเดียญี่ปุ่น เกาหลี สหราชอาณาจักร จะทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลและวิจัยเพื่อลดปริมาณขยะอวกาศ และบรรเทาปัญหาจากขยะอวกาศ 
 

ส่วนตัวอย่างแนวปฎิบัติในการลดขยะอวกาศนั้น หากเป็นดาวเทียมที่ในวงโคจรต่ำที่จบภารกิจแล้ว จะต้องตกกลับมาสู่โลกภายใน 25 ปี แต่หากเป็นดาวเทียมค้างฟ้าที่ไม่มีพลังงานมากพอจะต้องขยับวงโคจรให้สูงขึ้นเพื่อลดความหนาแน่นในการจราจร คณะที่สองคือ COPOUS (Committee on the Peaceful Uses of Outer Space) จัดตั้งโดยสหประชาชาติ มีแผนการการใช้ประโยชน์ภาคอวกาศอย่างยั่งยืนในระยะยาวซึ่งมีหัวข้อหลัก 4 หัวข้อคือ  1.กรอบนโยบายและข้อบังคับกิจการอวกาศ 2.ความปลอดภัยของการปฎิบัติการในอวกาศ 3.ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อตระหนักถึงภัยจากอวกาศ 4.การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางเทคนิค หากร่วมมือกันในเรื่องเหล่านี้จะช่วยให้สามารถลดปริมาณขยะในอวกาศและการปฎิบัติการในอวกาศมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
 

คำถามสุดท้าย การไปดวงจันทร์อย่างที่รัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมอยากให้ทำ เทียบกับการพัฒนา Space Safety and Security อันไหนสำคัญกว่ากัน ?
 ดร.สิทธิพรให้ความเห็นว่ามีความสำคัญใกล้เคียงกัน การไปดวงจันทร์นั้นเป็นการเพิ่มขีดความสามารถและการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศแต่หากส่งดาวเทียมหรือจรวดขึ้นไปอวกาศมากขึ้นก็จะต้องคำนึงถึง Space Safety and Security ควบคู่ไปด้วย หากไม่ทำควบคู่กันไปก็จะไม่สามารถพัฒนาได้ทันกันในอนาคตน่ะสิ

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 18 ฉบับที่ 3,755 วันที่ 6 - 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565