ละเลยต่อหน้าที่ ไม่สูบสิ่งปฏิกูลให้ เพราะไม่มาแจ้งด้วยตนเอง

18 ก.ย. 2564 | 23:00 น.

ละเลยต่อหน้าที่ไม่สูบสิ่งปฏิกูลให้ เพราะไม่มาแจ้งด้วยตนเอง : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,715 หน้า 5 วันที่ 19 - 22 กันยายน 2564

อุทกภัยหรือนํ้าท่วม... เป็นภาวการณ์ธรรมชาติที่สร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่บ้านเรือน รวมถึงทรัพย์สินของประชาชน และก่อให้เกิดปัญหาสิ่งปฏิกูลไหลไปสะสมอุดตันตามท่อระบายนํ้า โดยเฉพาะห้องสุขา ซึ่งเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน

 

อุทาหรณ์จากคดีปกครองในฉบับนี้... ก็เป็นเรื่องราวของปัญหาสิ่งปฏิกูลหลังนํ้าท่วม โดยนายสน ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ประสบเหตุอุทกภัยและได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาสุขาตัน ได้แจ้งขอรับบริการสูบสิ่งปฏิกูล (สูบส้วม) กับทาง อบต. ตามที่มีการประชาสัมพันธ์ แต่กลับไม่ได้รับบริการ โดยถูกตัดชื่อออก !!  

 

มูลเหตุของคดีนี้ มีว่า... นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายก อบต.) ได้ประกาศให้ประชาชน ในพื้นที่ประสบเหตุอุทกภัย ซึ่งประสงค์จะขอรับความช่วยเหลือในการสูบสิ่งปฏิกูล (สูบส้วม) ยื่นคำร้อง หรือ แจ้งความประสงค์ต่อ อบต. หรือหากไม่สะดวกในการยื่นคำร้อง ให้แจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือต่อสมาชิกสภา อบต. ในแต่ละเขตหมู่บ้านที่ตนอาศัยอยู่ ในวันและเวลาราชการภายในเวลาที่กำหนด

 

นายสน (เจ้าของบ้าน) จึงได้ให้นายฟ้า (บุตรของภรรยา) เป็นผู้แจ้งความประสงค์ขอรับบริการแทนตน โดยนายฟ้าได้แจ้งกับสมาชิกสภา อบต. แต่ปรากฏว่า นายสน ไม่ได้รับบริการสูบสิ่งปฏิกูลดังกล่าว จึงต้องจ้างเอกชนมาดำเนินการและเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 1,200 บาท 

 

นายสน ได้มีหนังสือถึงนายก อบต. ขอให้ชี้แจงเหตุผลแต่ไม่ได้รับคำชี้แจง จึงยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบล (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ต่อศาลปกครอง ขอให้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการสูบสิ่งปฏิกูลจำนวน 1,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จ

 

ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่าเหตุที่ตัดชื่อออกเพราะ นายสน ไม่ได้มายื่นคำร้อง หรือแจ้งด้วยวาจาต่อสมาชิกสภา อบต. ด้วยตนเอง และผู้ถูกฟ้องคดีได้ปฏิบัติหน้าที่โดยยึดถือตามแนวทาง ปฏิบัติของอำเภอและจังหวัด ที่ปฏิบัติอยู่ในการเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย และขอรับความช่วยเหลือจากรัฐที่ต้องยื่นหรือแจ้งความประสงค์ด้วยตนเอง

 

ประเด็นปัญหาคือ กรณีนี้ถือว่า... นายสน ได้แจ้งขอรับความช่วยเหลือจากองค์การบริหารส่วนตำบล ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้หรือไม่?

 

ละเลยต่อหน้าที่ ไม่สูบสิ่งปฏิกูลให้ เพราะไม่มาแจ้งด้วยตนเอง

 

 

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัย ตามกรณีพิพาทในเรื่องนี้ เป็นการดำเนินงานตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นการทั่วไป ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองต้องปฏิบัติในฐานะราชการบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ 

 

โดยผู้ถูกฟ้องคดีได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการสำรวจครัวเรือนที่ต้องการความช่วยเหลือไว้ ซึ่งถือเป็นกรอบระยะเวลาเร่งรัดในการดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเอง เพื่อให้ประชาชนผู้เดือดร้อนได้รับการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนโดยเร็วและทั่วถึง และกำหนดให้แจ้งความประสงค์ด้วยวาจาหรือยื่นคำร้องต่อ อบต. หรือสมาชิกสภา อบต. ก็ได้ ซึ่งถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน

 

การดำเนินการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อให้การช่วยเหลือแก่ประชาชนในพื้นที่ซึ่งประสบปัญหาการระบายสิ่งปฏิกูลหลังเกิดอุทกภัย โดยในทางปฏิบัติของผู้ถูกฟ้องคดีในการให้บริการดังกล่าว ปรากฏว่ามีการให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่เพิ่มเติมจากรายชื่อที่ได้มีการสำรวจความต้องการไว้แต่เดิมด้วย 

 

 

จึงรับฟังได้ว่าหลักเกณฑ์และวิธีการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งความประสงค์ก็ดี การยื่นคำร้องขอความรับช่วยเหลือก็ดี ต้องเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ ง่ายต่อการเข้าถึง และไม่เคร่งครัด เมื่อผู้ฟ้องคดีได้แจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือโดยผ่านบุตรของภรรยา ซึ่งบุตรของภรรยาได้แจ้งต่อสมาชิกสภา อบต. อีกต่อหนึ่ง จึงถือว่าผู้ฟ้องคดีได้แจ้งความประสงค์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพื่อขอรับบริการภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว 

 

การที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ไปดำเนินการช่วยเหลือสูบสิ่งปฏิกูล ให้ผู้ฟ้องคดี จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ และทำให้ผู้ฟ้องคดีเสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (อบต.) ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงิน 1,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 330/2564)

 

คดีดังกล่าว... นับว่าเป็นแนวทางการปฏิบัติราชการที่ดีเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการแจ้ง หรือ ยื่นคำร้องขอของประชาชนในเรื่องใดๆ ซึ่งควรกำหนดรายละเอียดให้มีความชัดเจนโดยในกรณีตามพิพาทที่หลักเกณฑ์ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการแจ้ง เมื่อหน่วยงานผู้มีหน้าที่ได้ดำเนินการมาโดยไม่เคร่งครัด เช่น มีการเพิ่มชื่อผู้ขอรับบริการเพิ่มเติมในภายหลังได้จึงรับฟังได้ว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การขอรับความช่วยเหลือเป็นไปโดยสะดวกรวดเร็วและไม่เคร่งครัด ฉะนั้น การที่ผู้ขอรับบริการให้บุตรของภรรยาเป็นผู้แจ้งแทน จึงย่อมถือว่าเป็นการแจ้งความประสงค์ขอรับบริการตามหลักเกณฑ์แล้ว 

 

นอกจากนี้ กรณีที่เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งหรือรับคำร้องแล้ว หากเห็นว่าไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในประการใด ก็ควรต้องแจ้งผู้ยื่นคำร้องให้ดำเนินการให้ถูกต้อง (ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355)