ทางรอดของประเทศไทย

24 ส.ค. 2564 | 03:45 น.

“แม้ความเสียหายจะเกิดขึ้นแล้ว แต่เราสามารถช่วยกันทำให้ความเสียหายเกิดขึ้นน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้” ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาประเทศ การเงิน และตลาดทุน อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นำเสนอบทความ “ทางรอดประเทศไทย” ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่ 4 ภาคส่วนสำคัญ “บุคคล-ชุมชน-บริษัทเอกชน-รัฐบาล” มีบทบาทร่วมกันที่จะทำให้ “ทางรอด” ดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริง

บทความโดย ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล 

FB: Kobsak Pootrakool / เว็บ www.kobsak.com

 

ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์โควิดในโลกได้เปลี่ยนไปอย่างพลิกผัน

 

เรียกว่า โจทย์เปลี่ยน เกมส์พลิก จากเดิมที่เคยคิดกันว่า “ฉีดวัคซีนให้พอก็จะไปได้” กลายเป็น โจทย์ที่ว่า “ถ้าโควิดอยู่ยาว จะทำอย่างไร”

 

ประเทศที่เคยประกาศว่า ตนเองฉีดวัคซีนให้ประชากรได้มากกว่า 60-70% สามารถสร้างภูมิต้านทานหมู่ น่าจะฉีดได้พอแล้ว ชนะแล้ว ปลดหน้ากากได้แล้ว สามารถออกมาใช้ชีวิตตามปกติได้แล้ว เช่น อังกฤษ สหรัฐ และอิสราเอล ต่างต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ ต่อสู้รอบใหม่ เริ่มใส่หน้ากากใหม่ จากการระบาดของเดลต้า

 

สำหรับสหรัฐ ช่วงแย่สุดเคยป่วยวันละ 300,000 คน ตอนนี้กลับไปที่วันละ 180,000 คน ส่วนอังกฤษ เคยอยู่วันละ 60,000 คน ตอนนี้กลับมาที่วันละประมาณ 40,000 คน และอิสราเอล ต้นแบบการฉีดวัคซีนเร็ว กว้างขวาง ด้วยวัคซีนที่ดีที่สุด เคยอยู่ที่วันละ 10,000 คน ตอนนี้อยู่ที่วันละ 8,500 คน

 

จำนวนผู้ป่วยโควิดรายใหม่ในอิสราเอล

จากข้อมูลพบว่า โควิดสายพันธ์เดลต้ากำลังระบาดในอังกฤษ สหรัฐ มุ่งไปที่กลุ่มคนซึ่งฉีดวัคซีนไม่ครบ และกลุ่มคนที่ไม่ยอมฉีด ส่วนในอิสราเอล ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยใหม่เป็นผู้ที่เคยฉีดวัคซีนแล้ว เนื่องจากอิสราเอลเริ่มฉีดเร็วกว่าทุกคน มาตั้งแต่ตอนต้นปี ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุก่อน กลุ่มนี้จึงมีภูมิต้านทานที่ลดลง และกลายมาเป็นกลุ่มเสี่ยงในปัจจุบัน

 

สิ่งที่พอเป็นข่าวดี พอให้มีกำลังใจบ้าง ก็คือ จำนวนคนเสียชีวิตต่อวันในประเทศเหล่านี้ ยังถือว่าน้อยกว่าเมื่อรอบที่แล้วมาก

 

จึงกล่าวได้ว่า ประเทศเหล่านี้กำลังเป็นผู้นำทางให้กับประเทศอื่นๆ ที่กำลังเดินตามรอยมา ว่าทางออกพอจะมีอะไรบ้าง ประสิทธิภาพวัคซีนในการรับมือกับสายพันธ์เดลต้าว่าช่วยได้มากน้อยแค่ไหน วัคซีนยังพอเป็นทางรอดได้หรือไม่ ต้องฉีดเข็มสามเมื่อไร ทำให้เห็นว่า เศรษฐกิจที่เริ่มผงกหัวขึ้นบ้างจะได้รับผลกระทบอย่างไร จะต้องดูแลจัดการกันอย่างไร รวมไปถึง แนวทางที่เหมาะสมในการเตรียมการรับมือกับโควิดสายพันธ์ใหม่ๆ ในอนาคต ซึ่งทั้งหมดนี้เราคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ประเภทกระพริบตาไม่ได้

 

สถานการณ์ล่าสุดในไทยเป็นอย่างไร?

สถานการณ์โควิดในไทยยังน่ากังวล แม้ตัวเลขการติดโควิดล่าสุดเริ่มทรงตัว จากการที่เราต่อสู้กับเรื่องนี้มาเป็นเวลาเดือนกว่าๆ โดยการ lockdown บางส่วน บางช่วงเวลา สร้างโรงพยาบาลสนาม ใช้เครื่องตรวจแบบ ATK และเร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่เสี่ยง ทำให้โดยรวมสถานการณ์ไม่ทรุดลงอย่างที่คุมไม่ได้

 

จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ในไทย

แต่คงต้องเน้นว่า แม้ยอดผู้ป่วยรายใหม่จะเริ่มทรงตัว แต่เรายังตายใจไม่ได้ ข่าวโรงพยาบาลเต็ม หาเตียงไม่ได้ ผู้ป่วยเสียชีวิตที่บ้าน ตามถนน ตามสะพานลอย กระทั่งบุคลากรทางการแพทย์ก็เริ่มเสียชีวิตเช่นกัน ข่าวการกลายพันธ์เพิ่มเติมของโควิด ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ยังคงเปราะบาง ยังเอาแน่ไม่ได้

 

ยิ่งกว่านั้น สมรภูมิการต่อสู้กับโควิดในไทยเริ่มเปลี่ยน จากเดิมการระบาดจะมุ่งเน้นอยู่ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล รวมถึงหัวเมืองใหญ่ๆ เป็นสำคัญ แต่ขณะนี้ ผู้ป่วยใหม่ในต่างจังหวัดแต่ละวัน นั้น มีจำนวนมากกว่าในกรุงเทพปริมณฑล มาสักพักแล้ว โดยในวันที่ 22 สิงหาคม มีผู้ป่วยรายใหม่ในต่างจังหวัด 11,426 คน ขณะที่กรุงเทพและปริมณฑลมีอยู่ 8,347 คน

 

การที่สมรภูมิเปลี่ยนไป ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนโยบายของรัฐที่ส่งผู้ป่วยกลับไปรักษาตัวในภูมิลำเนา หรือจากการที่เขาเดินทางกลับบ้านไปเอง ครั้นคนเหล่านี้กลับบ้านแล้ว ความเสี่ยงของการระบาดในพื้นที่ก็จะเพิ่มขึ้น พบว่าหลายจังหวัดในภูมิภาคเริ่มมีจำนวนผู้ป่วยติดอยู่ใน 10 อันดับแรกของประเทศในบางวัน เช่น อยุธยา ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี นครปฐม สระบุรี นครราชสีมา สระบุรี บุรีรัมย์ เป็นต้น 

 

ที่น่ากังวลใจยิ่งไปกว่านั้น ก็คือ ในการระบาดรอบก่อนๆ เมื่อโควิดไปถึงต่างจังหวัด ด้วยความร่วมมือระหว่าง อสม. สาธารณสุข และมหาดไทย จำนวนผู้ป่วยก็จะค่อยๆ ลดลง ในเวลาไม่นานนัก แต่รอบนี้ จำนวนผู้ป่วยรายใหม่กลับเพิ่มขึ้นในหลายๆ จังหวัดอย่างต่อเนื่อง กระทั่งภูเก็ตที่ได้ฉีดวัคซีนไปมากแล้วเพื่อรองรับภูเก็ตโมเดล พบว่ามีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 127 คน จากเดิมเมื่อเดือนที่แล้วอยู่หลักสิบ

 

เมื่อโควิดเริ่มไประบาดในต่างจังหวัด ที่มีการฉีดวัคซีนไปแล้วไม่มาก มีระบบสาธารณสุขที่ไม่เข้มแข็งเท่ากรุงเทพ และมีกลุ่มที่เสี่ยงสุด คือ ผู้สูงอายุอาศัยอยู่ประมาณ 9 ล้านคนหรือประมาณ 70-80% ของประเทศอาศัยอยู่ หากเราดูแลควบคุมไม่ดี ไม่ระวัง ก็จะกลายเป็นปัญหาหนักตามมาได้

 

ทางรอดของประเทศไทย

ทางเลือกของเรามีอะไรบ้าง?

วิกฤตที่เรากำลังเผชิญอยู่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศต่างๆ ใน 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งเรื่องผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นสูง เรื่องโรงพยาบาลสนาม เรื่องการขาดแคลน ICU และเรื่องจำนวนผู้เสียชีวิต

 

การจะออกจากวิกฤตรอบนี้ได้ หัวใจสำคัญจะอยู่ที่การสร้าง “ภูมิคุ้มกันโควิด” ให้กับพี่น้องประชาชน ให้เขาสามารถอยู่กับโควิดได้ ซึ่งเคยวิเคราะห์ไว้ว่า ไทยกำลังอยู่บนทางสามแพร่ง ที่จะต้องเลือกว่า เราจะเดินไปตามทางของ

(1) อินเดีย ที่ปล่อยให้ระบาด ทำให้เกิด “ภูมิธรรมชาติ” แต่จะมีผู้ป่วย ผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

(2) อังกฤษ ที่อาศัยวัคซีน เร่งฉีดเพื่อให้เกิด “ภูมิสร้าง” และเมื่อฉีดเพียงพอ ก็กลายเป็นภูมิคุ้มกันหมู่

(3) จีน ที่อาศัยความเด็ดเดี่ยว ยึดหลักนโยบาย Zero Tolerance Policy ไม่ยอมให้โควิดระบาด ต้องจัดการให้เหลือเป็นศูนย์ให้ได้ ซึ่งเมื่อมีสายพันธ์เดลต้าระบาดในบางเมืองของจีน รัฐบาลก็สั่งตรวจประชากรกว่า 10 ล้านคน ทั้ง ๆ ที่มีผู้ป่วยในหลักร้อยเท่านั้น

 

ทั้งนี้ การที่เดลต้าสามารถกลับไประบาดในอังกฤษ สหรัฐ และอิสราเอลอีกรอบ ชี้ว่าวัคซีนแม้ฉีดมากแล้ว ก็ยังสามารถติดได้ และไม่สามารถลดการแพร่ระบาดได้ และทำให้เห็นว่า “ภูมิคุ้มกันหมู่” อาจจะเกิดได้ยาก

 

โจทย์ที่ต้องตอบ

การจะออกจากวิกฤตได้ เราต้องถามว่า “โจทย์ของเราคืออะไร”

 

จากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นล่าสุด ทั้งในโลกและในไทย หากจะสรุปแล้ว คงต้องบอกว่า สถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ ยิ่งยากขึ้นไปจากที่คิดไว้เดิม โดย “โควิดอาจจะอยู่นาน มีตัวกลายพันธุ์กลับมาเรื่อย ๆ ฉีดแล้วก็ติดได้ ไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่ที่แท้จริง เพราะแม้ฉีดไปมากแล้ว ก็ยังกลับมาระบาดได้ ถ้าจะมีภูมิ ก็มีแต่ภูมิคุ้มกันการป่วยหนักเฉพาะตน”

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ โจทย์ของเราคงมีสองระยะ

  • ระยะสั้น – ทำอย่างไร จะเสียหายน้อยที่สุด เท่าที่เป็นไปได้
  • ระยะยาว – ทำอย่างไร ทุกคนจะมีภูมิ สามารถอยู่ร่วมกับโควิดได้

 

หากจะเปรียบเทียบแล้ว วิกฤตโควิดที่เรากำลังเผชิญอยู่ เหมือนกับบ้านไฟไหม้ไป 25% สิ่งที่เราต้องทำก็คือ

(1) การสู้กับไฟ ด้วยทุกอย่างที่เรามี เพื่อชะลอไฟไม่ให้โหมลุกลามมากไปกว่านี้ พยายามหยุดการลุกลามของโควิด

(2) การพยายามเอาทรัพย์สมบัติออกไปจากบ้านให้มากที่สุด ให้มีคนที่ป่วย คนเสียชีวิตน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

(3) พยายามทำให้ส่วนต่างๆ ของบ้านมีฉนวนกันไฟ ไม่ติดไฟอีกในอนาคต โดยการฉีดวัคซีนให้กับทุกคนอย่างทั่วถึง สร้างภูมิให้ทุกคน เพื่อไม่ให้ไทยต้องเป็นเหยื่อของโควิดสายพันธ์ใหม่ที่อาจจะกลับมาอีก และทำให้ทุกคนมีภูมิ ที่จะอยู่ร่วมกับโควิดได้

 

ทางรอดของประเทศไทย

ถ้าเราช่วยกัน เราก็จะสามารถออกจากวิกฤตนี้ได้

แม้ความเสียหายจะเกิดขึ้นแล้ว แต่เราสามารถช่วยกันทำให้ความเสียหายเกิดขึ้นน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

 

1. บุคคล แต่ละคนสามารถช่วยได้ โดยพยายามหยุดอยู่บ้าน ออกจากบ้านตามจำเป็น รักษาสุขอนามัยตามที่หมอแนะนำ เพื่อปกป้องตนเอง ปกป้องครอบครัวของเราจากภัยโควิด เพราะการแพร่ระบาดของโควิค ต้องมีคนเป็นพาหะ ถ้าเราหยุดอยู่บ้าน ไม่ติดโควิด โควิดก็กระจายต่อไม่ได้

การที่แต่ละคนหยุดอยู่บ้าน รักษาสุขอนามัย ถือว่าเป็นการช่วยคนที่เรารัก เพราะถ้าปล่อยให้โควิดระบาดต่อไปเช่นนี้ ทุกคนจะมีคนที่เราใกล้ชิด เพื่อนเรา คนรู้จักเรา จากไปเพราะโควิด

 

2. ชุมชน  ถ้าโควิดเริ่มระบาดในต่างจังหวัด เราต้องเร่งปกป้องชุมชนของเรา โดยเฉพาะพื้นที่ในชนบท นอกเขตเทศบาล ที่มีผู้สูงอายุอยู่เป็นจำนวนมาก ถ้าเราไม่เอาจริง ใจอ่อน ปล่อยให้โควิดเข้ามาได้ ผู้สูงอายุในชุมชนของเราก็จะมีปัญหา

โชคดีที่ชุมชนของเราในชนบท มีพื้นที่ บ้านแยกกันอยู่ มีระบบ อสม. แพทย์ชนบท รพสต และมหาดไทยที่เข้มแข็ง แต่ในประเด็นนี้ เราต้องใจแข็งกับทุกคนที่กลับเข้าชุมชน ให้เขากลับมาบ้านมาภูมิลำเนาได้ ขณะเดียวกัน เพื่อดูแลคนอื่นๆ ในชุมชนของเรา จึงต้องสร้างจุดคัดกรอง หรือระบบคัดกรอง ให้ผู้ที่กลับภูมิลำเนาอยู่ในบ้านหรืออยู่พื้นที่เฉพาะเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน แล้วค่อยสามารถออกมาใช้ชีวิตตามปกติได้ (สาธารณสุขสหรัฐฯ บอกว่า สายพันธ์เดลต้าอาจแพร่ระบาดได้ถึงวันที่ 18 ซึ่งหมายความว่า เมื่อออกมาแล้วเราต้องติดตามอย่างใกล้ชิดไปอีกระยะ หรืออาจจะต้องให้อยู่ในบ้านถึง 18-21 วัน)

หากเราดูแลชุมชนทั่วไทยได้ การสู้กับโควิดก็จะเหลือเฉพาะในพื้นที่เมืองเท่านั้น การแก้ไขปัญหาของรัฐจะได้มุ่งไปสู่พื้นที่เมือง โดยไม่ต้องพะวงหน้า พะวงหลัง และจะได้ค่อยๆ ยึดพื้นที่ต่างๆ คืนจากโควิดมา

 

3. บริษัทเอกชน  เร่งหาวัคซีนทางเลือกให้กับพนักงาน แรงงาน คนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ลดความเสียหายจากการที่จะต้องปิดบริษัท ปิดโรงงาน ปิดพื้นที่ก่อสร้าง หากมีการระบาดเกิดขึ้น

ค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนนั้น เมื่อเทียบกับการทำ Bubble and Seal หรือความเสียหายจากการต้องหยุดโรงงาน หยุดกิจการนั้น  น้อยกว่ามาก โดยสำหรับบริษัทที่มีคนงาน 1,000 คน ค่าใช้จ่ายในการซื้อวัคซีนมาฉีดนั้นไม่ถึง 2 ล้านบาท แต่ถ้าต้องปิดโรงงาน ความเสียหายแต่ละวันนั้น อาจจะเป็นวันละหลายๆ ล้านบาท  

เรื่องนี้ โชคดีที่ระหว่าง 23-27 สิงหาคมนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะเปิดจองวัคซีนรอบใหม่ ที่กำหนดเริ่มฉีดได้ตั้งแต่ 8 กันยายน จึงเป็นโอกาสที่ดีที่บริษัทจะดูแลพนักงานของเรา สร้างภูมิให้กับทุกคน ไม่ต้องเปิดๆ ปิดๆ ดังนั้น บริษัทเอกชนจึงไม่ควรจะพลาดโอกาสสำคัญนี้

 

4. รัฐบาล ระดมสรรพกำลัง ปลดล๊อคที่ไม่จำเป็น เร่งหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นเข้ามาให้ได้มากที่สุด โดยพิจารณาจากที่องค์การอนามัยโลกหรือประเทศชั้นนำอื่นๆ ได้พิจารณาอนุมัติไว้แล้ว รวมทั้ง เร่งหาวัคซีนให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน เราสามารถฉีดได้วันละ 6-7 แสนเข็ม ถ้าเราหาวัคซีนได้ การเร่งฉีดให้ครอบคลุมก็จะสามารถทำได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ในพื้นที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายจากโควิดได้

 

ทั้งนี้ ถ้าโควิดไม่จากเราไป สามารถกลายพันธ์ได้ สามารถกลับมาระบาดได้ เราคงต้องเตรียมฉีดเข็มสามในช่วงต้นปีหน้า การหาวัคซีนให้เพียงพอไว้เนิ่น ๆ จึงมีความสำคัญ และยิ่งไปกว่านั้น ไทยคงต้องสร้างความสามารถในการที่จะผลิตวัคซีนของตนเองไว้ควบคู่กัน เพื่อให้ไม่ต้องไปพึ่งพาจมูกคนอื่นหายใจ ต้องไปขอร้องคนอื่นอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา (แต่ก็ยังไม่ได้วัคซีนเพียงพอ) เพราะในอนาคต อาจจะมีการระบาดในลักษณะนี้อีกเป็นระยะๆ

 

สุดท้าย การต่อสู้กับโควิดครั้งนี้ ถือเป็นสงครามครั้งใหญ่ของประเทศ ที่หมายถึงชีวิตของคนเป็นจำนวนมาก ช่วงสงครามเช่นนี้ เราต้องก้าวข้ามกฎเกณฑ์ที่ใช้ในเวลาปกติบางอย่างออกไป เพราะต้องทำงานแข่งกับเวลา หน่วยงานต่างๆ ที่ยังคงกอดกฎระเบียบต่างๆ ไว้แน่น ไม่ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นออกไป ไม่เอาการปกป้องชีวิตของประชาชนเป็นเป้าหมายหลัก ก็คงต้องถือว่า หน่วยงานเหล่านั้นกำลังบั่นทอนความมั่นคงของชาติในยามสงคราม จดบันทึกเอาไว้เพื่อใช้ในเวลาพิจารณาความดีความชอบและความผิดของหน่วยงานนั้นๆ ต่อไป

 

ถ้าเราช่วยกันทุกภาคส่วน เราก็จะสามารถผ่อนหนักเป็นเบา สามารถลดความเสียหายให้น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และทุกคนก็จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ต่อไป สำหรับท่านที่สนใจอยากรู้เรื่องเศรษฐกิจไทยนั้น ว่าจะได้รับผลกระทบแค่ไหน จะพลิกฟื้นกลับมาได้อย่างไร ขอให้รอติดตามตอนต่อไป “ทางรอดของเศรษฐกิจไทย” ครับ