การปรับตัวสู่โลกการทำงานในอนาคต

16 ต.ค. 2564 | 05:15 น.

โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ดนุวัศ สาคริก ผู้อำนวยการหลักสูตรนักบริหารการพัฒนาในยุคดิจิทัล (DAD) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)

ในปัจจุบันความต้องการทักษะใหม่ๆ อย่างทักษะทางดิจิทัลจะเข้ามามีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ซึ่งเข้ามามีบทบาทอย่างสูงในโลกของการทำงาน อย่างระบบอัตโนมัติหรือที่เราเรียกว่า Automation หรือการใช้หุ่นยนต์ที่เข้ามาทำในบางลักษณะงาน บางประเภทงาน รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ดังนั้น ระบบการศึกษาจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับตัวให้เท่าทันโลก เราต้องปูพื้นฐานให้ผู้เรียนมีทักษะให้มากพอ เพื่อให้จบออกไปจะได้มีทักษะการทำงานในโลกอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ในรายงานของ World Economic Forum 2020 เรื่องของอนาคตการทำงาน มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า ภายในปี 2025 กลุ่มนายจ้างจะมีความเห็นว่าลูกจ้างครึ่งหนึ่งหรือ 50% จำเป็นต้องได้รับการอัปสกิล รีสกิล นั่นแปลว่า กลุ่มนายจ้างหรือผู้ประกอบการมองว่า การศึกษาทุกวันนี้ ไม่สามารถตอบโจทย์การทำงานในอีก 4-5 ปีในอนาคตข้างหน้าได้เลย

การปรับตัวสู่โลกการทำงานในอนาคต

ลูกจ้างครึ่งหนึ่งจำเป็นต้องอัปสกิลหรือรีสกิล ปรับทักษะและยังพบว่าจำนวนตำแหน่งงานทั่งโลก 85 ล้านตำแหน่ง อาจจะถูกทดแทนโดยเทคโนโลยีหุ่นยนต์ เครื่องจักร ซึ่งชี้ให้เห็นว่าในอนาคตจะมีประเภทงานใหม่ รูปแบบการทำงานแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกมากถึง 95 ล้านตำแหน่ง นั่นเท่ากับว่า คนไม่ตกงาน แต่สำคัญที่สุดคือ จะต้องมีทักษะใหม่ เพื่อจะตอบโจทย์รูปแบบการทำงานรูปแบบใหม่ๆ ได้ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็น งานที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนก็เป็นไปได้

 

หัวใจสำคัญของการปรับตัวด้านการศึกษา อาจต้องใช้ คำว่า Disrupt Education ใน 3 ประเด็นหลักๆ ได้แก่ 1. Disrupt Curriculum คือ ที่จะต้องเน้นการพัฒนาทักษะหรือสกิลในทุกช่วงวัย ในทุกระดับ ตั้งแต่อนุบาลประถม มัธยม มหาวิทยาลัย และต้องเป็นทักษะที่เน้นเรื่องดิจิทัล เพื่อตอบโจทย์การทำงานต่างๆ ในอนาคต

 

ทุกหลักสูตรจะต้องมุ่งเน้นไปที่เรื่องของ 5C ประกอบไปด้วยสิ่งเหล่านี้ Critical Thinking ต้องฝึกให้ผู้เรียนมีทักษะในการคิดเชิงวิพากษ์ สามารถวิเคราะห์ วิจารณ์ วิพากษ์ รู้แยกแยะความผิดถูกได้  Creativity คือ ต้องมีความสร้างสรรค์ สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ คิดตอบโจทย์สังคม ยุคใหม่ได้ Communication คือเรื่องของการสื่อสาร จำเป็นอย่างมากที่ผู้เรียนในยุคใหม่จะต้องมีทักษะการสื่อสารในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการพูด การใช้กราฟิก การใช้สื่อประเภทต่างๆ จะต้องมีทักษะที่สูงในเรื่องการสื่อสาร

การปรับตัวสู่โลกการทำงานในอนาคต

Collaboration คือ ความร่วมมือ โลกในปัจจุบันเป็นโลกแห่งการแบ่งปัน ไม่ใช่การแข่งขันเสมอไป ดังนั้น หลักสูตรจะต้องสร้างให้ผู้เรียนรู้จักที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ จะเห็นได้ว่าในภาคอุตสาหกรรมมีการ collab กันในต่างอุตสาหกรรม การทำงานร่วมมือกันถือเป็นทักษะที่ขาดไม่ได้ และ Coding คือ การเขียนโค้ด ประเทศไทยเราเริ่มมีการผลักดันจากกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องการสอนทักษะ Coding ต่างๆ จะต้องไล่มาในทุกระดับ

 

2. Disrupt Instructor หรือการดิสรัปครูอาจารย์ผู้สอนการศึกษาในปัจจุบันและในอนาคตเราจะเวียนกันสอนแบบเดิมๆ ไม่ได้แล้ว ต้องยอมรับว่าผู้เรียนอาจจะสามารถไปศึกษาหาความรู้มาได้มากกว่าผู้สอนก็เป็นไปได้

 

ดังนั้น รูปแบบของการจัดการเรียนการสอน ผู้สอนอาจจะเป็นในลักษณะ Co-learner/Co-creation/Facilitator คือ ร่วมกันจัดการเรียนการสอน หรือใช้ประสบการณ์มาช่วยในการจัดการเรียนการสอน แต่ไม่จำเป็นจะต้องรู้ดีกว่าผู้เรียน ผู้เรียนอาจจะรู้ดีกว่าก็ได้

 

อีกทางหนึ่งผู้สอนเองจะต้องผันตัวไปเป็นผู้เรียนด้วย หมั่นหาความรู้อย่างไม่หยุดหย่อนเพื่อที่จะได้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ และจะต้องพัฒนาทักษะในการสอนในระบบออนไลน์ด้วย

 

ในอนาคตการเรียนการสอน hybrid จะเข้ามามากขึ้นแน่นอน คือ การเรียนที่พิสูจน์แล้วว่าเรียนในห้องก็ดี ในอีกทางก็สามารถเรียนออนไลน์ได้ ซึ่งครูผู้สอนต้องพร้อมสอนทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ด้วย

การปรับตัวสู่โลกการทำงานในอนาคต

3. ดิสรัปความเร็วในการปรับตัว คือ การปรับตัวของระบบการศึกษาจะช้าไม่ได้ ถ้าระบบการศึกษาไทยปรับตัวช้า จะส่งผลให้ผู้เรียนเมื่อจบออกไปเข้าสู่โลกของการทำงานแล้ว มีทักษะที่ไม่เพียงพอ ทำให้มีประสิทธิภาพการทำงานที่น้อยลงตามไปด้วย

 

ฉะนั้น องคาพยพทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ครูผู้สอน นักวิชาการ จะต้องเร่งปรับทุกอย่างให้เร็วมากๆ ให้ทันกับ speed of change ของเทคโนโลยี หากปรับได้ทัน ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ กลุ่มผู้เรียนที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ก็จะสามารถออกไปทำงานในโลกอนาคตได้อย่างไม่มีปัญหา แต่ถ้าระบบการศึกษาปรับตัวช้าเมื่อไหร่ การจบออกไปทำงานก็จะมีประสิทธิภาพน้อยลง นี่ถือว่าเป็นความท้าทายสูงสุดของระบบการศึกษาไทย

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาครัฐที่ค่อนข้างใหญ่ กฎระเบียบเยอะ ไม่ค่อยกล้าปรับตัวกัน ปรับที่ละนิดทีละหน่อย บางหลักสูตรต้องรอ 5 ปีปรับทีหนึ่งแบบนี้อาจจะไม่ได้ บุคลากรในวงการการศึกษาจำเป็นที่จะต้องคัดกลุ่มคนที่มีคุณภาพ ยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวได้เร็ว บุคลากรในวงการการศึกษาหากปรับตัวช้าก็จบ เราจะไม่สามารถมุ่งไปสู่การเป็น Hybrid Education ได้ ปัจจุบันเป็นยุคที่รออะไรไม่ได้แล้ว หากรอก็จะไม่สามารถผลิตคนที่มีประสิทธิภาพได้