“แก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังระบาดหนักไม่ลดละ?”

29 ม.ค. 2565 | 00:00 น.

คอลัมน์ THE HACKER โดย : AFON CYBER

ภัยไซเบอร์มีหลากหลายรูปแบบ รูปแบบหนึ่งที่อาศัยเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินการ ก็คือการหลอกลวงในรูปแบบคอลเซ็นเตอร์ โทรมาหรือส่งข้อความมาหลอกล่อเหยื่อต่างๆ นานา โดยคนที่ไม่รู้เท่าทัน เห็นแค่เป็นเบอร์ของหน่วยงาน ก็หลงเชื่อ โดยหารู้ไม่ว่าเบอร์ที่แสดงในสายเรียกเข้า หรือ SMS สามารถปลอมแปลงกันได้ 


ซึ่งเป็นหนึ่งจุดสำคัญที่ทำให้เหยื่อหลงเชื่อ ซึ่งมูลค่าความเสียหายรวมๆ กันน่าจะหลักหลายพันล้าน เพราะในบางกรณี เหยื่อเพียงแค่รายเดียวก็สูญเงิน 2-3 ล้านบาท เลยทีเดียว นี่ยังไม่นับรวมรายย่อยๆ อีก รายละหลักหมื่นบ้างหลักแสนบ้าง และน่าจะโดนกันเป็นจำนวนมาก

ในทางวิชาการพวกแฮกเกอร์เรียก วิธีการเหล่านี้ว่า Social Engineering หรือวิศวกรรมทางสังคม แปลง่ายๆ คือการหลอกลวงด้วยกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือบรรลุภารกิจหนึ่งๆ ได้ ซึ่งภารกิจในกรณีของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ก็แน่ชัดว่าเพื่อให้มาซึ่งเงินทองของเหยื่อนั่นเอง


เหตุการณ์ที่มักพบบ่อยคือ การอ้างตัวเป็นตำรวจหรือหน่วยงานตรวจสอบของภาครัฐ ตรวจพบว่าบัญชีของเหยื่อ มีส่วนพัวพันกับการฟอกเงินหรือเส้นทางการเงินของการค้ายาเสพติด กำลังจะถูกอายัด  ให้โอนออกจากบัญชีมาพักไว้ที่บัญชีของโจรเพื่อรอการตรวจสอนจะได้ไม่ถูกอายัดทั้งหมด เมื่อเหยื่อเห็นว่าเป็นเบอร์โทรจากหน่วยงานจริง (หลังจากที่ได้เช็คแล้ว) ก็หลงเชื่อ ให้ทำอะไรก็ทำตามโดยง่าย แต่เมื่อโอนเงินออกจากบัญชีไปแล้วก็ไม่สามารถติดต่อปลายทางได้อีกเลย
 

อีกกรณีที่กำลังฮิตมากช่วงนี้คือเป็นเสียงระบบอัตโนมัติจากบริษัทส่งพัสดุแจ้งว่ามีของจะส่งให้แต่ติดปัญหากำลังจะถูกตีกลับ ให้รอสายสักครู่จะมีเจ้าหน้าที่มาคุย หลายคนเห็นว่าสภาพการณ์ดูแล้วมีความเหมือนบริษัทขนส่งโทรมาจริงๆ ก็จะให้ข้อมูลส่วนบุคคลบางอย่างออกไปที่มิจฉาชีพจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ และบางรายก็อาจโดนเรียกให้โอนชำระเงินเพื่ออะไรบางอย่างแล้วแต่มิจฉาชีพจะอ้างให้เหยื่อหลงเชื่อและโอนเงินไป


ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการหลอกลวงมีอยู่ในทุกยุคทุกสมัย มีการพัฒนาปรับปรุงรูปแบบไปเรื่อยๆ ให้มีความเนียนความน่าเชื่อถือ เพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ ซึ่งหากใครที่ไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารการแจ้งเตือนกันแบบนี้ก็อาจจะตกเป็นเหยื่อได้โดยง่าย โดยที่ไม่เกี่ยวกับระดับการศึกษาหรือหน้าที่การงานใดๆ ทั้งสิ้น ใครก็อาจตกเป็นเหยื่อได้ หากขาดข้อมูล ขาดความรอบคอบ และขาดสติในการพิจารณาไตร่ตรองให้ดี


จึงอยากฝากเตือนท่านผู้อ่านทุกท่านให้มีความระมัดระวังและช่วยกันเตือนภัยไปยังคนใกล้ตัวท่านทุกคนให้ได้รู้เท่าทันรูปแบบของภัยต่างๆ แบบนี้


ขอให้ทุกคนใช้เทคโนโลยีอย่างมีสติ และอยู่รอดปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ครับ